การจะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับภาษา เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น ผู้ศึกษามิอาจหลีกเลี่ยงที่จะทำความรู้จักและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศนั้นๆ ได้เลย เนื่องจากภูมิศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาปรากฏการณ์ทางกายภาพและมนุษย์ รวมถึงสิ่งแวดล้อมของประเทศนั้นๆ ด้วย
เนื่องจาก ภูมิศาสตร์เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดการตั้งถิ่นฐาน การอยู่อาศัย วิถีชีวิตของผู้คนที่เลือกอาศัยและสร้างสังคมในพื้นที่ต่างๆ หรือหากจะกล่าวง่ายๆ ก็คือ ภูมิศาสตร์เป็นปัจจัยที่ทรงอิทธิพลที่สุดในการตั้งรกราก ก่อให้เกิดค่านิยม ความเชื่อ วิถีการดำรงชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ของคนในท้องถิ่นต่างๆ ในขณะเดียวกัน เนื่องจากมนุษย์ก็เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมบนโลกใบนี้ ดังนั้นสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต่างๆ จึงถูกปรับเปลี่ยน ดัดแปลงโดยกิจกรรมของมนุษย์เช่นกัน ซึ่งกิจกรรมของมนุษย์เหล่านี้ถือว่ามีผลกระทบอย่างมากต่อแนวทางทางด้านสังคมของมนุษย์เองและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในแต่ละพื้นที่อีกด้วย
ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ของประเทศนั้นๆ จึงทำให้ผู้ศึกษาเกี่ยวกับประเทศนั้น ๆสามารถพัฒนาความเข้าใจและเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ได้ง่ายดายและรวดเร็วยิ่งขึ้น
หนังสือความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ประเทศจีน (中国地理常识) ฉบับ จีน-ไทย เป็นหนึ่งในหนังสือชุดความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประเทศจีนที่จัดทำโดย The Office of Chinese Language Council International และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อุดมศึกษา (Higher Education Press) หน่วยงานในความควบคุมดูแลของรัฐบาลจีน โดยหนังสืออีกสองเล่มที่อยู่ในชุดเดียวกันนั้นก็คือ หนังสือความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเทศจีน และ หนังสือความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประเทศจีน
หนังสือความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ประเทศจีนเล่มนี้ถูกแบ่งเนื้อหาออกเป็น 7 บท และ 2 ภาคผนวก อันประกอบไปด้วย
1) สภาพโดยรวมของประเทศจีน (中国概览)
2) ทรัพยากรและสภาพแวดล้อม (资源与环境)
3) การคมนาคมและการชลประทาน (交通与水利)
4) แผ่นดินอันงดงาม (锦绣河山)
5) เมืองหลวงโบราณทั้งเจ็ดของจีน (中国七大古都)
6) เมืองทรงเสน่ห์ (魅力城市)
7) ท่องเที่ยวเมืองจีน (中国之旅)
ขณะที่ภาคผนวกท้ายเล่มอีก 2 ส่วนนั้นเป็นเรื่อง ที่สุดของจีน และ มรดกโลกของประเทศจีน
จริงๆ แล้วเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นหนังสือเชิงวิชาการเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ของประเทศจีนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นส่วนผสมของหนังสือภูมิศาสตร์ที่ระบุรายละเอียด/ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของจีนและการแนะนำการท่องเที่ยวประเทศจีนเอาไว้ด้วยกัน อันจะสังเกตว่าตั้งแต่บทที่ 4 ถึง 7 รวมไปถึงภาคผนวกนั้นมีเนื้อหาเชิงการแนะนำการท่องเที่ยวของประเทศจีนเป็นหลัก
สำหรับรายละเอียดในส่วนข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของประเทศจีนในหนังสือเล่มนี้นับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่กำลังศึกษาภาษาจีนและเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศจีนในด้านอื่นๆ อย่างเช่นในตารางแสดงการแบ่งเขตการปกครองของจีน (หน้า 5) นอกจากจะระบุข้อมูลชื่อเต็มของเขตการปกครอง-เมืองเอกของมณฑลต่างๆ แล้วยังมี ชื่อย่อ (简称) ของเมือง/มณฑลต่างๆ ด้วย เช่น เมืองปักกิ่งมีชื่อย่อว่า จิง (京), มณฑลเหอเป่ยมีชื่อย่อว่า จี้ (冀), มณฑลกวางตุ้งมีชื่อย่อว่า เยว่ (粤), มณฑลไห่หนัน (ไหหลำ) มีชื่อย่อว่า ฉง (琼) เป็นต้น ขณะที่เขตปกครองตนเองมองโกเลียในนั้นกลายเป็นเขตเดียวที่ไม่มีชื่อย่อ โดยสำหรับผู้ที่กำลังศึกษาภาษาจีน ชื่อย่อของเมือง/มณฑลในประเทศจีนต่างๆ เหล่านี้นับว่าเป็น “ศัพท์ต้องรู้” ทั้งสิ้น เนื่องจากชื่อย่อเหล่านี้เป็น “ศัพท์ใช้บ่อย” ในชีวิตประจำวัน ภาษาเขียน ภาษาหนังสือพิมพ์ ฯลฯ ของชาวจีน
ทั้งนี้นอกเหนือไปจากเนื้อหาหนักๆ และข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์-ท่องเที่ยวแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังมีการสอดแทรกเกร็ดข้อมูลทางภูมิศาสตร์เอาไว้ด้วย อย่างเช่น เมื่อกล่าวถึงเรื่องของเทือกเขาหิมาลัย (喜马拉雅山) ก็มีเกร็ดข้อมูลระบุว่า “หิมาลัย” นั้นเป็นภาษาทิเบตที่มีความหมายว่า “ดินแดนแห่งน้ำแข็งและหิมะ” เป็นต้น
ข้อบกพร่องเดียวของหนังสือเล่มนี้ อันอาจเกิดจากกระบวนการผลิตที่หนังสือผลิตและพิมพ์ในประเทศจีนก็คือ มีคำภาษาไทยสะกดผิด มีการใช้ไวยกรณ์ไทยผิด รวมถึงมีคำจีนที่สะกดเป็นภาษาไทยผิดอยู่พอสมควร ดังนั้นผู้ที่ซื้อหนังสือเล่มนี้เพื่อนำไปใช้หรืออ้างอิงต่อจึงจำเป็นที่จะต้องมีระมัดระวังพอสมควร
รายละเอียดหนังสือ
ชื่อหนังสือ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ประเทศจีน (中国地理常识) ฉบับ จีน-ไทย
ผู้จัดพิมพ์ Higher Education Press (高等教育出版社)
ISBN 978-7-04-020722-4
พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2550
ราคา 400 บาท (ในประเทศไทย) 62 หยวน (ในประเทศจีน)
หมายเหตุ : ขอขอบคุณ อ.ฌานนท์ สุทธวีร์กุล แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ที่ให้ความอนุเคราะห์ กรุณาส่งหนังสือชุดความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประเทศจีนทั้ง 3 เล่มมาให้กับทีมงานมุมจีน ผู้จัดการออนไลน์
หน่วยงาน/บุคคลใดที่ต้องการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับจีนในรูปแบบการแนะนำหนังสือให้กับผู้อื่นได้ทราบ สามารถส่งหนังสือมาได้ที่ “คอลัมน์หิ้งหนังสือ โต๊ะจีน หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 102/1 ถ.พระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200”