เอเยนซี/ไซน์เดลี - นักวิจัยสหรัฐฯ พบหลักฐานใหม่ ชี้ร่องรอยชาวเอเชียรออยู่แถวช่องแคบแบริงถึง 20,000 ปี กว่าจะได้ข้ามน้ำเหยียบแผ่นดินอเมริกา พิสูจน์ดีเอ็นเอยันคนพื้นเมืองอเมริกันมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชนชาติเอเชีย
ทีมนักวิจัยจากสถาบันพันธุศาสตร์ (Genetics Institute) มหาวิทยาลัยแห่งรัฐฟลอริดา (University of Florida) สหรัฐอเมริกาได้ศึกษาดีเอ็นเอ ประกอบกับหลักฐานทางโบราณคดี, ธรณีวิทยา และข้อมูลสภาพอากาศโลก ทำให้ได้ข้อสรุปใหม่ว่าประชากรจากทวีปเอเชียมีการอพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่แถบไซบีเรียและแบริงเจียนานถึง 20,000 ปี กว่าจะได้ผ่านแดนสู่อเมริกาเหนือเมื่อราว 15,000 ปีก่อน
คอนนี มัลลิแกน (Connie Mulligan) ผู้ช่วย ผอ.สถาบันพันธุศาสตร์เปิดเผยว่า ในอดีตกลุ่มชนที่อยู่ในแถบเอเชียกลาง (Central Asia) ได้อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานในโลกใหม่ (New World) อันหมายถึงทวีปอเมริกาด้วยระยะเวลาอันรวดเร็ว ภายหลังจากที่รอมานานนับ 20,000 ปี โดยใช้เส้นทางผ่านไซบีเรียสู่แบริงเจีย (Beringia: แผ่นดินที่เชื่อมระหว่างไซบีเรียและอลาสกา ปัจจุบันจมอยู่ใต้ทะเลแบริง) และเข้าสู่แผ่นดินอเมริกาเหนือกลายเป็นชนเผ่าพื้นเมืองในเวลาต่อมา
จากการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีและธรณีวิทยา ทำให้นักวิจัยระบุได้ว่าในอดีตเมื่อราว 40,000 ปีก่อน มีชาวเอเชียกลุ่มหนึ่งประมาณ 1,000-5,000 คน อพยพจากเอเชียกลางไปสู่ไซบีเรียจนถึงแบริงเจีย และตั้งถิ่นฐานอยู่ละแวกนั้นนานถึง 20,000 ปี
กระทั่ง 15,000 ปีก่อน ภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ 2 ลูก ที่ขวางกั้นเส้นทางระหว่างแบริงเจียและอลาสกาได้ละลายลง และเผยให้เห็นเส้นทางผ่านไปสู่แผ่นดินของอีกทวีปหนึ่ง หลังจากนั้นชาวเอเชียที่อาศัยอยู่ในแบริงเจียมานานนับหมื่นปี จึงเริ่มอพยพไปสู่ดินแดนใหม่
หลักฐานสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานของนักวิจัย ได้แก่ข้อมูลทางพันธุกรรม ซึ่งทีมวิจัยได้ตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอในไมโตคอนเดรีย (mitochongrial DNA) ของชาวเอเชียเปรียบเทียบกันกับของชาวพื้นเมืองอเมริกัน (Native American) พบว่ามีส่วนคล้ายคลึงกันมาก
ทั้งนี้เพราะ ดีเอ็นเอในไมโตคอนเดรียเป็นดีเอ็นเอที่อยู่ภายนอกนิวเคลียส ซึ่งจะถ่ายทอดได้จากแม่สู่ลูกโดยตรง ดังนั้นดีเอ็นเอในไมโตคอนเดรียของแม่และลูกจะเหมือนกัน หรือหากต่างกันก็ต่างแค่เพียงเล็กน้อยเนื่องจากการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอดังกล่าว
ดังนั้นการวิเคราะห์ลำดับดีเอ็นเอในไมโตคอนเดรียของกลุ่มชนทั้ง 2 ทวีป ทำให้นักวิจัยค้นพบความเหมือนที่ซ่อนอยู่ในความต่าง ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่า พันธุกรรมจากชาวเอเชียนี่เองที่เป็นแหล่งพันธุกรรมให้กับชาวพื้นเมืองอเมริกา
"พวกเขาอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังมุ่งหน้าไปสู่โลกใหม่ที่เรียกว่าอเมริกา พวกเขาค่อยๆ อพยพออกจากเอเชียไปสู่ไซบีเรีย กระทั่งไปสุดปลายทางที่แบริงเจีย เมื่อครั้งที่น้ำในทะเลแบริงยังอยู่ในระดับต่ำจนปรากฏให้เห็นเป็นแผ่นดิน และมีภูเขาน้ำแข็ง 2 ลูกปิดกั้นเส้นทางสู่อลาสกา ทว่าเมื่อภูเขาน้ำแข็งเริ่มละลายลง พวกเขาก็ละทิ้งถิ่นฐานเดิม และเริ่มมุ่งหน้าสู่แผ่นดินใหม่ที่อีกว่า" มัลลิแกน กล่าว
ด้าน ดร.เฮนรี ซี ฮาร์เพนดิง (Henry C. Harpending) ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยยูทาห์ (University of Utah) ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยดังกล่าว เปิดเผยว่า แนวคิดที่ว่าชาวเอเชียอพยพสู่อเมริกาผ่านทางแบริงเจียมีมานานแล้ว แต่ไม่ได้เผยแพร่ให้เป็นที่รู้กันโดยทั่วไป และเป็นไปได้อย่างยิ่งที่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในดินแดนแบริงเจียนานนับหมื่นปีโดยที่ยังไม่สามารถเดินทางสู่อเมริกาเหนือได้
ทั้งนี้ทีมวิจัยคาดว่าบริเวณใต้ทะเลแบริงน่าจะมีหลักฐานทางโบราณคดีจมอยู่ด้วยไม่น้อย ซึ่งเมื่อราว 10,000 ปีก่อน ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้เบริงเจียจมอยู่ใต้ทะเลพร้อมกับตัดขาดไซบีเรียและอลาสกาออกจากกันด้วยช่องแคบแบริงที่กว้างประมาณ 80 กิโลเมตร