xs
xsm
sm
md
lg

เสน่ห์เรณูฯ “ผู้ไทย ตามญาติ”วันวาเลนไทน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


      เรณูนคร ถิ่นนี้ช่างมีมนต์ขลัง ได้พบนวลนาง ดั่งเหมือนต้องมนต์แน่นิ่ง
      น้องนุ่งซิ่นไหม ไว้ผมมวยสวยเพริศพริ้ง พี่รักเจ้าแล้วแท้จริง สาวเวียงพิงค์แห่งแดนอีสาน...”


เพลง : หนาวลมที่เรณู

เป็นที่รู้กันดีว่า อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ถือเป็นถิ่นอาศัยแหล่งใหญ่ของชาวผู้ไทย(ภูไท) อีกหนึ่งชนเผ่าที่มี วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตที่น่าสนใจ

สำหรับประวัติความเป็นมาของชาวผู้ไทยเรณูนครนั้น ตามเอกสารของศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเรณูนคร โรงเรียนเรณูนครวิทยานุกูล ระบุไว้ พอสรุปโดยสังเขปว่า ถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวผู้ไทย อาศัยอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทย ทางภาคเหนือของเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว

ที่แคว้นสิบสองจุไทยในอดีต มีชาวผู้ไทย 2 กลุ่มอาศัยอยู่ คือ กลุ่มผู้ไทยดำ และผู้ไทยขาว

ผู้ไทยดำ เป็นกลุ่มที่นิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำ หรือสีคราม ส่วนผู้ไทยขาวเป็นกลุ่มที่นิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาว

จากนั้นชาวผู้ไทยได้อพยพเคลื่อนย้ายลงมาตามลำน้ำโขง ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองวังอ่างคำ ก่อนจะอพยพข้ามแม่น้ำโขงมาสู่แผ่นดินไทยในปี พ.ศ. 2384 ซึ่งนำโดยท้าวเพชร ท้าวสาย ท้าวไพ สามพี่น้องบุตรของพญาเตโช(ต้นตระกูลเตโช) พร้อมด้วยท้าวบุตร ท้าวอินทิสาร ลูกเขยของพญาเตโช (ต้นตระกูลอินทร์ติยะ,โกพลรัตน์)

โดยต่อเรือลอยแพข้ามแม่น้ำโขงมาขึ้นฝั่งไทยที่บ้านพระกลางท่า(เขตอำเภอธาตุพนม) พร้อมได้กราบนมัสการพระภิกษุทา เจ้าสำนักธาตุพนม ซึ่งท่านได้แนะนำให้ไปตั้งบ้านเรือนที่ ดงหวาย แขวงเมืองนครพนม โดยให้ควาญช้างชื่อบักเอกนำทาง เมื่อตั้งถิ่นฐานแล้ว ชาวบ้านต่างพากันเรียกบ้านดงหวายว่า “เมืองเว”

กระทั่ง พ.ศ. 2387 รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯให้ยกบ้านดงหวาย(บุ่งหวาย) เป็นเมืองเรณูนคร หลังจากนั้นเมืองเรณูนครก็ยกฐานะเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดนครพนม ในปี พ.ศ. 2446

และด้วยความที่เรณูนครเป็นถิ่นชาวผู้ไทยที่ยังคงไว้ด้วยวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ.2540 ทางอำเภอเรณูนครจึงประกาศให้วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันผู้ไทย และมีการจัดงาน“วันผู้ไทย”ขึ้น เพื่อสืบสาน ฟื้นฟู อนุรักษ์มรดกของบรรพบุรุษชาวผู้ไทยเรื่อยมาทุกๆปี โดยในเอกสารของศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเรณูฯระบุว่า

จุดมุ่งหมายในการเลือกจัดงานวันผู้ไทยตรงกับวันที่ 14 ก.พ.หรือวันวาเลนไทน์ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ หันมาสนใจ รักวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวผู้ไทย ดีกว่าจะเข้าใจเรื่องความรักแบบฉาบฉวย สุกเอาเผากิน แบบกุหลาบในตอนเช้าแล้วคอพับในตอนบ่าย

อ.อุชนี อบรมชอบ เลขาศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเรณูนคร เปิดเผยว่า งานวันผู้ไทยปีนี้(51)จัดขึ้นในแนวคิด "วันผู้ไทยตามญาติ" ที่จะมีการเชิญชวนชาวผู้ไทยที่อาศัยตามเมืองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ มุกดาหาร สกลนคร กาฬสินธุ์ และแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว มาพบปะสังสรรค์และร่วมสืบสานประเพณี พร้อมร่วมการแสดงศิลปวัฒนธรรมหลากหลาย

สำหรับกิจกรรมที่น่าสนใจในงานวันผู้ไทยที่เด่นๆก็มี การสัมมนาวิชาการ(ภาคเช้า)เรื่องคนผู้ไทยมาจากไหน และการแสดงทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชวาผู้ไทย ไม่ว่าจะเป็น พิธีเหยา ที่เป็นการรักษาคนเจ็บป่วยโดยหมอเหยาที่เชื่อว่าสามารถติดต่อสื่อสารกับผีได้

พิธีบายศรีสู่ขวัญ ที่ผู้เฒ่าผู้แก่จะมาเรียกขวัญผูกข้อมือ ซึ่งเป็นพิธีที่สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวได้อย่างมาก

ฟ้อนผู้ไทยเรณูนคร เป็นการร่ายรำตามงานบุญต่างๆทั้งชาย-หญิง ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวร่วมร่ายรำด้วย

และประเพณีดูดอุ(สุราพื้นบ้านใส่ไหอันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของเรณูนคร) หรือการชนช้างเพื่อต้อนรับแขกผู้มาเยือน

ทั้งนี้ผู้สนใจงานวันผู้ไทยเรณูนครสามารถร่วมงานได้ฟรี ตั้งแต่ช่วงเช้าถึงเย็นของวันที่ 14 ก.พ. 51 ณ ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเรณูนคร โรงเรียนเรณูนครวิทยานุกูล ซึ่งนี่ถือเป็นอีกหนึ่งประเพณีใน จ. นครพนมที่น่าสนใจไม่น้อยเลย

**********************************************************

อ.เรณูนคร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดนครพนมราว 51 กม. โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 212 เดินทางถึงหลัก กม.ที่44 จะมีแยกถนนเข้าสู่ อ.เรณูนคร ระยะทาง 7 กม.

นอกจากวิถีชาวผู้ไทยแล้ว อ.เรณูนครยังมีพระธาตุเรณู วัดพระธาตุเรณู เป็นหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่มีคนเคารพศรัทธากันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีที่พักชุมชนราคาเยา ซึ่งผู้สนใจรายละเอียดต่างๆของอ.เรณูนครเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเรณูฯ โทร. 08-1488-1094 หรือที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

กำลังโหลดความคิดเห็น