xs
xsm
sm
md
lg

ทำไม!สุดยอด‘ผ้าไหมแพรวา’ ต้องชุมชนภูไทดำ จ.กาฬสินธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขึ้นชื่อว่า “ผ้าไหมแพรวา” ยอดฝีมือในการทอคงหนีไม่พ้นชาวบ้านในชุมชนภูไทดำ ต.บ้านโพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ที่ได้มีการสืบทอดฝีมือการทอผ้าไหมแพรวามาตั้งแต่บรรพบุรุษ จนกระทั่งลูกหลานในหมู่บ้านที่คิดนอกกรอบ ได้เข้ามาพัฒนาลวดลาย รวมถึงปรับปรุงเทคนิคจากวิธีการทอแบบดั้งเดิม เพื่อให้ได้ลายที่มีความโค้งมน และอ่อนช้อยมากขึ้น จนสร้างชื่อให้กับหมู่บ้าน และทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

นายพงษ์ชยุตน์ โพนะทา บุคคลเกียรติยศโอทอป และปราชญ์ชาวบ้าน ที่พลิกฟื้นการทอผ้าไหมแพรวาแบบดั้งเดิม ที่ใช้กันในหมู่บ้าน ให้กลายมาเป็นผ้าไหมแพรวาที่ทั่วประเทศรู้จัก และยอมรับในฝีมือ ได้ย้อนอดีตเส้นทางของผ้าไหมแพรวาของชุมชนภูไทดำให้ฟังว่า ผ้าไหมแพรวา ถือเป็นวัฒนธรรมของตำบลบ้านโพน มาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ที่ได้มีการสืบทอดเทคนิคการทอมาทุกยุคทุกสมัย ที่เป็นธรรมเนียมให้เด็กผู้หญิงที่เริ่มโตเป็นสาว อายุประมาณ 15 ปี ทุกคนในหมู่บ้านต้องทอผ้าไหมแพรวาให้เป็น เพราะหากทำไม่เป็นจะเป็นที่รังเกียจของคนในชุมชน และไม่มีโอกาสที่จะได้แต่งงานกับคนในหมู่บ้าน ดังนั้นด้วยเหตุนี้จึงทำให้สมบัติทางวัฒนธรรมของไหมแพรวา ไม่ถูกกลืนไปกับกาลเวลาที่เปลี่ยนไป

“ผมเห็นไหมแพรวามาตั้งแต่เด็ก เพราะแม่ก็ทอมาตลอด แต่ในสมัยก่อนผ้าไหมแพรวา จะทอใช้กันภายในหมู่บ้าน หรือในชุมชนเท่านั้น และจะทอออกมาในรูปแบบของผ้าคลุมไหล่ขนาดเล็ก หรือสไบ เท่านั้น ยังไม่มีการทอเป็นผ้าผืน รวมถึงลวดลายก็ยังคงลวดลายที่เป็นลายยืนพื้นแบบเดิมๆ คือ ลายเหลี่ยม ส่วนลวดลายภายในก็จะปรับเปลี่ยนไปโดยมีกว่า 100 ลาย ซึ่งเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปความนิยมในลวดลายเดิมก็ลดน้อยลง ทำให้ต้องต้องปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์เพื่อความเป็นไปได้ในการตลาด แต่ยังคงลวดลายพื้นฐานของความเป็นผ้าไหมแพรวาอยู่”

ทั้งนี้นายพงษ์ชยุตน์ เป็นผู้ปฏิวัติลวดลาย เองทั้งหมด ซึ่งขณะนี้มีกว่า 20 ลายแล้ว โดยเริ่มต้นจากความคิดที่ว่า ทำให้ลวดลายของผ้าไหมแพรวาจึงมีลักษณะเป็นเหลี่ยม ถ้าจะใช้เส้นโค้ง มน บ้างจะทำได้ไหม เพราะไม่ดีมีกฎข้อบังคับห้าม ดังนั้นจึงได้ลงมือออกแบบลวดลายบนกระดาษ และให้ชาวบ้านทดลองทอ โดยที่เปลี่ยนวิธีการทอเล็กน้อย สุดท้ายก็สามารถทอลวดลายดังกล่าวออกมาได้

“หลังจากที่สามารถทอผ้าไหมแพรวาในลวดลายใหม่ๆ ได้แล้ว ในฐานะที่ผมเป็นคนไปเปลี่ยนลวดลายให้กับชาวบ้าน ดังนั้นหน้าที่ในการนำไปจำหน่าย จึงต้องตกมาเป็นหน้าที่ผมโดยปริยาย ซึ่งผมก็ใช้วิธีการผ้าที่ทอได้ ไปขายที่กรุงเทพฯ คราวละไม่กี่ผืน จนเป็นที่รู้จักของผู้ใหญ่ในหน่วยงานราชการ อย่าง กระทรวงอุตสาหกรรม ก็ให้นำผ้าไหมแพรวาของหมู่บ้านไปออกบูทตามงานแสดงสินค้าต่างๆ จนมีผู้คนรู้จักมากขึ้น รวมถึงมีคนดังระดับประเทศ และดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงก็ได้นำผ้าของผมไปตัดเย็บให้กับนางแบบ ทำให้ตรงจุดนั้นเป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับผ้าไหมแพรวาของหมู่บ้านได้เป็นอย่าง

ขณะนี้ผ้าไหมแพรวาของชุมชนภูไทดำ ถือว่าฝีมือในการทอเป็นที่สุดในวงการไหมแพรวาของไทย จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีออเดอร์สั่งทอผ้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แม้จะต้องรอนาน ลูกค้าก็เต็มใจที่รอ เพราะชาวบ้านที่ทอไม่ได้ทำเป็นอาชีพหลัก ต้องทำนาควบคู่ไปด้วย บางครั้งผ้าหนึ่งผืนอาจต้องรอถึง 3 เดือน หรือเป็นปี และลูกค้าต้องยอมรับในเรื่องของสีได้ โดยอาจจะมีสีเพี้ยนไปจากที่ต้องการบ้าง เพราะเป็นสีธรรมชาติที่ชาวบ้านย้อมกันเอง แต่รับรองคุณภาพของผ้าไหมแพรวาคือสีไม่ตก

“การที่ชุมทชนภูไทดำ ได้แสดงศักยภาพการทอไหมแพรวา จนเป็นที่ยอมรับระดับประเทศแล้ว ชาวบ้านยังได้ลืมตาอ้าปากอีกด้วย จากเดิมคนในชุมชนมีฐานะยากจน อาหารการกินก็ปลูกเอง กินเอง ไม่เคยซื้ออาหารรับประทาน แต่ขณะนี้พอมีเงินซื้อวัตถุดิบในการทำอาหารจากตลาดได้แล้ว ทำให้ชีวิตความเป็นดีขึ้น รวมถึงครอบครัวลูกหลานก็มีโอกาสไปรับการศึกษาที่ดีตามไปด้วย ดังนั้นชีวิตนี้ผมอยากขอบคุณแพรวา ที่ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนภูไทดำดีขึ้นกว่า 100%”

การที่นายพงษ์ชยุตน์ มีสำนึกรักบ้านเกิด และต้องการยกระดับชุมชนจากวัฒนธรรมของบรรพบุรุษที่ตกทอดกันมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน รวมถึงยังทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอยู่ดีมีสุข ทำให้ภาครัฐฯ เล็งเห็น และมอบรางวัลบุคคลเกียรติยศ โอทอปให้ เป็นตัวอย่างของคนที่ไม่ทิ้งถิ่นกำเนิด

***สนใจติดต่อ 08-1171-4271***
กำลังโหลดความคิดเห็น