xs
xsm
sm
md
lg

สู่อิสรภาพ รัฐฉาน (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานพิเศษ “สู่อิสรภาพ รัฐฉาน” ความยาว 3 ตอนจบ โดย วรรัฐ ภูษาทอง/นเรศ ปราบทอง

“เราจะปันอาหารให้กับชาวบ้านบนดอยไตแลงเดือนละครั้ง เพราะพืชผลที่ปลูกได้ชาวบ้านจะนำไปขายหมด” เจ้า หัวหน้าฝ่ายปกครองของดอยไตแลง บอกว่าฐานบัญชาการสูงสุดของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ แม้จะเป็นชัยภูมิที่ดีสำหรับการรบ แต่ยากลำบากสำหรับชาวบ้านที่จะตั้งถิ่นฐาน

ความจำเป็นเพื่อการอยู่รอด ชาวบ้านที่ถูกทหารพม่ากดขี่จะหนีมาพึ่งทหารของ SSA จนถึงวันนี้เฉพาะที่ดอยไตแลงมีทั้งชาวไทใหญ่ และชาวเขาเผ่าต่างๆที่อยู่ในรัฐฉาน มาตั้งบ้านเรือนอยู่ประมาณ 400 ครอบครัวแล้ว และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากทหารพม่ายังกดขี่ชาวไทใหญ่ในรัฐฉานต่อไป

พื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยขุนเขาสูง ทำให้ดอยไตแลงมีพื้นที่เพาะปลูกจำกัด รวมทั้งยังขาดแคลนแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคที่เพียงพอ โดยมีเพียงห้วยเดียวเท่านั้นที่สามารถใช้ได้ตลอดทั้งปี แต่ก็กระจายน้ำได้ไม่ทั่วถึง

“ห้วยอยู่ไกลไม่มีน้ำประปาเหมือนอย่างฝั่งไทย ชาวบ้านที่นี่อาบน้ำได้วันละครั้ง แต่ต้องขยันนะ เพราะว่าต้องเดินไปหลายกิโล โชคดีอากาศค่อนข้างหนาว ไม่อย่างนั้นตอนเดินกลับมา เหงื่อก็ออกเต็มตัวแล้ว เจ้ายอดศึกกำลังศึกษาอยู่ว่าจะวางระบบน้ำประปาให้ชาวบ้านได้ยังไง” ยอดเมือง ผู้ช่วยฝ่ายต่างประเทศของเจ้ายอดศึก อธิบายถึงอนาคตด้านแหล่งน้ำของดอยไตแลง

กองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ มีภาระต้องปันอาหารให้กับชาวบ้าน เพราะผลผลิตที่ปลูกได้จะมีการนำไปขาย ส่งเงินให้ญาติพี่น้องในรัฐฉาน หรือไม่ก็เก็บไว้กินเองแต่ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงปากท้องได้ตลอดทั้งเดือน โดยชาวบ้านจะได้รับอาหารจากกองทัพ เป็นประเภทข้าวสาร น้ำมันพืช เกลือ ถั่วเหลือง และถั่วเน่า ซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของชาวไทใหญ่

โรงเรียนแห่งชาติ โรงเรียนของเด็กกำพร้า SSA ได้ตั้งโรงเรียนแห่งชาติดอยไตแลงขึ้นมา จุดประสงค์ก็เพื่อให้เด็กๆชาวไทใหญ่ได้เรียนหนังสือ เรียนภาษาไทใหญ่ และวิชาอื่นๆที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในอนาคต ที่ผ่านมาเด็กบางคนขาดโอกาสที่จะได้เรียนหนังสือ เพราะความยากจนหรือไม่ก็ต้องละทิ้งถิ่นฐาน หนีทหารพม่าที่เข้ามารังแก

“โรงเรียนจะมีตั้งแต่ศูนย์เด็กเล็ก จนถึง ม.6 แต่เด็กนักเรียนจะปนกันไป เด็กบางคนไม่มีพื้นฐานความรู้อะไรเลย เพราะไม่ได้เรียนหนังสือ ตอนนี้บางคนอายุ 17 แล้วยังต้องเรียนอยู่ในชั้น ป.2 ร่วมกับเด็ก 7 ขวบ” ครูเขิง ผู้ช่วยครูใหญ่ประจำโรงเรียนแห่งชาติดอยไตแลง บอกถึงสภาพในห้องเรียน

กว่าครึ่งหนึ่งของนักเรียนเป็นเด็กกำพร้า บางคนพ่อแม่ตายระหว่างหลบหนีทหารพม่าอยู่ในป่า ทหารของ SSA ต้องพามาอยู่ด้วย หนักๆเข้า กองทัพต้องตั้งศูนย์เด็กกำพร้าขึ้นบนดอยไตแลงเพื่อรองรับเด็กเหล่านี้ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกวัน

ปัจจุบันมีโรงเรียนในเขตอิทธิพลของ SSA จำนวน 52 โรง และกำลังจะขยายออกไปอีก แต่นักเรียนเหล่านี้ก็ยังขาดช่องทางที่จะศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย เพราะกองกำลังกู้ชาติไม่สามารถออกประกาศนียบัตรให้ไปเรียนต่อในรัฐฉานได้ รวมถึงการเข้ามาเรียนในประเทศไทยด้วย เพราะทางการพม่าย่อมไม่ออกเอกสารใดๆให้กับคนไทใหญ่ในกองทัพกู้ชาติ

สถานีวิทยุ กู้ชาติ

ดอยไตแลง ห่างจากพรมแดนด่านอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพียง 7 กิโลเมตร แต่สายไฟฟ้าไม่อาจลอดรัฐข้ามฝั่งมาให้บริการกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ได้ ทหาร SSA และชาวบ้านบนดอย ต้องอาศัยแผงโซล่าร์เซลล์ ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน แม้กองบัญชาการได้ตั้งโรงงานปั่นไฟจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แต่เดินเครื่องเฉพาะช่วงเย็นถึง 4 ทุ่ม เพื่อให้เด็กๆได้ทำการบ้าน

สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีของไทย ส่งสัญญาณได้ไกลถึงดอยไตแลง ทำให้ทหารและชาวไทใหญ่ได้รับชมละครหลังข่าว และก็ติดละครเช่นเดียวกับคนไทย แต่เครื่องรับโทรทัศน์มีราคาแพง จึงมีเพียงบางบ้านที่มีใช้ เวลาเปิดทีวีจึงมีทั้งเด็ก หนุ่มสาวและแม่บ้านมายืนออรอดูทีวีกันเต็มไปหมด

“ดาราไทยหลายคนที่ดังๆ จะมีชื่อเป็นไทใหญ่โดยไม่รู้ตัว อย่างน้องกบ สุวนันท์ คงยิ่ง ชื่อว่า น้องเขียวฟ้า เพราะกบตัวเป็นสีเขียว ส่วนคำว่าฟ้าก็มาจากที่คนไทใหญ่ จะตั้งชื่ออะไรที่สูงๆ เช่น ฟ้า จันทร์ ดาว ยอด แสง อะไรทำนองนี้” แสงหาญ หนุ่มน้อยจากกลุ่มพลังยุวชนไทใหญ่ บอกว่าละครจากเมืองไทย จะมีการแปลและลงเสียงเป็นภาษาไทใหญ่ เพื่อให้รับชมได้อย่างมีอรรถรสมากขึ้น แล้วก็มีพ่อค้าหัวใสจากอำเภอปางมะผ้า มาวางขายอยู่ทั่วไปในชุมชนชาวไทใหญ่

แต่ทีวีไม่ใช่ปัจจัยหลักในชีวิตของเหล่านักรบกู้ชาติ “วิทยุ” กลับเป็นสิ่งจำเป็นของชาวไทใหญ่ในฐานที่มั่นของ SSA มากกว่า เมื่อถึงเวลาพลบค่ำหลายบ้านจะมานั่งล้อมกองไฟให้ความอบอุ่นกับร่างกาย และร่วมกันฟังข่าวสารต่างๆที่มาจากสถานีวิทยุ เพราะไม่ต้องใช้ไฟฟ้าให้สิ้นเปลือง เพียงถ่ายไฟฉายไม่กี่ก้อน ก็เปิดฟังได้ตลอดทั้งอาทิตย์แล้ว

เจ้ายอดศึก ผู้นำกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ เคยเป็นทหารเหล่าสื่อสาร จึงเล็งเห็นถึงผลดีของการตั้งสถานีวิทยุของกองกำลังขึ้นมา อย่างน้อยก็เพื่อบอกเล่าถึงการทำงานและนโยบายของกองทัพ โดยจะเปิดสถานีตามเวลาของการปั่นไฟ รูปแบบของรายการเป็นแบบเล่าข่าว บอกกำหนดการของงานต่างๆ เช่น งานวันชาติ งานปอยงานบุญ โดยมีการเปิดเพลงสตริงของศิลปินชาวไทใหญ่สลับไปด้วย

“ข่าวสารที่นำมาเล่าส่วนใหญ่ จะเป็นข่าวการทารุณกรรมของทหารพม่าที่ทำกับชาวไทใหญ่ ซึ่งเราได้มาจากชาวบ้านที่หลบหนีมาอยู่กับเรา บางส่วนก็เป็นวีรกรรมของทหารที่ได้เข้าปะทะกับทหารพม่า หรือว้า ทุกวันนี้เรากำลังปรับปรุงสถานีให้ออกอากาศได้กว้างไกลขึ้น แต่บางเมืองที่ยังตกอยู่ใต้การปกครองของพม่า ก็สามารถรับฟังได้” แสงหมุ่ย ดีเจสาวสวยประจำสถานีวิทยุกู้ชาติ เล่าให้ฟังว่ามีจดหมาย และโทรศัพท์จากชาวไทใหญ่ที่รับฟังได้เข้ามากมาย ทุกๆคนให้กำลังใจ ให้จัดรายการต่อไป เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารกันระหว่างญาติพี่น้องชาวไทใหญ่ที่ยังอยู่ในรัฐฉาน กับที่มาอยู่ในกองกำลังกู้ชาติ

ไทใหญ่ นักรบธรรมะ

การลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่า นับตั้งแต่มีการฉีกสนธิสัญญาปางโหลง ทำให้ “ไทใหญ่” มีฐานะเป็นเพียง “ชนกลุ่มน้อย” เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.2501 เมื่อเจ้าน้อย ซอยั่นต๊ะ ได้นำกำลัง “หนุ่มศึกหาญ” เข้าจู่โจมกำลังทหารพม่าที่เมืองเชียงตุง หลังการเรียกร้องสิทธิปกครองตนเองโดยสันติไม่เป็นผล จนมาถึง “กองกำลังกู้ชาติรัฐฉาน” หรือ SSA ของเจ้ายอดศึก แต่ก็ไม่ได้ทำให้ทหารไทใหญ่เป็นกองกำลังกระหายเลือด หรือจะเปิดฉากทำสงครามกับพม่าเพียงอย่างเดียว

“ทุกกองกำลังของชาวไทใหญ่ ต่างเคยเจรจาอย่างสันติกับรัฐบาลพม่า แต่ไม่เคยได้รับการตอบสนอง พม่ายังคงยืนกรานที่จะไม่ยอมรับเรา ไม่ยอมรับแม้กระทั่งสถานะของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ว่าเป็นตัวแทนของรัฐฉาน มีแต่นโยบายที่ต้องทำลายเราให้สิ้นซาก” เจ้ายอดศึก ประธานสภาฟื้นฟูและกอบกู้รัฐฉาน บอกว่ากำลังทหารพม่าเปิดฉากโจมตีฐานที่มั่นของไทใหญ่หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ นั่นเป็นสิ่งที่ตอบแล้วว่า พม่ากำลังเดินทางผิดที่ไม่หาทางออกอย่างสันติ การทุ่มเทแต่กำลังอาวุธไม่ใช่คำตอบของปัญหานี้

ทุกที่ตั้งหน่วยทหารของ SSA จะมีการก่อสร้างวัดขึ้นเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทใหญ่ที่ต่อสู้กู้ชาติ แม้บางแห่งไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา แต่เมื่อมีงานปอยงานบุญสำคัญจะมีการเชิญพระสงฆ์มาจากดอยไตแลง หรือพระสงฆ์ไทใหญ่จากแม่ฮ่องสอน มาประกอบพิธีทางศาสนา ก่อนจะออกจากบ้านไปเข้าทำงานในกองทัพ ทหารไทใหญ่จะสวดมนต์เพื่อชำระล้างจิตใจ รวมทั้งการสวดมนต์หลังกลับมาถึงบ้าน และก่อนนอนยังเป็นวัตรปฏิบัติที่ชาวไทใหญ่ทำเป็นประจำทุกวัน

“วัดเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา เราจึงต้องมีวัด แม้จะไม่มีพระสงฆ์อยู่ แต่พระอยู่ในจิตใจเราอยู่แล้ว คนไทใหญ่เวลาทำบุญจะทำจนหมดตัว เป็นความเชื่อเฉพาะ จนมีคำสอนของชาวล้านนาว่า อย่าทำบุญแบบไทใหญ่ ชาวบ้านบางคนที่มาอยู่ใหม่ ยังไม่ได้ก่อร่างสร้างตัว จะรู้สึกผิดมากๆ ที่ไม่ได้บริจาคอะไร เมื่อมีงานบุญ” เปงจืน ผู้ประสานงานกองทัพ SSA บอกเล่า

SSA กองทัพบรรเทาทุกข์

สัมภาระของทหารไทใหญ่เวลาออกลาดตระเวนในพื้นที่รัฐฉาน จะหนักและใหญ่กว่าทหารชาติอื่น เพราะเต็มไปด้วยเครื่องอุปโภคและยารักษาโรค ทหารของกองกำลังกู้ชาติมีภารกิจอีกอย่างที่สำคัญ คือการบรรเทาทุกข์ให้กับชาวไทใหญ่ตามหมู่บ้าน ที่ถูกทหารพม่าปล้นชิงข้าวของ

“ชาวบ้านจะดีใจเมื่อเห็นทหาร SSA ลาดตระเวนผ่านมา เพราะหมายถึงอาหารการกิน และยารักษาโรค บางทีเราไปพบผู้คนอดยากก็ต้องแบ่งอาหารให้กิน ชาวไทใหญ่บางคนไม่เคยได้เข้าโรงพยาบาลมานานมาก แต่ทหารของเราจะได้รับการอบรมในเรื่องของการปฐมพยาบาล และการตรวจรักษาโรคอย่างง่ายๆมาแล้ว” ทหารกู้ชาติไทใหญ่คนหนึ่งเล่าให้ฟังระหว่างออกลาดตระเวน

นับตั้งแต่พม่าเข้ามาปกครองรัฐฉาน ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทใหญ่ตกต่ำลงเรื่อยๆ เพราะพม่าเห็นชาวไทใหญ่เป็นเพียงแค่แรงงาน และบังคับให้ชาวไทใหญ่เข้าไปทำงานในกองทัพโดยไม่ให้เงินเดือน ถนนหนทางต่างๆที่อังกฤษได้สร้างไว้สมัยยุคอาณานิคม ไม่เคยได้รับการปรับปรุง หรือบำรุงรักษา ทำให้โรงพยาบาลกับหมู่บ้านเป็นเรื่องที่ห่างไกลกัน เพียงเท่านั้นก็มีเหตุผลเพียงพอที่ชาวไทใหญ่จะลุกขึ้นมากู้ชาติ

โปรดติดตามตอนที่ 3 วันพรุ่งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น