xs
xsm
sm
md
lg

สู่อิสรภาพรัฐฉาน (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ ‘สู่อิสรภาพ รัฐฉาน’ โดย วรรัฐ ภูษาทอง / นเรศ ปราบทอง

ทหารกู้ชาติไทใหญ่ทุกวันนี้ ไม่น้อยเลยที่เป็นทหารในกองทัพเมิงไตของ “ขุนส่า”มาก่อน เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) และเจ้าเคือเงิน ผู้บัญชาการกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ (SSA) ต่างก็เคยเป็นทหารในบังคับของ “ขุนส่า” ทำให้หลายครั้งมีการผูกโยงขบวนการกู้ชาติกับขบวนการค้ายาเสพติด

แต่ปฏิบัติการของทหาร SSA ตลอด 11 ปี ที่ไม่วางอาวุธตาม “ขุนส่า” ทำให้โลกได้เห็นถึงความพยายามในการปราบปรามยาเสพติดของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ และลบภาพไม่สะอาดแบบเดิมให้เลื่อนหายไป ผู้สื่อข่าวไทย และผู้สื่อข่าวจากต่างประเทศ ต่างเคยได้รับเชิญให้ไปเป็นสักขีพยานในการเผาทำลายยาเสพติด ที่กองทัพกู้ชาติไทใหญ่ยึดได้จากการเข้าปะทะกับกองกำลังสหรัฐว้า

กองบัญชาการส่วนหน้าที่ 1 ภาคเชียงตุง ของ SSA เคยเข้าติดตามจับขบวนการขนถ่ายยาเสพติด ซึ่งเป็นยาบ้าจำนวน 1.1 ล้านเม็ด ที่ผลิตขึ้นในเขตอิทธิพลของกองกำลังสหรัฐว้า และลำเลียงลอบลงมาในเขตควบคุมของ SSA ก่อนที่จะผ่านไปทางพรมแดนพม่า-ลาว เพื่อขึ้นฝั่งที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

หลังนำกำลังทหารเข้าควบคุมรัฐฉานของไทใหญ่ รัฐบาลพม่าได้เจรจากับกองกำลังสหรัฐว้า กองกำลังชนกลุ่มน้อยอีกกลุ่มหนึ่ง ให้เข้าโจมตีฐานที่มั่นของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ หลัง “ขุนส่า” หมดอำนาจ ชื่อของ “เหว่ยเซียะกัง” หนึ่งในผู้นำของว้า ก็เข้ามาแทนที่ในขบวนการค้ายาเสพติด บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ

กองกำลังสหรัฐว้า หรือ “UWSA” ได้โยกย้ายกำลังหลายกองพลจากฐานที่มั่น ซึ่งอยู่ติดกับพรมแดนจีนตอนใต้ ลงมายังตอนบนของรัฐฉาน และเข้าโจมตีกองกำลังของไทใหญ่ จนยึดเมืองหลายเมืองได้สำเร็จ กองกำลังสหรัฐว้าได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่เมืองยอน เพื่อเป็นฐานบัญชาการทางทหาร และสนับสนุนขบวนการค้ายาเสพติด โดยมีสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารพม่า

“ถ้าให้เราแก้ไขปัญหายาเสพติดเราแก้ได้ พม่าประฌามเรากับชาวโลกว่าเราค้ายาเสพติด แต่พม่าต่างหากที่เปิดโอกาสให้ว้าค้ายาเสพติด โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องจำกัด SSA ให้ได้” เจ้ายอดศึก ผู้นำกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ ยอมรับว่าในรัฐฉานยังมีพื้นที่ปลูกฝิ่น แต่ไม่ใช่พื้นที่ควบคุมของ SSA ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวเพื่อขนถ่ายยาเสพติดบริเวณชายแดนประเทศพม่ามากขึ้น จนน่าเป็นห่วง แต่หลายๆประเทศกลับแถลงข่าวว่าปริมาณยาเสพติดลดลงแล้ว ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงในพื้นที่แหล่งผลิตยาเสพติด ที่กลับพบว่ามีการเดินเครื่องมากขึ้น

“มีข่าวว่าว้าส่งมือปืนมาเก็บผม ให้ค่าหัว 30 ล้านบาท พร้อมกับเฮโรอีนอีก 1,500 กิโลกรัม เพราะถ้าไม่มีกองกำลัง SSA แล้ว การค้ายาเสพติดของเขาจะง่ายขึ้น แต่ถ้ายังมีเราอยู่ ชุดปฏิบัติการเราเห็นเมื่อไหร่ เราจะจัดการทันที” เจ้ายอดศึก กล่าว

รัฐธรรมนูญใหม่พม่า

14 เดือนที่แล้ว รัฐบาลทหารพม่าได้แต่งตั้งบุคคลในนาม “National Convention” ขึ้นมาดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้ในการปกครองสหภาพ หลังถูกนานาชาติกดดันให้คืนประชาธิปไตยให้กับประชาชนในประเทศ แต่กองกำลังของกลุ่มเชื้อชาติที่ยังเคลื่อนไหวตามแนวชายแดน และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ไม่ได้รับเชิญให้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญด้วย และแล้วในที่สุดรัฐบาลพม่าได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ รวมทั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายในเดือนพฤษภาคม 2551

แต่รัฐธรรมนูญใหม่พม่า กลับระบุถึงการตัดสิทธิทางการเมืองกับชาวพม่าที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาที่จะห้ามนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรค NLD ลงสมัครรับเลือกตั้ง รวมทั้งยังมีบทบัญญัติให้คณะผู้นำทหาร มีบทบาทนำทางการเมือง และหากมีการประกาศใช้ภาวะฉุกเฉิน ผู้นำทหารจะมีสิทธิ์ขาดในการเข้ามาบริหารบ้านเมือง และแต่งตั้งรัฐมนตรี

“เราไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ เพราะทหารพม่าเขียนขึ้นเอง อย่าคิดว่าเราเป็นผู้สร้างความแตกแยกในประเทศ กลับกันพม่าเองเป็นผู้ที่ทำลายระบบสหภาพมาตั้งแต่ต้น ด้วยการยึดอำนาจ สหภาพคือการที่เรามาอยู่ร่วมกัน แต่คนเชื้อชาติอื่น ใครอยู่กับพม่าได้บ้าง ไม่ว่าจะกลุ่มไหน ใครไม่เคยลุกขึ้นจับอาวุธรบกับพม่า” เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน อธิบายสิ่งที่พม่าทำกับคนร่วมสหภาพเดียวกัน

กองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ ภายใต้องค์กรนำ คือสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ไม่ได้ยืนหยัดอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ได้พยายามแสวงหาพันธมิตรเพื่อกดดันกิจการภายในของพม่า ผสานเสริมกับแรงกดดันที่มาจากนานาชาติ และองค์กรระหว่างประเทศ โดย RCSS ได้จับมือกับองค์กรชนกลุ่มน้อยอื่น ประกอบด้วย สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะยา (KNPP) พรรคเสรีแห่งอาระกัน (ALP) แนวร่วมแห่งชาติฉิ่น (CNF) และองค์กรแห่งชาติคะฉิ่น (KNO) ร่วมฝึกอบรมทหารด้านยุทธการ ตลอดจนหารือเกี่ยวกับอนาคตของสหภาพพม่าในระดับใกล้ชิด

“เราได้เชิญตัวแทนเชื้อชาติต่างๆ ที่ถูกพม่าผนวกรวม มาหารือกันถึงหนทางแก้ไขปัญหา เพราะเราเห็นว่าปัญหามันเหมือนกัน เราควรจะมาร่วมกัน โดยใช้หลักการของสนธิสัญญาปางโหลงมาแก้ เพราะปัญหาเกิดขึ้นจากจุดนั้น” เจ้ายอดศึก บอกว่าก่อนที่จะเกิดเป็นสัญญา “ปางโหลง” คือน้ำใจ “ปางโหลง” ซึ่งหมายถึงการที่ชน 8 เชื้อชาติจับมือกันร่วมกันเป็น “สหภาพพม่า”

ปลายปี 2550 พรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยของพม่า พร้อมทั้งกลุ่มนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยในพม่า (ABSDF) และกลุ่มพันธมิตรชนกลุ่มน้อยในพม่า ได้หารือกันจนมีข้อสรุปว่า จะจัดตั้งรัฐบาลผลัดถิ่นในรูปแบบของรัฐบาล “สหพันธรัฐ”ขึ้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปกันในเร็วๆนี้

อนาคตของรัฐฉาน

รัฐฉาน ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า มีประชากรราว 10 ล้านคน แยกออกเป็น 3 ภาค คือรัฐฉานตอนเหนือ มีเมืองศูนย์กลางคือเมือง “ล่าเสี้ยว” รัฐฉานตะวันออกมีเมืองศูนย์กลางเป็นเมืองท่องเที่ยวเลื่องชื่อ คือเมือง “เชียงตุง” ส่วนรัฐฉานตอนใต้ มีเมืองศูนย์กลาง คือเมือง “ตองกี” ปะปนด้วยคนหลายชนชาติ แต่ชาว “ไต” หรือ “ไทใหญ่” ถือเป็นชนชาติที่มีประชากรมากที่สุด รองลงมาเป็นชาว “ปะหล่อง” ชาว “ปะโอ” ชาว “ว้า” แต่เดิมชนชาติทั้งหมดตกลงกันที่จะใช้ภาษา “ไต” เป็นภาษาราชการใช้ติดต่อกันในรัฐฉาน ปัจจุบันหลังถูกพม่ายึดครองรัฐฉาน ใช้ภาษาพม่า และภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ

แม่น้ำสายสำคัญที่เป็นเส้นเลือดหลักของรัฐฉาน คือแม่น้ำสาละวิน ซึ่งปัจจุบันทางการพม่า และไทย ได้มีความตกลงที่จะสร้างเขื่อนหลายเขื่อนบนลำน้ำสาละวิน วัตถุประสงค์ก็เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดยทั้งโครงการจะมีการสร้างเขื่อนจำนวน 4 เขื่อน ทอดผ่านพื้นที่ปฏิบัติการของกองกำลังชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม รวมถึงพื้นที่ของกองกำลัง SSA ด้วย

“เขื่อนพวกนี้จะตัดผ่านหมู่บ้านของชาวบ้าน พม่าเอาปืนมาบังคับให้ชาวไทใหญ่อพยพย้ายถิ่น ไปในที่ที่ทำกินไม่ได้ ยังไม่มีอะไรเลย พื้นที่ก่อสร้างเขื่อนสาละวินจะทำให้ไทใหญ่ไม่มีบ้าน ชีวิตต้องเปลี่ยนไป ใครไม่ไปพม่าก็จะเผาทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านทนไม่ไหวก็ต้องย้ายไปเอง” จ๋ามตอง นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวไทใหญ่ บอกว่านับตั้งแต่ไทย และพม่าได้ส่งสัญญาณว่าจะสร้างเขื่อนสาละวิน การบังคับให้ชาวบ้านย้ายออกจากที่ดินทำกินของตัวเองก็มีมากขึ้น ปัจจุบันมีชาวไทใหญ่ต้องอพยพถึง 300,000 คนแล้ว

1 เดือนเศษ ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ลอบสังหารเลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) นายพะโด่ มานฉ่า ในบ้านพักกลางอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หนึ่งในสาเหตุที่สำคัญ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยสันนิษฐาน คือการขัดขวางโครงการสร้างเขื่อนสาละวิน ซึ่งพะโด่ มานฉ่า ประกาศไม่สนับสนุนการตัดถนนผ่านพื้นที่ของกองกำลัง KNU

ผู้นำทางทหารของรัฐบาลทหารพม่า แสดงให้เห็นชัดเจนว่า หากกองกำลังชนกลุ่มน้อยขัดขวางการพัฒนาของพม่า จะมีการกวาดล้างกองกำลังเหล่านี้ให้สิ้นซาก โดยคาดว่าพลเอกหม่องเอ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพพม่า และรองประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ หรือ SPDC จะประกาศปราบปรามปรปักษ์ตามแนวชายแดน ในวันที่ 27 มีนาคม 2551 ซึ่งถือเป็นวันชาติของพม่า และเป็นวันกองทัพด้วย ซึ่งหนึ่งในกองกำลังที่เป็นเป้าหมายสำคัญ คือ SSA

“รัฐบาลใหม่ของไทย เราไม่ได้คิดอะไร ผมไม่ค่อยรู้เรื่องการเมืองไทย แต่ก็ติดตามอยู่ ประเทศไทยเป็นพี่น้องของเรา ผมยึดถือ “ในหลวง” เป็นหลัก รัฐบาลไหนมาจะรบกับผม ผมก็ต้องรบ แต่คนไทย ในหลวง ผมยังรักเหมือนเดิม” เจ้ายอดศึก ผู้นำสูงสุดของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ กล่าว

แม้กองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ในวันนี้ จะมีเพียงกำลังอันน้อยนิด เมื่อเปรียบเทียบกับกำลังของทหารพม่า แต่อนาคตของรัฐฉาน อยู่ที่ “หัวใจความเป็นไทใหญ่” ซึ่งไม่ต่างอะไรกับคน “ชาติอื่น” การเปิดฉากตอบโต้ของรัฐบาลพม่าในหน้าแล้งปีนี้ จะเป็นคำตอบว่าอนาคตของรัฐฉานจะเป็นอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น