xs
xsm
sm
md
lg

สู่อิสรภาพรัฐฉาน ตอนที่ 1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ “สู่อิสรภาพ รัฐฉาน” ความยาว 3 ตอนจบ โดย วรรัฐ ภูษาทอง/นเรศ ปราบทอง


“ใหม่ซูง...เมิงไต”
เสียงตะโกนก้องของเหล่าหนุ่มศึก ทหารชาวไทใหญ่ ดังไปทั่วดอยไตแลง ฐานที่มั่นสูงสุดของกองกำลังกู้ชาติรัฐฉาน ในวันที่กองทัพ SSA หรือ SHAN STATE ARMY เฉลิมฉลองการฝึกซ้อมสำเร็จหลักสูตรของทหารใหม่

กองทัพ SSA ปัจจุบันอยู่ภายใต้การนำของพันเอกเจ้ายอดศึก ซึ่งนั่งตำแหน่งประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน ก่อตั้งขึ้นหลังจากที่ “จาง ซี ฟู” หรือขุนส่า ผู้นำกองทัพเมิงไต หรือ MTA วางอาวุธยอมจำนนต่อรัฐบาลทหารพม่า เมื่อต้นปี 2540 ด้วยสาเหตุสำคัญคือการเข้าไปเกี่ยวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด ทำให้กลายเป็นบุคคลสำคัญที่ทางการสหรัฐ และไทยต้องการตัวมากที่สุด

“ความแตกแยกภายในระหว่างชาวไทใหญ่ และชาวจีน ก็เป็นเหตุหนึ่ง ที่กองทัพเมิงไตล่มสลาย ขุนส่า สนับสนุนให้ชาวจีนได้อยู่ในตำแหน่งที่ดีในกองทัพ ก่อนหน้านั้น เจ้ากานยอดก็นำกำลังแยกตัวออกไปสร้างกองกำลังกู้ชาติของตัวเอง เพราะรับในสิ่งที่ขุนส่า เจรจากับพม่าไม่ได้” เจ้ายอดศึก เปิดเผยถึงเหตุการณ์ก่อนขุนส่าจะวางอาวุธ

มีกำลังทหาร 3 กลุ่มที่ไม่ยอมวางอาวุธตาม “ขุนส่า” คือ กำลังในสังกัดของเจ้ายอดศึก เจ้ากานยอด และเจ้าเสือแท่น แต่ละกลุ่มได้ตั้งกองกำลังของตนเองสู้รบกับรัฐบาลพม่าต่อไป แต่จนปัจจุบันเหลืออยู่เพียง SSA ของเจ้ายอดศึกเพียงกองกำลังเดียวที่ยังต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช

**ปางโหลง สัญญาที่เป็นหมัน
ไทใหญ่เคยมีอาณาจักรปกครองตนเอง โดยมี “เจ้าฟ้า” 33 เมืองปกครองตนเอง ไม่ได้ขึ้นตรงต่อพม่า ในช่วงก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพา อังกฤษได้ยาตราทัพเข้ายึดเมืองไทใหญ่ทั้งหมด และตั้งชื่อให้ใหม่ว่า SHAN STATE โดยปกครองในรูปแบบรัฐในอารักขา แต่ผนวกรวมพม่าเข้าเป็นจังหวัดหนึ่งของอินเดีย

เจ้าฟ้าเมืองไทใหญ่ รวมตัวกันจัดตั้ง “สภารัฐฉาน” ขึ้นเพื่อปลดปล่อยตนเองจากอังกฤษหลังสงคราม แต่คะฉิ่น ฉิ่น และพม่า ได้ขอเข้าร่วมเรียกร้องเอกราชด้วย ตัวแทน 4 ชนชาติ จึงร่วมประชุมกันที่เมืองปางโหลงในรัฐฉาน มีข้อตกลงร่วมกันที่จัดตั้งเป็นประเทศ หลังจากนั้น 10 ปี ทุกชนชาติมีสิทธิที่จะแยกตัวเองออกไปได้ แต่นายพลออง ซาน ตัวแทนไทใหญ่ถูกลอบสังหารระหว่างประชุมร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยเจ้าฟ้าไทใหญ่หลายองค์ นายพลอู นุ ได้ทำการปฏิวัติทันที ทำให้รัฐฉานและรัฐอื่นที่ไม่ใช่พม่า กลายเป็นรัฐของชนกลุ่มน้อยมาตลอด 60 กว่าปี

“อองซาน มาให้สัญญากับชาวไทใหญ่หลายอย่าง ความจริงตอนนั้นรัฐฉานเป็นรัฐอิสระไปแล้ว แต่เพราะเชื่อใจพม่ามากเกินไป การประชุมที่ปางโหลงวันนั้น ถือเป็นวันที่ไทใหญ่โง่ที่สุด” พันโทเจ้ากอนจื้น ผู้บัญชาการทหารภาคเชียงตุงของ SSA รำลึกความหลังที่ขมขื่นของรัฐฉาน

**ตัดเส้นเลือด กองทัพกู้ชาติ
ภายใต้นโยบาย Four Cut หรือนโยบาย 4 ตัดของทางการพม่า คือตัดอาหาร ตัดอาวุธ ตัดเงินทุน และตัดข่าวสาร ที่เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงกองกำลังกู้ชาติ ทำให้ชาวไทใหญ่ต้องทนทุกข์ทรมานต่อการถูกกดขี่ และปราบปรามอย่างรุนแรง ทหารพม่าที่เข้ามาในรัฐฉาน บีบบังคับให้ชาวไทใหญ่อพยพย้ายหมู่บ้านให้ห่างไกลต่ออิทธิพลของ SSA โดยหมู่บ้านไหนที่ไม่ยอมย้าย จะถูกเผาและทำลายข้าวของ มีหลายครั้งที่เด็กหนุ่มชาวไทใหญ่ถูกสังหาร หากทหารพม่าสงสัยว่าจะเติบโตเป็นทหารให้กับกองกำลังกู้ชาติ

หญิงสาวชาวไทใหญ่ ถูกข่มขืนหรือโดนบังคับให้แต่งงานกับทหารพม่าเพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง นโยบาย 4 ตัด จึงเป็นเหมือนใบอนุญาตให้ข่มขืนสาวไทใหญ่ได้อย่างถูกกฎหมาย

“ทหารพม่าที่สามารถเอาสาวไทใหญ่เป็นเมีย จะได้รับการปูนบำเหน็จเลื่อนขั้นแบบก้าวกระโดด ถ้าสามารถแต่งงานกับลูกสาวผู้ใหญ่บ้านหรือระดับกำนัน จะให้ยศนายร้อย แต่ถ้าได้ระดับลูกสาวเจ้าฟ้า จะเลื่อนยศให้เป็นนายพันเลย” พันโทเจ้ากอนจื้น บอกเล่าเรื่องราวนโยบายทารุณกรรมต่อชาวไทใหญ่

**SSA ความหวังของอิสรภาพ
ไทใหญ่ เรียกตนเองว่า “ไต” แต่ชาวพม่า เรียกชาวไทใหญ่ว่า “ฉาน” หรือ “ชาน” โดยจิตร ภูมิศักดิ์ ได้อธิบายไว้ในหนังสือ “ความเป็นมาของคำ ไทย สยาม ลาวและขอมว่า คนพม่าเรียกชาวไทใหญ่ ว่า “ฉาน” โดยเพี้ยนมาจากคำว่า “สยาม” เพราะพม่าออกเสียง “ส” และ “ย” ในภาษาไทย เป็นเสียง “ฉ” หรือ “ช” และออกเสียง “ม” ในภาษาไทย เป็นเสียง “น”

ชาวไต หรือไทใหญ่ ถูกบังคับให้เรียนและใช้ภาษาพม่า โดยโรงเรียนในรัฐฉานไม่ได้รับอนุญาตให้สอนภาษาไต และเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชนชาวไต คนที่อยากเรียนจะต้องแอบเรียนตามวัดไทใหญ่ รวมทั้งพม่ายังทำลายสัญลักษณ์ทุกอย่างที่เกี่ยวกับความเป็น “ไต” เช่น การทุบทำหลายหอคำ หรือวังเมืองเชียงตุง เพื่อสร้างเป็นโรงแรมสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว

“ผมกลับไปไม่ได้ ถ้ากลับก็โดนพม่าฆ่าอย่างเดียว ที่เราต้องรบเพราะพม่ายึดเมืองเรา เผาบ้านเรา ทุกคนอยากสบาย ไม่อยากต้องมานอนกินอยู่ในป่าเขา แต่เราโดนทำลายทุกอย่างแม้แต่วัด ทั้งๆที่พม่าก็เป็นพุทธศาสนิกชนเหมือนกับเรา” พันตรีตืนเคอ ผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 727 บอกถึงสาเหตุที่ต้องมาเป็นทหารกู้ชาติ

กองทัพ SSA มีองค์กรนำทางการเมืองคือ RCSS หรือสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน แบ่งส่วนราชการเป็นฝ่ายงานต่างๆ แบบเดียวกับกระทรวง เช่น ฝ่ายกลาโหม ฝ่ายต่างประเทศ ฝ่ายประสานงานกลุ่มเชื้อชาติ แต่ในส่วนของกองกำลังแบ่งออกเป็นหน่วยต่างๆ ตามภารกิจ คือกองกำลังส่วนหน้า กองพล กองพลน้อย และหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ที่ตั้งชื่อตามวีรบุรุษของชาวไทใหญ่ เช่น กองพันเสือข่านฟ้า กองพันขุนส่างต้นฮุ่ง

พื้นที่ปฏิบัติการของ SSA หลังจากประกาศไม่วางอาวุธยอมจำนนมาถึง 11 ปี ได้ขยายพื้นที่ครอบคลุมร้อยละ 65 ของรัฐฉาน เรียกว่าหายใจรดต้นคอทหารพม่า และกองกำลังว้า ที่ร่วมมือกับพม่าเข้ามายึดรัฐฉาน

“ปฏิบัติการของเรา จะเป็นแบบมวลชนสัมพันธ์ ชาวไทใหญ่ข้างในรัฐฉานส่วนใหญ่ เป็นมวลชนของเรา จ่ายภาษีให้กับกองทัพกู้ชาติแบบลับๆ เราจะขยายพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ โดยล้อมเมืองไว้ แต่ยังไม่เข้าตี เพราะคนที่เดือดร้อนจากสงครามคือพี่น้องชาวไทใหญ่ของเรา แต่หากภายใน 5 ปี พม่าไม่เปิดฉากรบกับเรา เราจะยึดรัฐฉานคืน” เจ้ายอดศึก ผู้นำกองกำลังกู้ชาติ เปิดเผยถึงอนาคตของ SSA

**ความสัมพันธ์ไทย-ไทใหญ่
“คนไทยพูดว่า กินข้าว เราก็พูดว่า กินข้าว เราใช้คำหลายอย่างเหมือนกับภาษาไทย แต่ออกเสียงเหมือนล้านนา แต่ภาษาพม่าไม่เหมือนกับเราเลย ถ้าต้องตกเป็นเมืองขึ้นของใคร เราขอมาเป็นไทยดีกว่าต้องตกอยู่ใต้การปกครองของพม่า” ยอดเมือง ผู้ช่วยฝ่ายต่างประเทศของเจ้ายอดศึก เปิดเผยถึงความในใจ

อาณาจักรในอดีตของไทย กับไทใหญ่มีความสัมพันธ์กันมาอย่างแนบแน่น เจ้าคำก่ายน้อย อดีตกษัตริย์ของชาวไทใหญ่ เป็นสหายร่วมรบกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเพื่ออิสรภาพของไทย และไทใหญ่ เหตุการณ์สวรรคตของพระองค์ ถูกระบุในหนังสือประวัติศาสตร์ของไทใหญ่ว่า “พระนเรศวร ทรงยกทัพขึ้นมาช่วยเจ้าคำก่ายน้อย ที่กำลังทำศึกกับพม่าและจีน ที่เข้ามารุกรานหัวเมืองไทใหญ่ แต่พระนเรศวรเสด็จสวรรตที่เมืองหางก่อน เจ้าคำก่ายน้อยจึงต้องรบเพียงลำพัง จนสิ้นพระชนม์กลางสนามรบในปี พ.ศ. ๒๑๔๘ ณ เมืองแสนหวี”

ทุกวันนี้ นักรบชาวไทใหญ่จะห้อยเหรียญทองรมดำสมเด็จพระนเรศวรไว้ที่คอตลอดเวลา เพื่อเป็นกำลังใจในการสู้รบ หรือไม่ก็มอบให้ลูกหลานที่เป็นแนวหลังไว้ปกปักรักษา ตลอดจนฐานที่มั่นของ SSA ทุกแห่งจะมีศาลสมเด็จพระนเรศวรไว้ให้ชาวไทใหญ่สักการะ เปรียบเสมือนกษัตริย์ของชาวไทใหญ่อีกพระองค์หนึ่ง

แผ่นดินไทยเป็นจุดที่ชาวไทใหญ่ในรัฐฉาน อพยพหนีภัยการกดขี่จากพม่ามากที่สุด เนื่องจากรัฐฉานมีพรมแดนติดกับประเทศไทย บริเวณจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ชาวไทใหญ่ได้รับความร่มเย็นจากแผ่นดินให้พักอาศัยมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 60 ปี กองทัพ SSA ประมาณการว่ามีชาวไทใหญ่ในประเทศไทยมากกว่า 1 ล้านคน โดยจุดที่ถือเป็นเมืองไทใหญ่อีกเมืองหนึ่ง คืออำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งคนไทใหญ่บางส่วนได้รับบัตรประชาชนไทยเรียบร้อยแล้ว โดยลูกหลานทุกคนที่เป็นผู้ชาย หากไม่เข้ามาเป็นทหารในกองทัพ SSA ก็ถูกเกณฑ์ทหารรับใช้กองทัพไทย

“ผมเคยเป็นทหารคุ้มกัน ถวายความปลอดภัยองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ร่วมกับกำลังทหารของไทย สมัยที่พระองค์ท่านเสด็จมาประทับที่อำเภอเวียงแหง พอผมมาเป็นผู้นำกองทัพ ก็ได้จัดงานเฉลิมพระชนมพรรษาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกปี” เจ้ายอดศึก กล่าว

บ้านของชาวไทใหญ่ในเขตอิทธิพลของ SSA จะมีพระบรมฉายาลักษณ์ของ “ในหลวง” ติดไว้ทุกบ้าน และถวายความเคารพในฐานะเป็นพระมหากษัตริย์ของชาวไทใหญ่ เช่นเดียวกับชาวไทย แต่ชาว “ไต” ที่มีเชื้อสายใกล้ชิดกับคน “ไทย” ยังต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่ออิสรภาพของรัฐฉาน และอิสรภาพของตนเอง จนกว่าพม่าจะยอมรับว่าพวกเขาเป็น “ชาติ” ที่มีความเท่าเทียมกับพม่า.

(โปรดติดตามตอนที่ 2 ฉบับพรุ่งนี้)



กำลังโหลดความคิดเห็น