xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ “หมอแว” กับนโยบายดับไฟใต้- “เราไม่ได้นิ่งนอนใจพยายามผลักดันทุกเรื่องเท่าที่จะทำได้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่...รายงาน

“หมอแว” นพ.แวมาฮาดี แวดาโอะ แกนนำกลุ่มสัจจานุภาพ สังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน ได้นำเสนอนโยบายแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยครอบคลุมปัญหาทุกด้านทั้งความมั่นคงเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสาธารณสุข แม้ว่าแนวคิด 43 แรงบันดาลใจจะเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่ แต่ในภาพรวมแล้วปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาของคนไทยทั้งประเทศเพราะตลอด 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลต้องทุ่มงบประมาณแก้ปัญหาไปแล้วนับแสนล้านบาท และมั่นใจว่า หากดำเนินการตามแนวคิดดังกล่าว ภายในระยะเวลา 2 ปีสถานการณ์จะสงบ


สำหรับรายละเอียดของ 43 แรงบันดาลใจของกลุ่มสัจจานุภาพ ซึ่งเป็นนโยบายเชิงสร้างสรรค์ที่จะนำพาไปสู่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคใต้อย่างยั่งยืน พร้อมๆ กับพัฒนาให้ภาคใต้มีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมในฐานะพลเมืองไทยเต็มขั้นของประเทศ อาทิ การจัดตั้งศูนย์ผดุงความยุติธรรมในแต่ละท้องถิ่น เพื่อแก้ไขการไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม การจัดตั้งศูนย์ลองกองโลกที่ จ.นราธิวาส

ศูนย์อัญมณีที่สายบุรี โรงงานเย็บผ้าคุลมผมที่ใหญ่ที่สุดใน 3 จังหวัด โรงรับจำนำฮาลาล เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ การผลักดันให้ มอ.ปัตตานี เป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นเอกเทศ จัดตั้งศูนย์จีนศึกษาที่เบตง ศูนย์ภาษาอังกฤษที่ อ.สุไหงโก-ลก สร้างความมั่นคงในวิชาชีพครู สร้างศูนย์วิชาชีพครูที่ยะลา เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาในภาคใต้โครงการ 1 แพทย์ 1 หมู่บ้าน 1 ตำบล 1 ทันตภิบาล ศาสนบำบัด เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น

นโยบายดังกล่าวนับว่าได้รับการตอบรับจากสังคมค่อนข้างมากในแง่ของความเป็นรูปธรรม หลายฝ่ายคาดหวังว่าหากนำนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติจะช่วยลดปัยหาความขัดแย้งลงได้ในระดับหนึ่งอย่างแน่นอน ซึ่งหลังการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อแผ่นดินได้เข้าร่วมกับรัฐบาลแต่ไม่มี ส.ส.คนไหน ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ประกอบกับบทบาทของ “หมอแว” ที่หายหน้าหายตาไปจากการรับรู้ของประชาชนในพื้นที่ ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วสัญญาประชาคมที่ “หมอแว” เคยให้ไว้เป็นแค่ความฝันลมๆ แล้งๆ หรือย่างไร “ผู้จัดการรายวัน” มีโอกาสได้พูดคุยและคลายข้อข้องใจเหล่านั้น ในบรรยากาศที่ความรุนแรงของปัยหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มร้อนระอุขึ้นมาอีกคำรบหนึ่ง

ผู้สื่อข่าว - นโยบาย 43 ข้อ ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นรูปธรรมที่สุด และเคยประกาศเป็นสัญญาประชาคมไว้ ขณะนี้เริ่มถูกทวงถามจากประชาชนแล้วว่าเมื่อไหร่จะมีการนำมาปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา บางคนถามว่า “หมอแว” หายไปไหน?

หมอแว - นโยบาย 43 ข้อดังกล่าวเป็นนโยบายที่กลุ่มสัจจานุภาพทำขึ้นมานำเสนอต่อพรรคเพื่อแผ่นดิน ก่อนการเข้าร่วมสังกัดพรรค เป็นนโยบายที่ครอบคลุมทุกด้าน ตอนนั้นเราคาดการณ์ว่าหลังเลือกตั้งแล้วพรรคเพื่อแผ่นดินน่าจะเป็น 1 ใน 3 พรรคการเมืองที่เป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อเราจะได้บรรจุนโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายหลักในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

แต่หลังจากเลือกตั้งผลออกมาพรรคเพื่อแผ่นดินมีจำนวน ส.ส.ไม่มากพอ อำนาจในการที่จะกำหนดเรื่องต่างๆ ก็คลาดเคลื่อนไปจากที่คาดหวัง นโยบายหลักๆ จึงมาจากพรรคพลังประชาชนที่เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล แต่พรรคเพื่อแผ่นดินก็มีการหารือกันแล้วว่าหากนโยบายไหนที่เกี่ยวข้องกันก็จะพยายามผลักดันให้ถึงที่สุด

ผู้สื่อข่าว - ตอนนี้พรรคเพื่อแผ่นดินพยายามทำอะไรบ้างเพื่อผลักดันนโยบายต่างๆ ที่เคยประกาศไว้

หมอแว - สิ่งที่เราทำคือเริ่มจากในส่วนที่ ส.ส.ของพรรคมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบอยู่ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมที่มี ท่านสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นรัฐมนตรี เรากำลังเร่งผลักดันโครงการส่งเสริมอาชีพด้านอุตสาหกรรมผ้าคลุมศีรษะให้กับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งส่วนนี้เป็น 1 ในนโยบายที่เราเคยประกาศไว้ ท่านสุวิทย์ ให้การสนับสนุนเต็มที่ เพื่อจัดตั้งเป็นอุตสาหกรรมชุมชน ครอบคลุม 2 พันชุมชนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะมีการจัดหาจักรอุตสาหกรรมให้ ตลอดจนสนับสนุนเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และจัดหาช่องทางในการจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้าน ในส่วนของความมั่นคงอยู่นอกเหนือที่เราจะกำหนดได้ แต่จะนำเรื่องนี้ไปพูดในสภาด้วยอย่างแน่นอน

ผู้สื่อข่าว - มีการกำหนดรูปแบบการสื่อสารและระดมความคิดเห็นจากภาคประชาชนอย่างไรบ้าง เพื่อให้ช่วยกันผลักดันนโยบายของพรรค

หมอแว - ปกติจะมีการจัดเวทีพบปะชาวบ้านในทุกๆ วันศุกร์ ส่วนใหญ่จะเป็นการรับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน โดยเฉพาะการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นปัญหาใหญ่ที่ชาวบ้านร้องเรียนว่าถูกละเมิดมากที่สุด และในทุกๆ เดือนจะมีการเรียกตัวแทนชาวบ้านจากทุกพื้นที่ร่วมหารือกันในเวทีทบทวนนโยบายทั้ง 43 ข้อ ว่ามีประเด็นไหนบ้างที่เราพอจะผลักดันได้ในขณะนี้

นอกจากนี้ มีการเดินสายพบปะกับรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนที่มีคนของพรรคเพื่อแผ่นดินดูแลอยู่ ตามแผนคือเรากำลังจะไปที่กระทรวงการคลัง เพื่อขอให้สนับสนุนที่ดินราชพัสดุเพื่อสร้างเป็นสนามกีฬาประจำท้องถิ่น ขอการสนับสนุนจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดตั้งโรงรับจำนำฮาลาล ซึ่งเป็นโรงรับจำนำตามหลักศาสนาอิสลาม และขอการสนับสนุนจากรัฐมนตรีว่าการระทรวงยุติธรรมเพื่อผลักดันโครงการผู้ช่วยทนายความ ซึ่งทานรัฐมนตรียินดีที่จะให้ความช่วยเหลือ

ผู้สื่อข่าว - แสดงว่า เราเองก็ยังพยายามผลักดันโครงการต่างๆ ตามที่เสนอไว้ ทำเท่าที่ทำได้

หมอแว - ก่อนการเลือกตั้งเราได้นำเสนอนโยบายไปแล้ว แม้เราจะมีจำนวน ส.ส.ไม่มากนัก มีอำนาจต่อรองไม่มาก แต่เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามผลักดันทุกๆ เรื่องที่เราสามารถทำได้ ในส่วนของความร่วมมือจากพรรคการเมืองอื่นเมื่อ 2 วันก่อนผมเองก็ได้รับการติดต่อจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อหารือเรื่องการเสนอญัตติการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นญัตติเร่งด่วน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทุกฝ่ายก็ให้ความร่วมมือกันอย่างดี

ผู้สื่อข่าว - ในส่วนของภาคประชาสังคมในพื้นที่มีการประสานงานกันอย่างไรบ้าง

หมอแว - สำหรับภาคประชาสังคมเราประสานกับหมออนันตไชย (ไทยปาทาน) ตลอด เรื่องข้อมูลต่างๆ ตลอดจนเครือข่ายภาคประชาชนทุกเครือข่าย หลังเลือกตั้งแล้วก็ยังคงมีการประสานงานกันเพื่อหาวิธีการผลักดันนโยบาย โดยวิธีคิดของเราก็คือให้ภาคประชาสังคมเป็นเจ้าภาพในการจัดเวทีแล้วเชิญทุกๆ ฝ่ายมาร่วมหารือกันในการแก้ปัญหา

ผู้สื่อข่าว - คุณหมอมองท่าทีของรัฐบาลแล้วคิดว่าเขามีความจริงจังแค่ไหนในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะขณะนี้สังคมเริ่มตั้งคำถามแล้ว ที่ว่าจะให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ แต่รัฐยังไม่มีอะไรชัดเจนออกมาเลย

หมอแว - วันที่รัฐบาลอภิปรายนโยบายมีการตั้งข้อสังเกตว่านโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่มีอะไรใหม่ มีการกำหนดการแก้ปัญหาในวิธีการเดิมๆ รับบาลจะต้องทำความเข้าใจวิธีคิดในการแก้ปัญหานี้ของทุกๆ ฝ่ายถ้าไม่พยายามเข้าใจรัฐก็จะคิดนอกกรอบไม่ได้ ยังคงแก้ปัญหาแบบเดิมๆ มันก็ไม่สำเร็จ

กรณี มท.1 พูดเรื่องเขตปกครองพิเศษ เชื่อว่า เป็นความคิดส่วนตัว เพราะรัฐบาลไม่มีแนวนโยบายที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสนอ ทันทีที่เสนอออกไปก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ สะท้อนให้เห็นว่าแม้แต่คำว่าเขตปกครองพิเศษรัฐก็ยังไม่สามารถสร้างความเข้าใจที่ตรงกันได้ ไม่มีการวิเคราะห์ว่าเสนอไปแล้วจะกระทบกับความรู้สึกของคนอย่างไร แต่ละฝ่ายจะคิดอย่างไร

ผู้สื่อข่าว -
จนถึงขณะนี้คุณหมอมองว่ารัฐบาลจริงใจหรือไม่กับการแก้ปัญหานี้ เพราะการออกมาให้สัมภาษณ์ของผู้ใหญ่บางคนเหมือนกับจนแต้มแล้วโยนปัญหาให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบ โดยไม่มีการทบทวนนโยบายาเดิม และไม่มีนโยบายใหม่มาเป็นกรอบในการปฏิบัติ

หมอแว - รัฐบาลคงสับสน ไม่รู้ว่าคิดอะไรอยู่ ถามว่าจริงใจมั้ยตรงนี้ก็น่าคิด การเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมแก้ปัญหาก็ยังน้อย รัฐยังใช้กรอบคิดแบบเดิมๆ ไม่มีอะไรใหม่ ความคิดเก่าๆ มันใช้แก้ปัญหาไม่ได้อยู่แล้ว ผมสลดใจที่แม้แต่ในสภาฯ เองก็มีการถกเถียงกันว่าจะให้เรื่องการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำที่ภาคอีสานกับปัญหาชายแดนใต้ เรื่องไหนเป็นเรื่องเร่งด่วน ส.ส.ผู้ทรงเกียรติหลายคนยังให้น้ำหนักกับการแก้ปัญหาน้อยไป จริงอยู่เรื่องขาดแคลนน้ำส่งผลต่อการประกอบอาชีพของคนจำนวนมาก แต่ที่นี่เรากำลังจะสูญเสียดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าว - คิดว่ารัฐบาลควรดำเนินการเรื่องใดโดยด่วนที่สุดเพื่อแก้ปัญหานี้

หมอแว - เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำ คือ นำผลการศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่มีการศึกษาไว้แล้ว มาวิเคราะห์แล้วนำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม หลายส่วนได้มีการศึกษาปัญหามานานแล้ว พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขเพียงแต่ยังไม่มีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง มีแต่พยายามจะตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาปัญหาต่อไปอีก ซึ่งไม่รู้ว่าจะศึกษาอีกทำไมในเมื่อมีองค์ความรู้อยู่แล้วมากมาย เช่น ข้อเสนอของ กอส.รัฐบาลแต่ละสมัยไม่เคยคิดที่จะนำมาสรุปแล้วไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง

ผู้สื่อข่าว - อยากฝากอะไรไปถึงชาวบ้านในพื้นที่ ที่มีความหวัง ความเป็นห่วง และกำลังตั้งคำถามในขณะนี้ว่าคุณหมอหายไปไหน

หมอแว - เนื่องจากเราเป็นพรรคเล็กๆ มีข้อจำกัดในการทำงาน แต่เราก็พยายามทำทุกๆ ทางเพื่อผลักดันนโยบายที่เคยประกาศไว้ให้เดินหน้าไปได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขอขอบคุณที่หลายฝ่ายมีความหวัง เห็นด้วย และเอาใจช่วยเรา
กำลังโหลดความคิดเห็น