ความแรงของ "ยูคาลิปตัส" ยังคงมีต่อเนื่องและควบคู่ไปกับการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมจากผู้มีอำนาจทั้งหลาย นอกจากไม้เศรษฐกิจพันธุ์เก่าที่ถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นมาใหม่จะผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดไปทั่วผืนแผ่นดินไทยแล้ว "ยูคารีสอร์ท" สถานที่พักผ่อนชั่วค่ำชั่วคืนในเมืองแปดริ้วก็เสมือนเสาเข็มที่ตอกย้ำกระแส "ไม้ยูคา" ได้เป็นอย่างดี
"ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" มีโอกาสได้รู้จักกับ "ยูคารีสอร์ท" จากหมายเชิญทำข่าวการประชุมเชิงปฏิบัติการ "การบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่กลุ่มจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก" ระหว่างวันที่ 18-19 มี.ค.51 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมวังธารา จ.ฉะเชิงเทรา จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
แม้การประชุมเชิงปฏิบัติการจะจัดขึ้นที่โรงแรมวังธาราแต่เจ้าหน้าที่ได้จัดให้สื่อมวลชนเข้าพัก ณ รีสอร์ทที่มีชื่อเก๋ไก๋ซึ่งอยู่ภายในจังหวัดเดียวกัน
แรกได้ยินชื่อรีสอร์ทหลายคนอาจตั้งคำถามไปต่างๆ นานา บ้างสงสัยว่ารีสอร์ทแห่งนี้สร้างจากไม้ยูคาลิปตัสหรือไม่? บ้างจินตนาการว่าบรรยากาศของรีสอร์ทคงแห้งแล้งเนื่องจากการปลูกยูคาลิปตัส
แต่ไม่ว่าจะจินตนาการอย่างไรผู้สื่อข่าวกว่า 10 ชีวิตซึ่งร่วมเดินทางไปทำข่าวของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในครั้งนี้ก็ได้พิสูจน์ด้วยสายตาตัวเองแล้วเหมือนหรือต่างไปจากที่แต่ละคนคิดเพียงใด
สำหรับชาวกรุงที่มุ่งหน้าไปนมัสการหลวงพ่อโสธรด้วยเส้นทางมอเตอร์เวย์ปากทางสู่รีสอร์ทดังกล่าว ซึ่งติดป้ายโฆษณาตรงปากซอยถนนลูกรังว่า "โรงแรมบริการ 24 ชั่วโมง" โดยเมื่อผ่านเข้าไปเป็นระยะทางกว่ากิโลเมตร ที่สองข้างทางขนาบด้วยท้องทุ่งนาเข้าไปจะพบรีสอร์ทที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยว ภายในปลูกต้นยูคาลิปตัสตกแต่งรอบๆ และด้านหลังของรีสอร์ทก็มีแปลงปลูกยูคาที่ประเมินด้วยสายตาอย่างหยาบๆ น่าจะเป็นพื้นที่หลายสิบไร่
สถานที่พักแรมสำหรับสื่อมวลชนที่ติดตามทำข่าววิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ เป็นรีสอร์ทเปิดใหม่ที่เพิ่งให้บริการได้ 2-3 เดือน มีห้องพักทั้งหมด 30 ห้อง โดยอัตราค่าบริการค้างคืนๆ ละ 700 บาทและสำหรับชั่วครั้งคราวละ 350 ซึ่งเจ้าหน้าที่รีสอร์ทให้ข้อมูลว่าเนื่องจากเพิ่งเปิดใหม่จึงมีผู้ใช้บริการไม่มากนัก โดยเฉลี่ยมีประมาณวันละ 10-15 คัน
การตกแต่งของรีสอร์ทเป็นลักษณะเรียบง่าย โดยทั้ง 30 ห้องเรียงเป็นห้องแถว 2 ฝั่งและแต่ละห้องมีกำแพงกั้นดูเป็นสัดเป็นส่วน ที่สำคัญในแต่ละห้องจะสัญญาณไฟเหนือประตูที่ระบุให้ทราบว่าห้องใดที่มีผู้ใช้บริการอยู่
อย่างไรก็ดีทางสื่อมวลชนชายที่มีประสบการณ์ใช้ชีวิตโลดโผนก็โพล่งขึ้นทันทีที่เห็นสภาพของที่พักดังกล่าวว่า "โรงเชือดชัดๆ" แต่ก็ยังไม่เป็นที่เข้าใจนักสำหรับสื่อมวลชนหญิง ขณะที่บางคนก็อบกระซิบบอกเพื่อนข้างๆ ว่าคือ "โรงแรมม่านรูด"
จนเป็นที่กระจ่างเมื่อสื่อมวลชนหญิงคนหนึ่งได้สอบถามเจ้าหน้าที่ผู้ใกล้ชิดรัฐมนตรีตอนตกค่ำในช่วงเวลาอาหารเย็นที่ค่อนดึกว่าสถานที่พักนั้นดูเหมือนโรงแรมม่านรูดซึ่งก็ได้รับคำยืนยันกลับมาว่า "ไม่เหมือนแต่ใช่เลย"
ข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้หลายคนรู้สึกร้อนใจหรือแม้แต่สื่อมวลชนชายเองก็ไม่สบายใจ เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ว่าใครเป็นผู้เลือกสถานที่พักดังกล่าวก็ได้คำตอบแบบโยนกันไป-มาว่าเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดกระทรวงฯ ซึ่งแจงว่าเป็นความคิดของผู้ใกล้ชิดรัฐมนตรี ตกดึกในคืนก่อนกำหนดทำข่าววันรุ่งขึ้นสื่อมวลชนหลายคนจึงได้จับกลุ่มพูดคุยกันโดยไม่พักผ่อน ขณะที่สื่อมวลชนบางส่วนก็เดินทางออกไปหาที่พักใหม่
แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องราวที่เป็นวิทยาศาสตร์แต่การเข้าพัก "ยูคารีสอร์ท" ก็เป็นเรื่องข้างเคียงของการนำเสนอข่าววิทยาศาสตร์ อีกทั้งยังสอดคล้องกับการสนับสนุนให้มีการปลูกยูคาลิปตัสในรัฐบาลสมัยปัจจุบัน
ที่สำคัญอาจเป็นการสะท้อนนัยๆ ถึงความมุ่งมั่นของ "วุฒิพงศ์ ฉายแสง" รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อยูคาลิปตัสก็เป็นได้.