xs
xsm
sm
md
lg

“สมัคร”เล็กปลูกไม้ยูคาฯ เตรียมนำถกใน ครม.วันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สมัคร” เล็งส่งเสริมปลูกป่ายูคาลิปตัส เตรียมนำหารือ ครม.วันนี้ ด้าน “วุฒิพงษ์” อ้างเหตุหนุนปลูกยูคาฯ เพราะกำลังจะวิจัยเพื่อนำมาผลิตน้ำมันดีเซล พร้อมผลักดันให้เกษตรกรปลูกตามคันนา ระบุขายได้ทั้งไม้และทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเตรียมดันปลูกพืช “จีเอ็มโอ” ที่ไม่ใช่อาหาร บอกกลัวตกขบวนกระแสโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 15.00 น. วานนี้ (19 ก.พ.) ระหว่างประชุมรัฐสภา เพื่ออภิปรายนโยบายรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ออกจากห้องประชุม เพื่อพบกับนายพิรัตน์ นครินทร์ นายกสมาคมรณรงค์ปลูกป่าภาคเอกชนแห่งประเทศไทย โดยนายพิรัตน์ ได้เสนอให้รัฐบาลส่งเสริมการปลูกต้นยูคาลิปตัส ตามที่นายวุฒิพงษ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเคยเสนอ

นายสมัคร กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า นายพิรัตน์ มาพบเพื่อขอให้ส่งเสริมปลูก ยูคาลิปตัส ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีปัญหา วันนี้ (20 ก.พ.) หลังการประชุม ครม.จะมีสารคดี ยูคาลิปตัสมาเล่าให้ฟัง

ด้าน นายพิรัตน์ กล่าวว่า มาเสนอแนวคิดปลูกยูคาลิปตัสให้นายสมัครทราบ เพราะเคยทดลองปลูกมาแล้วและได้ผลดี ซึ่งไม่มีผลเสียตามที่มีข่าวเสนอเลย ยูคาลิปตัสจะสร้างรายได้ให้ประเทศด้วยซ้ำ ขอให้รอดูเดือนเม.ย.จะมีข่าวดี

ขณะที่ นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่านโยบายด้านพลังงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตนจะพัฒนาวิจัยเกี่ยวกับการนำไม้ยูคาลิปตัส มาเผาไหม้เป็นเชื้อเพลิงผ่านความร้อนสูงให้ได้น้ำมันดีเซล ถือเป็นสิ่งที่ดีเพราะขณะนี้ ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาน้ำมันแพง ซึ่งไทยสามารถปลูกยูคาลิปตัสได้ในต้นทุนต่ำปลูกเพียง 1 ปีสามารถเก็บเกี่ยวได้

“ขณะนี้น้ำมันราคาแพง ถ้าปลูกยูคาแล้วขายเป็นพลังงานได้ จะเกิดรายได้ มากกว่าการปลูกข้าว เช่น ปลูกในคันนาจะได้ไม้ยูคาฯ15 ตันต่อไร่ แถมยังได้ข้าวด้วย และยังทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มสูงขึ้น เพราะไม่เกิดปัญหาศัตรูพืช และ ช่วยป้องกันลมแรง ทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นมา 4 เท่านี้คือความรู้ทางวิทยาศาสตร์ฯ เฉพาะทุ่งกุลาร้องไห้ปลูกอยู่ 60 กว่าล้านไร่ ให้กำลังการผลิต ข้าว 400 กิโลกรัมต่อไร่ จากเดิม 115 กิโลกรัมต่อไร จากการปลูกยูคาฯเพื่อแก้ไขปัญหาดินเค็มและ ความชื่นสัมผัสสูง โดยเริ่มปลูกพันธุ์ใหม่เมื่อปี 2547 ซึ่งเป็นพันธุ์ตรง และในขณะนี้อาชีพ การปลูกข้าวเป็นอาชีพรอง แต่การปลูกยูคาฯกลายเป็นอาชีพหลัก เพราะเกิดรายได้สูง ในขณะที่กระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนการปลูกยูคาฯตั้งแต่ปี 48 สมัยที่ตนเป็นที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ”

นอกจากนี้จะสนับสนุนให้ทดลองและปลูกพืชจีเอ็มโอในพืช ที่ไม่ใช่พืชอาหาร อย่างในประเทศแถบยุโรป ต้องยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงทางพันธุ์กรรมของพืช มีการ เปลี่ยนแปลงในองค์ประกอบมาโดยตลอด ทางโมเลกุล และ เคมี แต่การดัดแปลง พันธุกรรมแบบจีเอ็มโอเป็นเพียงการเร่งการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของพืชเท่านั้น

“ทั่วโลกทำกันหมด ถ้าเราไม่ทำถามว่าเรากลัวอะไร จะมากลัวแค่เฉพาะเอ็นจีโอ ที่คิดไปคนเดียว คงทำไม่ได้ แต่ต้องคิดร่วมกัน เพราะเราเป็นห่วงประเทศชาติเหมือนกัน ไม่ใช่องค์กรอิสระองค์กรใดองค์กรหนึ่งห่วงอยู่ฝ่ายเดียว”
กำลังโหลดความคิดเห็น