xs
xsm
sm
md
lg

สมเป็น รมต.วิทย์ "วุฒิพงศ์" ยกงานวิจัยโต้ "ยูคา" ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"วุฒิพงศ์" แจงกรณีปลุกผียูคาลิปตัสทำพลังงาน หยิบงานวิจัยจากวุฒิสภายันยูคาลิปตัสไม่ป็นพิษหรือแย่งธาตุอาหารพืชอื่น ย้ำไม่ได้บอกให้ปลูกได้ทุกที่ แต่ปลูกในที่ที่มีน้ำเพียงพอ ระบุเคยพาทีม ส.ส.ดูงาน ทุกคนต่างพอใจ แถมช่วยเกษตรกรเสริมรายได้ ลดพึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิลแก้โลกร้อน

หลังจากนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) คนใหม่ได้ประเดิมให้ความคิดเห็นถึงการปลูกต้นยูคาลิปตัสเพื่อผลิตเชื้อเพลิงเหลวเพื่อแกัไขวิกฤติพลังงานจนเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับถึงการปลุกผียูคาลิปตัสซึ่งกังวลว่าจะทำลายสมดุลในระบบนิเวศ โดยเฉพาะการเป็นพืชที่ใช้น้ำมาก เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต และแย่งธาตุอาหารของพืชข้างเคียงไปหมด

ล่าสุด นายวุฒิพงศ์ ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 ก.พ.51 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อแก้ข่าวดังกล่าวว่า ปัจจุบันมีนักวิจัยไทยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน พัฒนาสายพันธุ์ต้นยูคาลิปตัสจนได้สายพันธุ์ผลผลิตสูงที่ปรับตัวเข้ากับระบบนิเวศประเทศไทยได้แล้ว 
 
ที่สำคัญ ระบบนิเวศรอบข้างต้นยูคาลิปตัสยังสามารถปรับตัวเข้ากับยูคาลิปตัสได้ดีจนไม่ได้รับผลกระทบใดๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นปลาในบ่อน้ำใกล้เคียงหรือแม้แต่มดแดงก็ยังไปทำรังอยู่บนใบยูคาลิปตัสได้

อย่างไรก็ดี ต่อข้อโต้แย้งว่ายูคาลิปตัสเป็นพืชที่ใช้น้ำมาก เขาปฏิเสธว่า ไม่ได้บอกให้มีการปลูกต้นยูคาลิปตัสได้ทุกที่ แต่ควรปลูกในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำมากเพียงพอเพื่อไม่เป็นการแย่งน้ำจากพืชข้างเคียง โดยแนวคิดที่นำเสนอคือการปลูกต้นยูคาลิปตัสตามคันนาที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งจะโตเร็วกว่าการปลูกบนที่ดอนถึง 5 -8 เท่า
 
ผลผลิตไม้ยูคาลิปตัวที่ได้จะทำให้เกิดรายได้เพิ่มจากการปลูกข้าวสูงถึง 6,000 บาท/ไร่/ปี จากผลผลิตเนื้อไม้ยูคาลิปตัส 5 ตัน/ไร่/ปี ซึ่งมีราคารับซื้อในอุตสาหกรรมผลิตกระดาษตันละ 1,200 บาท เทียบกับแต่เดิมที่ชาวนาจะมีรายได้จากการปลูกข้าวอย่างเดียวที่ 2,000 บาท/ไร่/ปี

ส่วนประเด็นที่ต้นยูคาลิปตัวจะดูดธาตุอาหารจากดินมาก เขาชี้ว่า สามารถใช้เปลือกของต้นยูคาลิปตัสซึ่งเป็นตัวเก็บสะสมธาตุอาหารมากมายมาใช้เป็นปุ๋ยหมักแร่ธาตุสูงเพื่อทดแทนธาตุอาหารในพื้นที่ปลูกได้ โดยตลาดการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ของญี่ปุ่นมีความต้องการปุ๋ยหมักจากเปลือกยูคาลิปตัสมากจนผลิตไม่พอส่งออก แถมแนวต้นยูคาลิปตัสยังเป็นตัวกั้นลมทำให้การผสมเกสรของต้นข้าวดีขึ้น ผลผลิตข้าวจึงดีขึ้นไปด้วย
 
นอกจากนี้ สมัยที่เขาเคยเป็นกรรมาธิการด้านการเกษตรของรัฐสภา ยังเคยนำทีม ส.ส.พรรคไทยรักไทยกว่า 20 คน มีนายอดิศร เพียงเกษ รมช.เกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้นร่วมดูการปลูกยูคาลิปตัสด้วย ก็พบว่าเป็นที่สนใจมาก

ส่วนประเด็นที่นำเสนอเป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ เขาเผยว่า ส่วนต่างๆ ของต้นยูคาลิปตัสยังสามารถนำไปผลิตเชื้อเพลิงเหลวที่มีคุณสมบัติคล้ายน้ำมันเบนซินได้ ซึ่งนายวุฒิพงศ์ ชี้ว่า ตัวเองในฐานะ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ต้องการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน จึงเห็นว่าการปลูกพืชโตเร็วอย่างยูคาลิปตัสเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ต้องพึ่งเชื้อเพลิงฟอสซิลได้
 
สำหรับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีหน้าที่สนับสนุนเชิงวิชาการ จึงมีแนวคิดจะพัฒนาเครื่องต้นแบบที่เปลี่ยนสารประกอบไฮโดรคาร์บอนในเนื้อไม้ให้ระเหิดและควบแน่นกลายเป็นเชื้อเพลิงเหลวได้ โดยยังทราบด้วยว่าที่ประเทศญี่ปุ่นเวลานี้ยังได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้นกว่านี้ได้แล้วซึ่งจะได้มีการศึกษาต่อไป

นายวุฒิพงศ์ ปฏิเสธด้วยว่า เขาไม่ได้ส่งเสริมให้มีการปลูกยูคาลิปตัสแต่อย่างใด เพราะกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นหน่วยงานให้ความรู้เชิงวิชาการ แต่หากมีการส่งเสริมการปลูกจริงก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะนำเรื่องนี้เสนอไปให้กระทรวงเกษตรฯ และรัฐบาลได้ทราบเพื่อให้เกิดระบบรองรับและเป็นกำลังใจให้เกษตรกรต่อไป
 
ขณะที่ความต้องการขยายพื้นที่ปลูกเพื่อรองรับการผลิตพลังงาน นายวุฒิพงศ์ ขยายความต่อว่า ปัจจุบันสามารถขยายพื้นที่ปลูกยูคาลิปตัสในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มได้อีกถึง 31 -32 ล้านไร่ โดยจะทดแทนการนำเข้าพลังงานนับล้านล้านบาท/ปี ซึ่งการปลูกต้นยูคาลิปตัสจะมีต้นทุนการปรับพื้นที่คันนาและซื้อกล้ายูคาลิปตัสรวมกันเพียง 25 บาท/ต้น โดยเอกชนในประเทศจะสามารถผลิตกล้ารวมกันได้มากถึง 1,000 ล้านกล้า/ปี

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ระหว่างการแถลงข่าว นายวุฒิพงศ์ยังสั่งให้เจ้าหน้าที่สำเนาเอกสาร "ไขข้อข้องใจปัญหาต่างๆ ด้านระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของไม้ยูคาลิปตัส" จัดทำโดยคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานปลูกไม้เศรษฐกิจ ตาม พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 ในคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน วุฒิสภา เมื่อ เม.ย.2548 แจกจ่ายแก่ผู้สื่อข่าวเพื่อยืนยันถึงสิ่งที่เขาพูดด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น