xs
xsm
sm
md
lg

"รมต.เงา" จวก "รมต.จริง" : คิดให้เป็นวิทยาศาสตร์-ศึกษาให้มั่นใจก่อนปลูกยูคา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รัฐบาลเงาจวก "วุฒิพงศ์" ท้าอาจไม่ทำจริงตามพูดกรณีปลูกต้นยูคาฯ เสริมพลังงาน ย้อนให้เจ้าตัวคิดเป็นวิทยาศาสตร์ก่อนแนะผู้อื่น ย้ำต้องทำวิจัยผลได้ -ผลเสียจนแน่ใจก่อนส่งเสริมเกษตรกร เชื่อปลูก "กระถิน -ไผ่" ได้ผลดีไม่แพ้กัน แถมไม่ต้องคอยระแวงผลร้าย

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช สส.พรรคประชาธิปัตย์ รัฐมนตรีเงากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เงานัดแรกเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 11 ก.พ.51 ว่า จากการที่นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วท.ของรัฐบาลสมัคร 1 ได้หยิบเรื่องการปลูกยูคาลิปตัสเพื่อเป็นแหล่งพลังงานมากล่าวถึงตั้งแต่ก่อนการแถลงนโยบายนั้น ได้มีการหยิบยกมาพูดถึงในการประชุมครม.เงาด้วย

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.เงาได้ตั้งข้อสังเกตกันถึงสิ่งที่นายวุฒิพงศ์พูดว่า นายวุฒิพงศ์อาจจะไม่ได้นำเรื่องดังกล่าวมาแถลงนโยบายต่อรัฐสภาจริงๆ เมื่อถึงเวลาจริงในวันที่ 18 ก.พ.51 ก็ได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ได้กำหนดให้นโยบายแต่ละชิ้นของรัฐบาลจะต้องกำหนดวันเริ่มต้น วันสิ้นสุด และงบประมาณในโครงการอย่างชัดเจน ดังนั้นสิ่งที่นายวุฒิพงศ์พูดในตอนนี้จึงอาจเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น รัฐบาลเงาจึงไม่เห็นความสำคัญเท่าไรนัก

นอกจากนั้น จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใน ครม.เงาต่อเรื่องดังกล่าว ดร.คุณหญิงกัลยา ฝากไปยังนายวุฒิพงศ์ด้วยว่า อยากให้เขากลับไปคิดให้เป็นวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้นดังที่เขาได้เรียกร้องให้เยาวชนไทยคิดเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลเงาจะเห็นด้วยกับการปลูกพืชโตเร็วเพื่อเป็นทางออกของปัญหาพลังงาน แต่อยากแนะนำว่าการส่งเสริมปลูกยูคาลิปตัสนั้นไม่ควรผลีผลามส่งเสริมให้ปลูกในทันที

แต่ควรมีการศึกษาวิจัยยูคาลิปตัสให้รอบคอบมากกว่านี้ก่อน เพราะยังไม่อาจชี้ชัดในหมู่นักวิชาการตลอดจนเกษตรกรผู้ปลูกได้ว่าการปลูกยูคาลิปตัวจะเป็นพระเอกหรือเป็นผู้ร้ายกันแน่ ดังที่มีคำพูดว่า "ดินที่เลวที่สุดคือดินที่ปลูกต้นยูคาลิปตัสแล้ว"

พร้อมกันนี้ ดร.คุณหญิงกัลยา เสนอทางเลือกด้วยว่า หากจะแก้ไขวิกฤติพลังงานจริงๆ ยังมีพืชโตเร็วอื่นที่เหมาะสมกว่ายูคาลิปตัสมาก โดยจะให้ค่าความร้อนพอๆ กันแต่ไม่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์ในพื้นที่ปลูก เช่น กระถินเทพา กระถินยักษ์ และกระถินณรงค์

หรือแม้แต่การปลูกยูคาลิปตัสเอง ดร.คุณหญิงกัลยา แนะว่า ก็มีหลากหลายสายพันธุ์ให้เลือกปลูกนับร้อยๆ สายพันธุ์ และหากมีวิธีบริหารจัดการการปลูกที่ดีแล้วก็จะลดผลเสียจากการปลูกได้ โดยต้องมีการศึกษาและวิเคราะห์ผลเป็นอย่างดี เพราะแม้จะมีพื้นที่บางแห่งในประเทศไทยปลูกยูคาลิปตัสได้ แต่ก็ย่อมจะไม่ใช่ปลูกได้ทุกที่แน่นอน

ขณะเดียวกันหากนายวุฒิพงศ์ต้องการปลูกยูคาลิปตัสเพื่อนำไปผลิตกระดาษแล้ว ดร.คุณหญิงกัลยา เสนอว่าควรปลูกต้นไผ่ซึ่งจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น