xs
xsm
sm
md
lg

รมต.วิทย์เตรียมลุยญี่ปุ่น เล็งซื้อเทคโนโลยีทำไบโอดีเซลจากยูคา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"วุฒิพงศ์" ลุยเต็มที่ เตรียมบินไปญี่ปุ่นดูเทคโนโลยีผลิตไบโอดีเซลจากใช้ไม้ยูคาราคา 150 ล้าน อ้างอาจซื้อมาใช้และพัฒนาเทคโนโลยีของคนไทยควบคู่กันไป ปัดไม่รู้เอื้อผลประโยชน์เอกชนหรือไม่ แต่ชี้ชัดตัวเองไม่เคยปลูก โอ่มีคนติดต่อขอพันธุ์เพียบ ส่วนแกนนำฝ่ายหนุนชี้คนขัดขวางเพราะไม้ยูคาไปนอนขวางผลประโยชน์

นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า วันที่ 6 -8 มี.ค.51 นี้ เขาพร้อมด้วย ดร.นิคม แหลมสัก หัวหน้าศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะเดินทางไปดูเทคโนโลยีผลิตไบโอดีเซลแบบใหม่ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอาจนำเข้าเทคโนโลยีดังกล่าวและหาทางพัฒนาเองในประเทศ ตามแนวคิดส่งเสริมการปลูกไม้ยูคาลิปตัสบนคันนา เพื่อผลิตไบโอดีเซล

เขากล่าวว่า เทคโนโลยีที่กล่าวถึงนี้มีมานานแล้ว หากนำเข้าจะมีราคาประมาณ 150 ล้านบาท คืนทุนได้ใน 5 ปี แต่หากพัฒนาเองให้มีราคาถูกลงเหลือ 20-30 ล้านบาทต่อเครื่องจะดีมาก
 
อีกทั้ง รมว.วิทยาศาสตร์ยังเผยอีกว่า ขณะนี้กระแสการปลูกยูคาลิปตัสกำลังตื่นตัวมากเนื่องจากมีสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่เอกชนหลายรายพัฒนาขึ้น โดยใบยูคาลิปตัสจะเล็กบาง ไม่บังแสงอาทิตย์ในนาข้าว จึงไม่ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง ซึ่งทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่ายูคาลิปตัสมีผลเสีย

เมื่อถามว่าในการส่งเสริมปลูกนี้มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เขาปฏิเสธว่า ไม่เคยปลูกยูคาลิปตัสเลย แต่ปลูกต้นสักมาแล้วกว่า 2 ล้านต้น และการส่งเสริมปลูกยูคาลิปตัสนี้จะใช้ในแง่พลังงานเท่านั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะสนับสนุนแต่ในเชิงเทคโนโลยี ไม่มีหน้าที่ส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูก

ส่วนจะเอื้อประโยชน์กับเอกชนรายใด นายวุฒิพงศ์ปัดว่าไม่ทราบ ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือเองก็มีการปลูกยูคาลิปตัสจำนวนมากอยู่แล้ว เมื่อเขานำเสนอเรื่องดังกล่าวทางรายการทีวี ก็มีผู้โทรศัพท์มาขอต้นยูคาลิปตัสไปปลูกจำนวนมาก แต่อยากฝากไว้ว่าหากจะปลูกยูคาลิปตัสต้องไม่โลภปลูกมาก เพราะงานวิจัยพบว่าจะทำให้ต้นโตช้าลง

ด้าน ดร.เริงชัย เผ่าสัจจ อดีต รองผอ.โครงการอนุรักษ์และจัดการแหล่งพันธุกรรมไม้ป่า กรมป่าไม้ หนึ่งในแกนนำหนุนการปลูกยูคาลิปตัส กล่าวถึงกระแสต่อต้านการปลูกยูคาลิปตัสว่า มีมานานกว่า 20 ปีแล้ว เชื่อว่าการต่อต้านต่างๆ เพราะไปขัดผลประโยชน์กับกลุ่มเอกชนที่นำเข้าเยื่อไม้จากต่างประเทศ ซึ่งเวลานั้นประเทศไทยมีโรงงานผลิตกระดาษมากถึง 50 โรง

อีกทั้งเมื่อมีการปลูกยูคาลิปตัสที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่ามันสำปะหลังก็ทำให้พ่อค้ามันสำปะหลังเสียประโยชน์จากการที่ไม่สามารถกดราคามันสำปะหลังได้ ที่ในอดีตแม้มันสำปะหลังจะมีราคาตกต่ำถึงกิโลกรัมละ 50 สตางค์เกษตรกรก็จำเป็นต้องขาย

ส่วนการต่อต้านล่าสุด ดร.เริงชัย เชื่อว่า เพราะมีกลุ่มผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมนำเข้าเยื่อกระดาษจากต่างชาติเข้ามาขัดขวาง โดยเชื่อมั่นว่ายูคาลิปตัสมีประโยชน์ชัดเจน ทว่าในส่วนของผลเสียที่มีการอ้างผลวิจัยต่างๆ นั้นตัวเขาเองไม่พบว่ามีรายงานที่ชัดเจนใดๆ เลย 
 
เมื่อถามว่าเพราะเหตุใดจึงส่งเสริมการปลูกครั้งนี้ เขายืนยันด้วยว่า สาเหตุที่เขาหนุนการปลูกยูคาลิปตัสก็ไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ ให้มาตรวจดูได้
 
แต่ที่หนุนการปลูกเพราะตัวเองได้ทำวิจัยยูคาลิปตัสมาตั้งแต่ปี 2515-2530 จนยูคาลิปตัสถูกพูดถึงมากในช่วง พล.อ.เปรม ติณสูรานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจากประสบการณ์ยืนยันได้ว่ายูคาลิปตัสไม่มีผลเสียใดๆ แต่เป็นปัญหาต่อชาวบ้านที่ไม่สามารถปลูกยูคาลิปตัสเพื่อให้มีรายได้ ยิ่งในบางพื้นที่ที่ไม่สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ได้แล้วก็ยิ่งเดือดร้อน
 
"ผมเองก็มีไร่ยูคาอยู่บ้าง มีหลายสิบไร่เหมือนกัน แต่ไม่ได้มีสาระอะไร บอกได้ว่าแทบไม่ได้มีรายได้จากตรงนี้เลย ไม่ได้ดูแล ก็แบ่งให้หลานๆ ดู ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ" อดีตนักวิจัยยูคาลิปตัสกล่าว
 
"แต่ที่ส่งเสริมเพราะไม่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม และอยากให้ชาวบ้านมีรายได้ที่มั่นคง ยิ่งในพื้นที่ที่ปลูกมันปลูกอ้อยได้ไม่ดีก็ยังปลูกยูคาได้ แต่ยิ่งมาปลูกบนคันนาก็ยิ่งดี กรมป่าไม้และกรมพัฒนาที่ดินก็ส่งเสริมให้ปลูกตามหัวไร่ปลายนาในทุ่งกุลาร้องไห้มาตั้งแต่ปี 2526 แล้ว ผลผลิตข้าวเพิ่มจาก 115 กก./ไร่/ปี เป็นกว่า 400 กก.ไร่/ปี ดินเค็มน้อยลง ความสมบูรณ์ก็ดีขึ้น" ดร.เริงชัยกล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น