xs
xsm
sm
md
lg

มั่วนิ่ม "ยูคาพันธุ์ใหม่" ซัด ก.วิทย์ทำผิดหน้าที่ ต้องหนุนวิจัยหาใช่หนุนปลูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผอ.งานป่าไม้ มูลนิธิโครงการหลวง แบไต๋ "สมัคร -วุฒิพงศ์" เนียนนิ่มผุด "ยูคาพันธุ์ใหม่" ไร้ผลกระทบสิ่งแวดล้อมกล่อมประชาชนให้หลงเชื่อ ย้ำการจัดการที่ดีเท่านั้นที่ลดผลกระทบยูคาได้ ชี้ทำเกินหน้าที่เหตุสังคมเข้าใจผิดๆ เผยชัดกระทรวงวิทย์เดินหลงทาง ที่จริงต้องเสริมงานวิจัย-สร้างคนยูคาตัวจริง ลดพึ่งพิงต่างชาติ ส่วน "นิคม" ดับฝันสมัคร "ตะกูยักษ์" ยังอีกยาวไกล-ไม่น่าสนใจเท่ายูคา

ผศ.ดร.บุญวงศ์ ไทยอุตส่าห์ ผอ.งานป่าไม้ มูลนิธิโครงการหลวง และอาจารย์ประจำภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ออกมาให้ข่าวยูคาลิปตัสสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

ผศ.ดร.บุญวงศ์ อธิบายว่า เพราะแม้ที่ผ่านมากรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงเอกชนหลายรายจะได้พัฒนาสายพันธุ์ลูกผสมยูคาเรื่อยมานับร้อยๆ สายพันธุ์ ทว่าผลกระทบในเรื่องกินน้ำ กินดิน และมีรากที่กำจัดได้ยากก็ยังมีอยู่ เพราะยูคาเป็นไม้โตไวซึ่งต้องกินน้ำกินดินมากเป็นธรรมดา แต่หากจัดการได้ดีแล้วก็ลดผลกระทบลงได้ เช่น การปลูกแบบวนเกษตรรวมกับพืชอื่นๆ เช่น ข้าวนาปี ก็จะเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นที่น่าพอใจ

ส่วนที่นายวุฒิพงศ์ออกมาให้ข่าวหนุนเกษตรกรปลูกยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิส K51 ที่พัฒนาโดยสวนป่ากิตตินั้น ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่เข้าใจไม่ถูกต้องเช่นกัน ผศ.ดร.บุญวงศ์ชี้ว่า เพราะสายพันธุ์ดังกล่าวเลิกปลูกนานแล้ว เพราะมีการระบาดของแตนฝอยปมในปี 2547

"จริงๆ แล้ว ที่ท่านรัฐมนตรีพูดหรือท่านนายกฯ พูดนั้น ถ้าท่านให้เป็นเชิงนโยบายไว้ แล้วในรายละเอียดอะไรก็ส่งให้นักวิชาการโดยตรง ไม่ว่าจากกระทรวงหรือกรมไหนจัดทำให้ สังคมก็จะเข้าใจได้ถูกต้องและง่ายกว่า" ผศ.ดร.บุญวงศ์กล่าว

ทั้งนี้ ผอ.งานป่าไม้ มูลนิธิโครงการหลวง มองด้วยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังทำงานหลงประเด็นอยู่ เนื่องจากบทบาทจริงๆ ของกระทรวงวิทยาศาสตร์คือ การให้ทุนส่งเสริมการวิจัยในกรณีที่มีการถกเถียงเกี่ยวกับยูคาว่ามีความจริงเป็นอย่างไร และต้องทำไปพร้อมๆ กับการสร้างคนยูคารุ่นใหม่ขึ้นมาเพราะประเทศไทยยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้อยู่เลย เมื่อเกิดปัญหาขึ้นเมื่อใดก็ต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศอยู่ร่ำไป

ขณะที่ "ตะกูยักษ์" ก็เป็นพืชโตไวอีกชนิดที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก ผอ.ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ยังไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้ในพืชดังกล่าวเลย หากเริ่มทำก็ต้องศึกษาครอบคลุมเนื้อหารอบด้าน

การศึกษาดังกล่าวเช่น การจัดทำแปลงสาธิต การศึกษาแมลงศัตรูพืช โรครบกวน และคุณภาพของเนื้อไม้ กลับกันกับยูคาลิปตัสที่ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ยืนยันได้ว่าไม่มีผลกระทบใดๆ ที่หลายคนอ้าง แถมยังผลิตพลังงานได้ด้วย.


กำลังโหลดความคิดเห็น