xs
xsm
sm
md
lg

20 ปีที่รอคอย ญี่ปุ่นเตรียมฉลองส่ง "คิโบ" สู่อวกาศ 11 มี.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/แจกซา/สเปซด็อตคอม - ฝันใกล้เป็นจริง ญี่ปุ่นเตรียมส่งห้องแล็บ "คิโบ" ทะยานฟ้า 11 มี.ค. นี้ หลังตั้งตารอมานานกว่า 20 ปี ที่จะมี "บ้าน" หลังแรกในอวกาศ นับแต่ตกลงปลงใจร่วมมือสหรัฐฯ และพันธมิตรอวกาศสร้างไอเอสเอสเมื่อปี 2528 ขนการทดลองแปลกใหม่ไปเพียบ หวังดึงดูดใจให้เด็กยุ่นไม่ละเลยวิทยาศาสตร์

ยานเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ หรือนาซา (NASA) ถือฤกษ์ดีวันที่ 11 มี.ค.51 ทะยานฟ้าบรรทุกห้องแล็บอวกาศสัญชาติญี่ปุ่น "คิโบ" (Kibo) ขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือแจกซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) ขึ้นไปติดตั้งบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) หลังจากรอวันนี้มานานกว่า 20 ปี และนับเป็นห้องแล็บของชาวอาทิตย์อุทัยแห่งแรกที่อยู่นอกโลก ทั้งยังเป็น "ความหวัง" ให้เด็กๆ ในประเทศเพิ่มพูนความสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

"เทคโนโลยีคืออาวุธเพียงหนึ่งเดียวของญี่ปุ่น ถ้าหากว่าเราไม่พยายามวิ่งไปข้างหน้าพร้อมกับพัฒนาการด้านอวกาศ ประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรอย่างเราจะต้องกลายเป็นผู้ที่ล้าหลังกว่าคนอื่น" โยชิยะ ฟุคุดะ (Yoshiya Fukuda) เจ้าหน้าที่อาวุโสโครงการอวกาศของแจกซา กล่าวแทนชาวญี่ปุ่นที่ฝากอนาคตของตนและประเทศไว้กับเทคโนโลยีขั้นสูง

"เที่ยวบินนี้จะเป็นอีกหนึ่งเที่ยวบินประวัติศาสตร์แห่งชาติญี่ปุ่น เที่ยวบินที่พวกเรารอคอยมาเป็นเวลาเนิ่นนานกว่า 20 ปี" เทสึโร โยโกยามา (Tetsuro Yokoyama) รองผู้จัดการโครงการห้องแล็บคิโบกล่าวในระหว่างการแถลงข่าวที่ทำการใหญ่ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ณ ศูนย์อวกาศจอห์นสัน (Johnson Space Center) เมืองฮุสตัน มลรัฐเทกซัส

ในปี 2528 ประเทศญี่ปุ่นตัดสินใจร่วมมือกับยุโรป แคนาดา รัสเซีย และสหรัฐฯ เพื่อดำเนินโครงการเมกะโปรเจคในการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ หรือไอเอสเอส นับแต่วินาทีนั้นญี่ปุ่นก็ตั้งความหวังไว้ทันทีเลยว่าจะต้องมีห้องปฏิบัติการแห่งแรกของตัวเองอยู่บนสถานีอวกาศให้จงได้ ซึ่งก็ใกล้จะสมหวังในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้แล้ว เมื่อยานเอนเดฟเวอร์จะออกเดินทางนำพาชิ้นส่วนแรกของ "คิโบ" ขึ้นไปติดตั้งบนไอเอสเอส ซึ่ง "คิโบ" (きぼう : kibou) ในภาษาญี่ปุ่นมีความหมายว่า ความหวัง หรือความใฝ่ฝัน (hope) นั่นเอง

ศูนย์อวกาศสึคุบะ (Tsukuba Space Center: TKSC) ของญี่ปุ่น เป็นแกนหลักในการพัฒนาห้องแล็บคิโบมูลค่า 9.8 หมื่นล้านเยน (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) นี้ และได้ดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วทั้งในญี่ปุ่นและในสหรัฐฯ ก่อนขนส่งขึ้นสู่อวกาศ

คิโบประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ห้องเก็บเครื่องมือและอุปกรณ์ทั้งหมดสำหรับทำการทดลอง, ห้องปฏิบัติการทดลองรูปทรงกระบอก (Pressurized Module) ขนาดยาว 11.2 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 4.4 เมตร น้ำหนัก 9.2 ตัน ที่นักวิจัยจะได้ทำการทดลองประหนึ่งเหมือนทำการทดลองอยู่บนโลก และส่วนที่คล้ายกับเป็นระเบียงที่เปิดออกสู่อวกาศโดยตรง (Exposed Facility) ซึ่งยึดติดไว้ด้วยแขนกล สำหรับทำการทดลองใดๆ ในสภาวะของห้วงอวกาศ เช่น สภาวะสุญญากาศ, สภาวะไร้น้ำหนัก และการทดลองที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหรือรังสีจากดวงอาทิตย์

ส่วนประกอบของคิโบจะค่อยๆ ถูกลำเลียงขึ้นไปติดตั้งบนไอเอสเอสคนครบหมดทั้ง 3 ส่วน ใน 3 เที่ยวบินด้วยกัน โดยเที่ยวบินแรกในวันที่ 11 มี.ค. นี้ ยานเอนเดฟเวอร์จะลำเลียงห้องเก็บอุปกรณ์การทดลองขึ้นไปก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นราวเดือน พ.ค. ปีนี้จึงขนส่งตัวห้องปฏิบัติการตามขึ้นไป และในเดือน มี.ค. 2552 จึงลำเลียงส่วนของระเบียงขึ้นไปประกอบเป็นอันดับสุดท้ายจึงเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งส่วนระเบียงของห้องแล็บคิโบนี้จะเป็นชิ้นส่วนที่แปลกและใหม่สำหรับไอเอสเอส เพราะไม่เคยมีส่วนปฏิบัติการลักษณะนี้บนไอเอสเอสมาก่อน แม้กระทั่งห้องแล็บโคลัมบัส (Columbus) ของฟากยุโรปที่เพิ่งติดตั้งแล้วเสร็จไปเมื่อเดือน ก.พ. ก็ตาม

"ญี่ปุ่นกำลังจะมีบ้านหลังแรกในอวกาศเป็นของตัวเองแล้ว และผมจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถเพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่พวกเราลงทุนลงแรงไปมันให้ผลคุ้มค่ามากแค่ไหน" คำกล่าวของทาคาโอะ โดอิ (Takao Doi) นักบินอวกาศวัย 53 ปี ของญี่ปุ่นที่จะร่วมเดินทางไปปฏิบัติภารกิจติดตั้งคิโบด้วยกับเที่ยวบินที่ STS-123 โดยยานเอนเดฟเวอร์

ด้านฟุคุดะระบุอีกว่าการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในห้องแล็บคิโบน่าจะเริ่มต้นได้ราวปลายเดือน ก.ค. ของปีนี้ ซึ่งคิโบมีชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับทำการทดลองมากกว่า 2 ล้านชิ้นเลยทีเดียว และในสภาวะไร้น้ำหนักนี้จะเอื้ออำนวยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถแยกผลึกของสารบริสุทธิ์หรือผลึกโปรตีนที่ต้องการได้ดียิ่ง ซึ่งจะช่วยไขความข้องใจเกี่ยวกับกลไกการเกิดโรคต่างๆ และนำไปสู่การพัฒนายาใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกการทดลองที่สำคัญไม่แพ้การทดลองทางการแพทย์คือการสังเกต, ศึกษาการเปลี่ยนแปลง และหาวิธีแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมบนโลกจากในอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นการทำลายชั้นโอโซน, ภาวะโลกร้อน หรือการกลายเป็นทะเลทรายของพื้นที่ที่แห้งแล้ง ตลอดจนการค้นหาความลับในจักรวาลด้วยกล้องเอ็กซ์เรย์ (wide-angle X-ray camera) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ติดตั้งอยู่บนไอเอสเอส, การทดลองด้านหุ่นยนต์, การสื่อสารคมนาคม, รังสี และพลังงาน

สำหรับงบประมาณที่แจกซาจ่ายไปนับตั้งแต่เข้าร่วมโครงการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อมวลมนุษยชาติกับไอเอสเอสคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 6.8 แสนล้านเยน (ประมาณ 2.08 แสนล้านบาท) ซึ่งแม้ว่าจะเป็นมูลค่ามหาศาลแล้วก็ตาม แต่ก็ยังน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ในตอนแรกคือ 1 ล้านล้านเยน

"สิ่งสำคัญนั้นไม่ได้อยู่ที่เม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่สูญเสียไปในโครงการอันยาวนานนี้ แต่มันเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างและต่อเติมความฝันให้กับเด็กๆ ได้ ซึ่งหากมีเงินเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถซื้อได้" ฟุคุดะ กล่าว

และเพื่อไม่ให้สิ่งที่ลงทุนไปสูญเปล่า แจกซาจึงวางแผนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคิโบเอาไว้มากมายเพื่อสร้างแรงจูงใจและดึงดูดประชาชน โดยเฉพาะเด็กๆ ให้มีความสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่น้อยไปกว่าเดิม เช่น นักบินอวกาศโดอิ วางแผนทดลองขว้างดาวกระจาย 3 แฉก (three-pronged boomerang) หนึ่งในอาวุธของนินจา เพื่อศึกษาลักษณะการบินของดาวกระจายในสภาวะไร้น้ำหนัก ซึ่งเป็นการทดลองที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนด้วย

ด้านเอซิคส์ คอร์ป (Asics Corp.) บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาชั้นนำของญี่ปุ่นกำลังพัฒนารองเท้าผ้าใบส้นยางสำหรับนักบินอวกาศ 1 คู่ ซึ่งออกแบบให้เหมือนกับรองเท้าของนินจา โดยจะมอบให้นักบินอวกาศญี่ปุ่นที่จะเดินทางไปไอเอสเอสในเดือน ธ.ค. นี้ สำหรับสวมใส่ออกกำลังในสถานีอวกาศระหว่างเตรียมการติดตั้งชิ้นส่วนสุดท้ายของคิโบในปี 2552

ทั้งนี้ นาซามีกำหนดปล่อยยานเอนเดฟเวอร์ที่บรรทุกชิ้นส่วนแรกของคิโบสู่อวกาศวันที่ 11 มี.ค. เวลา 14.28 น. ตามเวลาในประเทศไทย ณ ฐานปล่อยจรวดในศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) รัฐฟลอริดา และในเที่ยวบินนี้ เอนเดฟเวอร์ยังขนเอาชิ้นส่วนแขนกล "เด็กซ์เทอร์" (Dextre) จำนวน 2 แขน ของแคนาดาไปยังไอเอสเอสพร้อมกันด้วย

สำหรับนักบินอวกาศร่วมเดินทางปฏิบัติหน้าที่ในเที่ยวบินนี้ทั้งสิ้น 7 นาย ประกอบด้วย โดมินิค แอล กอรี (Dominic L. Gorie) ผู้บังคับการบิน, เกรกอรี เอช จอห์นสัน (Gregory H. Johnson) นักบิน ส่วนอีก 5 นาย เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำภารกิจ ได้แก่ ริชาร์ด เอ็ม ลินน์ฮาน (Richard M. Linnehan), โรเบิร์ต แอล เบห์นเคน (Robert L. Behnken), แกร์เรตต์ อี ไรสแมน (Garrett E. Reisman), ไมเคิล เจ โฟร์แมน (Michael J. Foreman) และทาคาโอะ โดอิ (Takao Doi) นักบินของแจกซาเพียงหนึ่งเดียว โดยเที่ยวบินนี้มีระยะเวลาปฏิบัติภารกิจบนไอเอสเอสนาน 16 วัน จึงเดินทางกลับโลก






กำลังโหลดความคิดเห็น