xs
xsm
sm
md
lg

ยุโรปชื่นมื่นยาน "แอตแลนติส" พาห้องแล็บ "โคลัมบัส" ขึ้นฟ้าสวยหรู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอพี/นาซา/เอเอฟพี - หลังจากเจอโรคเลื่อนมาร่วม 2 เดือน ในที่สุดยานแอตแลนติสของนาซาก็ได้ฤกษ์ขนห้องแล็บอวกาศสัญชาติยุโรป "โคลัมบัส" พร้อมลูกเรืออีก 7 นาย ทะยานฟ้าสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วกลางดึกของคืนวันตรุษจีนที่ผ่านมา

กระสวยอวกาศแอตแลนติส (Atlantis) ขององค์การบริการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) รับหน้าที่ขนส่งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์นามว่า "โคลัมบัส" (Columbus) ของยุโรปขึ้นไปติดตั้งบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) เป็นภารกิจแรกของนาซาในปีนี้ ทะยานขึ้นฟ้าไปแล้วอย่างสวยงามพร้อมลูกเรืออีก 7 นาย ณ ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) มลรัฐฟลอริดา สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. เวลา 02.45 น. ตามเวลาในประเทศไทย

นอกจากเจ้าหน้าที่ของนาซาที่จะต้องประจำการอยู่ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดีเพื่อเตรียมการปล่อยยานแอตแลนติสขึ้นฟ้าตามปกติแล้ว ยังมีชาวยุโรปอีกกว่า 300 คน ที่มาร่วมชมภาพประวัติศาสตร์การขนส่งห้องแล็บแรกของยุโรปสู่ห้วงอวกาศด้วย แต่งานนี้ไม่มีเครื่องดื่มมึนเมาเข้าร่วมด้วยแน่นอน จะมีก็แต่น้ำผลไม้และขนมแกล้มพอเป็นพิธี เพราะกฏเหล็กของนาซาที่ควบคุมไม่ให้นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาในศูนย์อวกาศ

ห้องแล็บโคลัมบัสเป็นความร่วมมือของกลุ่มประเทศยุโรปในนามองค์การอวกาศยุโรป หรืออีซา (European Space Agency: ESA) ซึ่งใช้เวลาสร้างนานร่วม 23 ปี มูลค่าราว 1.3 พันล้านยูโร (ประมาณ 58.5 พันล้านบาท) มีน้ำหนักราว 10 ตัน และนับเป็นห้องปฏิบัติการบนสถานีอวกาศนานาชาติห้องแรกที่ไม่ใช่ของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯหรือรัสเซีย

ส่วนลูกเรือทั้ง 7 นายที่ร่วมเดินทางไปพร้อมกับยานแอตแลนติสและห้องแล็บโคลัมเบียในครั้งนี้ ได้แก่ สตีเฟน ฟริค (Stephen Frick) รับหน้าที่เป็นผู้บังคับการบิน ร่วมด้วย 4 นักบินสหรัฐฯสแตนลีย์ เลิฟ (Stanley Love), เรกซ์ วาลเฮม (Rex Walheim), ลีแลนด์ เมลวิน (Leland Melvin), อลัน พอยน์เดกซ์เตอร์ (Alan Poindexter) , และอีก 2 จากยุโรปได้แก่ ลีโอโปลด์ เออาร์ต (Leopold Eyharts) จากฝรั่งเศส และฮานส์ ชเลเกิล (Hans Schlegel) นักบินชาวเยอรมัน

ทั้งนี้ แอตแลนติสมีกำหนดเดินทางถึงไอเอสเอสประมาณวันที่ 9 ก.พ. นี้ ซึ่งลูกเรือจะดำเนินการติดตั้งห้องแล็บโคลัมบัสเชื่อมต่อกับห้องแล็บเดสตินี (Destiny) ของสหรัฐฯ ที่อยู่บนอวกาศมาก่อนหน้านาน 7 ปี แล้ว โดยเมื่อปลายเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ยานดิสคัฟเวอรีได้นำโหนดฮาร์โมนี (Harmony) ขึ้นไปติดตั้งเพื่อรองรับห้องแล็บโคลัมบัสไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ภายในห้องแล็บโคลัมบัสสามารถรองรับนักบินได้ราว 3 คน ซึ่งจะเป็นห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์บนอวกาศของยุโรปโดยเน้นไปที่การทดลองด้านเทคโนโลยีชีวภาพ การแพทย์ วัสดุศาสตร์ และที่เกี่ยวกับของเหลวต่างๆ มีศูนย์กลางการควบคุมภาคพื้นดินอยู่ในเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี

ทั้งนี้ลูกเรือแอตแลนติสมีภารกิจเดินอวกาศ 3 ครั้งด้วยกัน และปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 11 วัน ก่อนจะเดินทางกลับโลกหลังจากนั้น โดยที่เที่ยวกับนั้นจะมีนักบินของนาซา เดเนียล ทานิ (Daniel Tani) เดินทางกลับมาด้วยหลังจากขึ้นไปประจำการอยู่บนสถานีอวกาศนาน 4 เดือนแล้ว โดยมีลีโอโปลด์ เออาร์ต นักบินของฝรั่งเศสเป็นผู้รับหน้าที่ต่อจากทานิเอง

อย่างไรก็ดี ภารกิจของยานแอตแลนติสในครั้งนี้มีกำหนดเดิมตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค.50 แล้ว ทว่า ก่อนการเดินทางเพียงไม่กี่ชั่วโมง นาซาตรวจพบเหตุขัดข้องที่ระบบเซนเซอร์ของถังเชื้อเพลิง เพื่อความปลอดภัยนาซาจึงต้องระงับการเดินทางของแอตแลนติสเอาไว้ก่อนและแก้ไขเหตุขัดข้องให้เรียบร้อยจนสามารถนำพานักบินถึงที่หมายได้ปลอดภัยค่อยออกเดินทาง ซึ่งกินเวลาถึง 2 เดิน กว่าที่แอตแลนติสจะมุ่งหน้าสู่ไอเอสเอสอีกครั้งเมื่อคืนวันตรุษจีน




คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia
เพื่อรับชมภาพ "แอตแลนติส" พาห้องแล็บ "โคลัมบัส" ขึ้นฟ้าสวยหรู เพิ่มเติม


ดูภาพชุดจาก Manager Multimedia






กำลังโหลดความคิดเห็น