xs
xsm
sm
md
lg

“ประภาส” วิพากษ์คนไทยไม่เข้าถึงดาราศาสตร์ ถูกมองเป็นวิชาชีพ-เด็กโดนสกัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาสตร์ของดวงดาวที่อยู่ไกลโพ้นกับถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เด็กที่สนใจใฝ่รู้แต่ถูกคุณครูสกัดดาวรุ่งก็มีอยู่มาก ระบบการเรียนการสอนก็ไม่เอื้ออำนวย แล้วจะทำอย่างไรให้เด็กไทยหันมาสนใจเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์อย่างสนุกได้ ตัวแทนครู ผู้ปกครอง และเยาวชนยุววิจัยมีข้อเสนอแนะ

คนส่วนใหญ่คิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของเด็กเก่ง ดวงดาวเป็นเรื่องไกลตัว งานวิจัยเป็นเรื่องของอัจฉริยะ แต่ครูและนักเรียนบางกลุ่มพิสูจน์ให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของทุกคน ดวงดาวอยู่รอบตัวเรา งานวิจัยใครก็ทำได้

“ผมคิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยาก นั่นก็เพราะครูส่วนมากทำให้ยาก ทำให้เห็นเป็นเรื่องไกลตัวหรือเฉพาะเด็กเก่งเท่านั้น เช่น ให้ท่องว่าเมฆรูปร่างอย่างนั้นเรียกว่าอะไร ใครจะอยากท่อง แต่หากสอนว่าเมฆนั้นมีผลอย่างไรกับชีวิตเรา มันจะใกล้ตัวเข้ามาทันทีและน่าสนุกมากกว่า” ประภาส ชลศรานนท์ นักเขียนชื่อดังกล่าวแสดงความเห็นในฐานะตัวแทนผู้ปกครองที่มีบุตรสนใจในเรื่องราวดาราศาสตร์ และเป็น 1 ในยุววิจัยของศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA)

สังคมส่วนใหญ่ในบ้านเรายังไม่เข้าใจเรื่องดาราศาสตร์ หลายคนยังมองเห็นเป็นเรื่องของโหราศาสตร์ไปอีก ทั้งๆที่ดาราศาสตร์มีหลายมิติให้เรามอง ทั้งมิติทางวิทยาศาสตร์ หรือมิติทางด้านปรัชญา ศาสนา อย่างภาพดวงดาวที่เรามองเห็นเป็นภาพประวัติศาสตร์ หรือภาพในอดีต บ่งบอกว่าไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอนในแง่ของปรัชญาพุทธศาสนา” ประภาสแสดงความเห็นและเพิ่มเติมว่า

“ไม่เฉพาะดาราศาสตร์เท่านั้น คนส่วนใหญ่มองวิทยาศาสตร์เป็นวิชาชีพมากเกินไป ทั้งที่จริงวิทยาศาสตร์เป็นความรู้พื้นฐานที่ทุกคนควรมีเหมือนธรรมะ อย่าคิดว่าเรียนไปทำไม ผู้ปกครองควรเปิดใจให้กว้าง โรงเรียนควรให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์เท่าเทียมกับวิชาอื่นๆ ผมคิดว่าเด็กทุกคนมีความสนใจวิทยาศาสตร์ในตัวอยู่แล้ว แต่อาจถูกจำกัดอยู่ภายใต้กรอบความคิดของผู้ใหญ่ หากเด็กสงสัยและถาม ผู้ใหญ่ก็ไม่ควรมองเป็นเรื่องน่ารำคาญ ซึ่งอาจเป็นการสกัดดาวรุ่งและตัดประกายไฟในตัวเด็กได้”

ขณะที่ตัวแทนของครูอย่าง อาจารย์วิทยา วิมลถนอม โรงเรียนอนุบาลแพร่ จ.แพร่ ที่คลุกคลีอยู่กับการสอนวิทยาศาสตร์ชั้นประถมศึกษามาหลายปี แสดงความเห็นว่า โรงเรียนเป็นฐานของการเรียนรู้ แต่ลำพังระบบการเรียนการสอนเพียงอย่างเดียวช่วยขับเคลื่อนครูและนักเรียนไปได้ไม่มาก ต้องอาศัยความมุ่งมั่นของครูที่ต้องการทำให้เกิดประโยชน์ต่อเด็ก โอกาสของครูก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

“การให้เด็กได้คิดเองทำเองตามขั้นตอนทำให้เขาได้เรียนรู้กระบวนการต่างๆ ซึ่งครูต้องเป็นผู้จุดประกายและเป็นผู้นำทางให้เด็ก แล้วครูจะถูกจุดประกายได้อย่างไรล่ะ” อ.วิทยา กล่าว ซึ่งเริ่มแรกที่เขาเข้าร่วมกับลีซา มีโจทย์งานวิจัยที่ต้องทำ แต่เขาก็ยังไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร แต่เมื่อมีโอกาสได้พานักเรียนไปทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยา “แพะเมืองผี” บ่อยครั้งก็เกิดความคิดและประกายไฟในงานวิจัยขึ้นมาได้

เมื่อเราอยากให้เด็กคิด เราก็ต้องคิดกับเด็กด้วย ไม่จำเป็นต้องรู้ก่อนเด็ก แต่เราครูสามารถเรียนรู้ไปพร้อมเด็กๆ ได้ ซึ่งเป็นหัวใจของการสอนเลยก็ว่าได้ เวทีก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ครูและนักเรียนได้ค้นคว้า เพราะถ้าไม่มีเวที ผลงานก็ไม่ออกมาให้เห็น” อ.วิทยาเล่า

ด้าน ด.ญ.ณิชา โชติปฏิเวชกุล ชั้น ป.6 โรงเรียนอนุบาลแพร่ ลูกศิษย์ก้นกุฏิของ อ.วิทยา และเป็นยุววิจัยในโครงการลีซามา 2 ปีแล้ว เปิดเผยว่า งานวิจัยของเธอเริ่มมาจากความสนใจในเรื่องของดาราศาสตร์ และได้รับคำแนะนำจากครู ได้รับโอกาสจากโรงเรียนและลีซา ส่วนสิ่งที่เธอได้จากงานวิจัยนั้นมากมาย ทั้งความรู้ ทักษะการแก้ปัญหา และความอดทน ส่วนผลงานของเธอก็มีประโยชน์ต่อชุมชนไม่น้อย เช่น ผลงานวิจัยเรื่องบ่อน้ำพุร้อนที่มีผลต่อชุมชน

ส่วน รศ.สุชาตา ชินะจิตร ผู้ช่วย ผอ.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ให้การสนับสนุนลีซา กล่าวว่า สกว. มีจุดประสงค์มุ่งพัฒนาศักยภาพของครูเป็นหลัก ซึ่งเมื่อครูได้ นักเรียนก็จะได้เช่นกัน

การเรียนดาราศาสตร์ในไทยเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง เน้นเนื้อหาแต่ขาดกิจกรรมและการปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กเรียนรู้จากของจริงที่เป็นสิ่งใกล้ตัวได้ เปิดโลกทัศน์ให้เขาได้สัมผัสของจริง เกิดความอยากรู้อยากเห็น ตั้งคำถามได้ ความรู้ก็หลั่งไหลเข้ามา โดยเริ่มต้นที่ครูเพื่อขยายผลได้กว้าง สนับสนุนให้ครูได้ทำวิจัย และให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วม” รศ.สุชาตา กล่าว

“การวิจัยก็คือการเรียนรู้ ไม่ใช่สิ่งสูงส่งอย่างที่ทำได้แต่เฉพาะนักวิชาการ แต่ใครก็ตามที่สามารถจัดระเบียบการเรียนรู้ได้ ก็ทำวิจัยได้ การวิจัยเป็นการจัดกระบวนการคิด จัดข้อมูลให้เห็นภาพที่เข้าใจง่าย เหมือนก้อนที่กระจัดกระจาย เมื่อนำมาเรียงต่อกันเป็นกำแพงก็เกิดรูปธรรมขึ้นมา” รศ.สุชาตา กล่าวเปรียบเทียบ


ตัวอย่างยุววิจัยของลีซาฝึกการนำเสนอผลงานวิจัยต่อเพื่อนยุววิจัยและครูอาจารย์ที่ร่วมโครงการเดียวกัน
การเรียนรู้นอกห้องเรียนช่วยจุดประกายให้เกิดคำถามในใจและนำไปสู่การเรียนรู้เพื่อค้นหาคำตอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น