เมื่อต้นปี เด็กไทยตัวน้อยๆ อาจทำให้ผู้ใหญ่ตัวโตๆ หลายคนได้ "ทึ่ง" ในความสามารถไปบ้างแล้ว เพราะได้ค้นพบดาวแปรแสงที่ไม่มีใครเคยค้นพบมาก่อนในดาราจักรเมฆแมกเจลแลนใหญ่ กับ "งาน" ที่เรียกได้ว่า "ไกลตัว" ในสาระบบของผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อย และปลายเดือนมีนานี้ พวกเขาและผองเพื่อนยุววิจัยอีกกลุ่มหนึ่งจะขนงานวิจัยดาราศาสตร์ไปโชว์ศักยภาพกันถึงเมืองปลาดิบ
เวทีแลกเปลี่ยนความรู้และโชว์ศักยภาพของเหล่ายุววิจัยรายการดังกล่าวจัดขึ้นโดยมีประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ ซึ่งได้จัดต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เพื่อให้นักวิจัยตัวจิ๋วระดับมัธยมศึกษาเแดนซากุระมีเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองการวิจัยดาราศาสตร์กันอย่างเปิดอก และครั้งนี้ฝ่ายผู้จัดงานได้เชื้อเชิญยุววิจัยไทยในโครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เข้าร่วมแสดงศักยภาพด้วย
ด้านความตั้งใจของผู้อำนวยการศูนย์ลีซา “น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว” ผู้ก่อตั้งหอดูดาวเกิดแก้ว อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี พูดถึงการส่งยุววิจัยรุ่นเยาว์ไปแดนอาทิตย์อุทัยว่า จะเป็นเวทีสำคัญที่พวกเขาได้แลกเปลี่ยนผลงานกับเยาวชนญี่ปุ่นซึ่งมีความพร้อมด้านเครื่องไม้เครื่องมือมากกว่า
นอกจากนั้นยังหวังลึกๆ ว่าจะเป็นช่องทางเชื่อมโยงวงการดาราศาสตร์บ้านเรากับวงการดาราศาสตร์ญี่ปุ่นไปในตัว โดยเฉพาะกับวงการดาราศาสตร์โลกที่ค่อนข้างแคบ หากเข้าถึงญี่ปุ่นได้ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเชื่อมโยงไปยังวงการดาราศาสตร์อเมริกันและยุโรปต่อไป
สำหรับผลงานที่จะนำไปแสดง นอกเหนือจากผลงานของ 2 หนุ่มเจ้าของการค้นพบข้างต้นคือ น้องมิค "ด.ช.กฤติธี เจษฎาชัย" และ น้องโบ๊ท "ด.ช.กรวีร์ การุณรัตนกุล" นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ในงานวิจัย "การค้นหาดาวแปรแสงคาบยาวในเมฆแมกเจลแลนใหญ่" ซึ่งใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์รอทซี (ROSTE) และฐานข้อมูลดาวแปรแสงจากซิมแบด (SIMBAD) จนพบดาวแปรแสง 5 ดวงเป็นดาวแปรแสงคาบยาวที่อาจใช้เวลาในการแปรแสงยาวนานนับเดือน ปี หรือหนึ่งทศวรรษแล้ว ยังมีงานวิจัยอีก 4 ชิ้นที่นำไปอวดสายตาชาวญี่ปุ่นในคราวเดียวกันด้วย
หนึ่งในนั้นคือการศึกษา "การหาระยะห่างดาราจักรแมกเจลแลนเล็ก" ของน้องนัท "ด.ช.ไกรวิชญ์ นรรัตน์" ชั้น ม.2 โรงเรียนพิริยาลัย อ.เมือง จ.แพร่ ซึ่งเจียดเวลาพักผ่อนตามประสาเด็กทั่วไปมาทำงานวิจัยถึง 1 ปี เพื่อหาระยะห่างของดาราจักรแมกเจลแลนเล็กอันไกลโพ้นกับโลกโดยใช้ดาวแปรแสงเซฟีอิด (Cepheid) ซึ่งเป็นดาวแปรแสงที่มีความสัมพันธ์ระหว่างคาบการแปรแสงและกำลังส่องสว่างมาช่วยวัดระยะ โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายกล้องโทรทรรศน์รอทซี และพิกัดดาวแปรแสงเซฟีอิดในดาราจักรแมกเจลแลนเล็กจากฐานข้อมูลโครงการโอเกิล (OGLE)
หลังวิเคราะห์ภาพและนำข้อมูลการแปรแสงของดาวจำนวน 3 ดวงของดาราจักรแมกเจลแลนเล็ก น้องนัทพบว่า ค่าเฉลี่ยระยะห่างของดาราจักรแมกเจลแลนเล็กกับโลกคือ 220,000 ปีแสง ซึ่งคลาดเคลื่อนไปจากระยะห่างที่ยอมรับกันในปัจจุบันที่ 200,000 ปีแสงไปประมาณ 10% ซึ่งตัวน้องนัทเองคาดว่าอาจเป็นเพราะดาราจักรดังกล่าวมีรูปร่างไม่แน่นอน มีกลุ่มก๊าซ ฝุ่น และดาวกระจายอยู่ทั่วไป จึงเป็นไปได้ว่าดาวแปรแสงที่ใช้ในการคำนวณมีระยะห่างจากโลกไม่เท่ากัน
"การศึกษาดาราศาสตร์เป็นเรื่องที่สนุก ได้วิจัยเรื่องต่างๆ ไม่เหมือนในห้องเรียนที่การทดลองจะถูกกำหนดคำตอบไว้อยู่แล้ว มันจึงช่วยให้เรารู้จักการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ส่วนการไปญี่ปุ่นครั้งนี้จะทำให้เรารู้ว่าเราอยู่ในระดับไหนเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นที่จัดว่าอยู่ในระดับสากล" น้องนัท ซึ่งอยู่กับลีซามาตั้งแต่ชั้น ป.5 เผย
ด้านการศึกษา "ประชากรดาวในกระจุกดาวเปิด" ก็เป็นอีกหัวข้อการวิจัยที่น่าสนใจ ซึ่งในการเดินทางไปญี่ปุ่นครั้งนี้ จะเป็นการผสานกำลังกันระหว่างผองเพื่อนต่างโรงเรียนที่สนใจเรื่องเดียวกันคือ น้องบูม "รวีวัฒน์ ถวัลย์เถลิงฤทธิ์" ชั้น ม.4 ซึ่งเป็นประธานชมรมดาราศาสตร์ โรงเรียนวัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ กับน้องทราย "กีรติกา สุขสีทอง" และน้องไซน์ "มณฑิกา เรืองนภารัตน์" 2 สาว ผู้หลงใหลดาราศาสตร์จากชั้น ม.5 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.เชียงราย
งานวิจัยของน้องบูมจะเป็นการศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนดาวในกระจุกดาวเปิดกับมวลต้นกำเนิดของดาวจำนวนทั้งสิ้น 5 กระจุกคือ M21, M25, M29, M34 และ M35 โดยใช้ภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์รอทซี และนำข้อมูลมวลของดาวแต่ละดวงในกระจุกดาวเปิดมาทำฮิสโตแกรมและนำไปเขียนกราฟในสเกลลอกาลิทึม พบว่ากราฟมีแนวโน้มเป็นเส้นตรงตามความสัมพันธ์แบบยกกําลัง (Power-law relationship) และมีค่าดัชนียกกำลัง (power-law index) ประมาณ -3 โดยสรุปได้ว่าดาวที่มีมวลน้อยจะมีโอกาสพบได้มากกว่าดาวที่มีมวลมาก
ขณะที่กลุ่มของน้องทรายและน้องไซน์ซึ่งทำการศึกษาเรื่องเดียวกันแต่ศึกษากับกระจุกดาวเปิดอื่น 5 กระจุก คือ M36, M37, M38, M39 และ M41 ก็ได้ผลการศึกษาเป็นความสัมพันธ์แบบยกกำลังเช่นเดียวกัน แต่มีค่าดัชนียกกำลังอยู่ระหว่าง - 1.9 ถึง -2.3
น้องบูม เปิดใจว่า เขาจะใช้โอกาสนี้เพื่อทำให้ดีที่สุด โดยหวังว่าเมื่อถึงเวลานั้นแล้วเขาจะเค้นความสามารถที่มีทั้งหมดออกมาได้โดยไม่มีแรงกดดันหรือสิ่งอื่นใดมาทำให้ไขว้เขว อีกทั้งอยากสานความฝันตัวเองในการไปชมความงามของภูเขาไฟฟูจิถึงแดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรแกรมพิเศษของการเดินทางตลอด 7 วัน 6 คืนด้วย
แต่ที่ขาดไม่ได้เลย 2 สาวในทีม เผยว่า อีกประสบการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในการเดินทางคือ การเยี่ยมชมองค์การสำรวจการบินอวกาศญี่ปุ่น หรือ "แจกซา" แบบ "คนวงใน" ในวันที่มีการถ่ายทอดสัญญาณภาพกระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ของสหรัฐฯ แตะพื้นโลกหลังจากทะยานฟ้าส่งห้องแล็บอวกาศญี่ปุ่นไปติดตั้งบนสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
"อยากไปดูว่าดาราศาสตร์ญี่ปุ่นไปถึงไหนแล้ว ซึ่งของเรายังไม่แพร่หลายนัก ต่างจากญี่ปุ่นซึ่งเท่าที่ได้ยินมาจะดีกว่าของเรามากเพราะเขาเครื่องมือพร้อมกว่า แทบทุกเมืองจะมีหอดูดาวของตัวเอง และเด็กของเขาก็มีความสนใจมาก ได้จับต้องอุปกรณ์ของจริงด้วยตัวเอง" 2 ยุววิจัยสาวเผย
สำหรับการเตรียมตัวของเหล่ายุววิจัยทั้ง 12 ชีวิต น้องทรายเล่าว่ากำลังคร่ำเคร่งอยู่กับการฝึกภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น โดยภาษาแรกเพื่อเป็นใบเบิกทางในการแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ส่วนภาษาหลังเพื่อสร้างสัมพันธไมตรีกับเจ้าบ้านได้อย่างไม่ขวยเขิน โดยทั้งหมดกำลังง่วนอยู่กับการทำโปสเตอร์วิจัยตลอดจนโปรแกรมเพาเวอร์พอยต์เพื่อนำเสนอผลงานไปพร้อมๆ กัน
อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแต่งานวิจัย 3 ตัวอย่างที่กล่าวถึงแล้ว การเดินทางเยือนแดนปลาดิบยังมีอีก 2 ผลงานที่นำไปอวดสายตายุววิจัยญี่ปุ่นด้วยคือ "การศึกษาความสว่างของการระเบิดของดาวแปรแสงแบบประทุในดาราจักรเอ็ม 31 (M31) และดาราจักรทางช้างเผือก” ซึ่งวิจัยโดย น.ส.ลลิตวดี กวินวณิชกิจ ชั้น ม.6 และ น.ส.นรินทร อาศิรพรพงศ์ ชั้น ม.4 โรงเรียนศึกษานารี
ส่วนทีมวิจัยสุดท้ายที่ร่วมเดินทางไปด้วยคือ "การสังเกตการระเบิดของดาวหางโฮมส์ในปี 2550" ของนายเลิศชนม์ ธนสุกาญจน์ สมาชิกจากชั้น ม.6 กับ ด.ญ.บุษรา ส่งทานินทร์ และ ด.ช.พรพุทธ เสรีดีเลิศ ชั้น ม.2 จากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ซึ่งทั้ง 2 งานวิจัยนี้ก็มีดีกรีความน่าสนใจไม่แพ้กัน
นอกจากนั้น น้องแจ้ง “แสงแรก ชลศรานนท์” ประธานชมรมดาราศาสตร์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และพี่เลี้ยงของเหล่ายุววิจัย ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นของพี่จิก “ประภาส ชลศรานนท์” นักเขียน นักคิด และนักแต่งเพลงอารมณ์ดียังได้รับโอกาสขึ้นเวทีเล่าถึงกิจกรรมดาราศาสตร์ของเด็กไทยในฐานะตัวแทนเยาวชนไทยที่มีความสนใจดาราศาสตร์เป็นกรณีพิเศษด้วย
"ไปครั้งนี้ เราก็จะทุ่มกันสุดตัวและจะทำให้ดีที่สุด และจะนำความรู้ที่ได้กลับมายกระดับวงการดาราศาสตร์ไทย แม้จะไม่มากมายนักแต่เขยิบขึ้นมานิดนึงก็ยังดี" 1 ใน 2 สาวจากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย กล่าวขึ้นระหว่างให้สัมภาษณ์แสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของเหล่ายุววิจัยเลือดใหม่ที่ลุกโชนเป็นความหวังให้แก่วงการดาราศาสตร์ไทยในอนาคตต่อไป