xs
xsm
sm
md
lg

ห้วงคำนึงถึง "อาร์เธอร์ ซี คลาร์ก" วีรบุรุษแห่งโลกวิทยาศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สิ้นสุดยอดนักเขียนไซไฟแห่งยุค ที่สร้างผลงานอันทรงคุณค่าแก่วงการวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ พร้อมทั้งผลักดันโลกให้ก้าวล้ำเข้าสู่ยุคอวกาศ แต่ก่อนจาก "อาร์เธอร์ ซี คลาร์ก" ได้ฝากฝังคุณค่าทางความคิดและจิตใจไว้ในรอยจำของอนุชนรุ่นหลัง

นักวิทยาศาสตร์ นักเขียน และคอนิยายไซไฟ ต่างสุดแสนเสียดายและอาลัยต่อการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของ "อาร์เธอร์ ซี คลาร์ก" ผู้ซึ่งเปรียบดั่งวีรบุรุษแห่งวงการวิทยาศาสตร์ ชีวิตและผลงานที่กลั่นมาจากสมองและจินตนาการของท่านก็ได้สร้างความประทับใจและยังติดตรึงอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน หนึ่งในจำนวนนั้นคือ



ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี
รอง ผอ.ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และอดีตนักวิจัยองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา)


สมัยเรียนเรื่องเกี่ยวกับอวกาศเกิดความประทับใจกับวงโคจรของดาวเทียมค้างฟ้าที่โคจรอยู่รอบโลก เรียกว่า "วงโคจรค้างฟ้า" หรือ "วงโคจรคลาร์ก" (Clarke orbit) ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักชื่อนี้ และก็เกิดความสงสัยว่า เอ๊ะ! นี่เป็นชื่อของใครนะ? แล้วมาอยู่ในหนังสือเรียนได้อย่างไร? ก็ไปสืบค้นจนรู้ว่าเป็นชื่อของ "อาร์เธอร์ ซี คลาร์ก" หลังจากนั้นเราก็ติดตามผลงานของท่านมาตลอด

สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คลาร์กเป็นทหารในกองทัพอากาศ เป็นเจ้าหน้าที่พัฒนาระบบเรดาร์ ทำให้เขาเกิดแนวคิดเรื่องดาวเทียมค้างฟ้า และก็เขียนออกมาเป็นเปเปอร์เลยตั้งแต่วิธีการส่งดาวเทียมขึ้นไปให้โคจรอยู่เหนือพื้นโลก 36,000 กิโลเมตร ให้เหมือนกับว่าโลกของเรามีเสาอากาศขนาดใหญ่สำหรับรับสัญญาณการสื่อสารต่างๆ ได้ทั่วโลก

ดาวเทียมจะโคจรครบ 1 รอบ และกลับมาอยู่ ณ ตำแหน่งเดิมทุกๆ 24 ชั่วโมง พวกเราที่อยู่บนโลกก็จะรู้สึกเหมือนกับว่าดาวเทียมลอยอยู่นิ่งๆ บนฟ้าตลอดเวลา จึงเรียกว่า ดาวเทียมค้างฟ้า ซึ่งปัจจุบันก็มีดาวเทียมค้างฟ้าที่เกิดจากจินตนาการของคลาร์กโคจรอยู่รอบโลกมากมาย เป็นดาวเทียมสื่อสารขนาดใหญ่ที่รับส่งสัญญาณโทรทัศน์, โทรศัพท์

ส่วนนิยายไซไฟของคลาร์กนั้นก็ประทับใจมาก โดยเฉพาะเรื่อง 2001: อะ สเปซ โอดิสซีย์ (2001: A Space Odyssey) ซึ่งถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ด้วย เป็นเรื่องที่คลาสสิคมากๆ และหลายสิ่งเป็นจริงได้ก็มาจากความคิดของเขา อาจเรียกได้ว่า "คลาร์กเป็นวีรบุรุษทางด้านวิทยาศาสตร์" ได้เลย ทั้งความคิดและการดำเนินชีวิตของเขาสร้างประโยชน์ให้กับคนทั่วไปอย่างมาก เป็นคนที่ขวนขวายหาความรู้อยู่ตลอดเวลา น่าจะเป็นตัวอย่างให้กับเยาชนได้เป็นอย่างดี

และเมื่อวันที่ 12-13 ก.พ.ที่ผ่านมานี้เอง ผมไปร่วมประชุมเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อน (The International Year of Planet Earth) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่จัดโดยยูเนสโก (UNESCO) ท่านยังให้เกียรติกล่าวในพิธีปิดการประชุมด้วย โดยถ่ายทอดสดมาจากประเทศศรีลังกาเลย

ท่านบอกว่า อยากให้พวกเราใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศในการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการมองโลกมาจากอวกาศหรือดาวเทียมจะทำให้เราได้เห็นปัญหาและวิธีแก้ไขในมุมมองที่ต่างออกไป



อ.นิพนธ์ ทรายเพชร
ราชบัณฑิตสาขาดาราศาสตร์, กรรมการที่ปรึกษาสมาคมดาราศาสตร์ไทย, วิทยากรประจำศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ)


ผมเริ่มมาอ่านงานเขียนของคลาร์กในช่วงหลังๆ นี้เอง ไม่ได้ติดตามมาตั้งแต่ต้น แต่พอเริ่มเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของอวกาศและดาราศาสตร์ ก็สนใจงานของเขามากขึ้น สิ่งที่เขาทำ สิ่งที่เขาคิด เป็นประโยชน์กันงานของผมโดยตรง ซึ่งผมก็ชอบเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอวกาศมาก

ผลงานของคลาร์กเป็นแรงบันดาลใจและให้แนวคิดทางด้านวิทยาศาสตร์แก่เราได้มากมายทีเดียว หลายเรื่องก็ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยเฉพาะเรื่องราวการออกสู่อวกาศ ซึ่งแต่ก่อนเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อที่เราจะเดินทางไปได้จริง แต่เดี๋ยวนี้มนุษย์เราก็เริ่มมีเทคโนโลยีที่ทำให้ออกสู่อวกาศได้แล้วจริงๆ

คลาร์กนับว่าเป็นบุคคลสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบันอย่างมาก คนรุ่นใหม่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง และควรอย่างยิ่งที่จะได้อ่านเรื่องราวที่เขาเขียนอันแสดงถึงความคิดที่กว้างไกลและคิดก้าวหน้า เป็นบุคคลที่มองไปข้างหน้าได้อย่างถูกต้องโดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ แม้ว่าบางเรื่องจะเขียนไว้นานแล้ว แต่ก็ยังทันสมัยและใชัได้ถึงทุกวันนี้



วรากิจ เพชรน้ำเอก
นักเขียนแนวไซไฟ และประธานชมรมนิยายวิทยาศาสตร์ไทยคนปัจจุบัน


อาร์เธอร์ ซี คลาร์ก ถือเป็นนักเขียนที่มีอิทธิพลต่อวงการวิทยาศาสตร์และนิยายไซไฟอย่างมาก ผลงานของท่านได้รับการยอมรับทั่วโลก และมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ตัวคลาร์กเองก็เป็นนักวิทยาศาสตร์มาก่อนด้วย ดังนั้นจึงมีการศึกษาค้นคว้าอย่างดีว่าจะเขียนอะไร อย่างไรบ้าง ทำให้เรื่องราวต่างๆ เป็นจินตนาการที่มีวิทยาศาสตร์เป็นฐาน และแฝงไว้ด้วยปรัชญา

อยากฝากถึงนักเขียนนิยายไซไฟรุ่นใหม่ๆ ให้ศึกษางานเขียนของคลาร์กเป็นตัวอย่างให้มากๆ เพราะนิยายวิทยาศาสตร์ไทยส่วนใหญ่จะเน้นไปทางแฟนตาซีมากเกินไป แต่กลับขาดความลึกซึ้งทางวิทยาศาสตร์และปรัชญาด้วย ซึ่งผลงานของคลาร์กจะช่วยนำทางให้ได้



วศิน เพิ่มทรัพย์
บรรณาธิการอำนวยการ สำนักพิมพ์ออบิท บริษัท โปรวิชั่น จำกัด, ผู้แปลและจัดพิมพ์นิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง "ดุจดั่งอวตาร" จากผลงานของอาเธอร์ ซี คลาร์ก เรื่อง "รานเดวูซ์ วิธ รามา" (Rendezvous with Rama)


ผลงานของคลาร์กเป็นหนึ่งในวรรณกรรมไซไฟคลาสสิค เคียงคู่กับผลงานของไอแซค อาซิมอฟ (Isaac Asimov) เจ้าตำรับสถาบันสถาปนาและหุ่นยนต์ ที่ได้ลาโลกไปหลายปีก่อนหน้านี้ ไซไฟของคลาร์กมีแนวทางที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับของอาซิมอฟ ทั้งๆที่ผลงานของทั้งคู่ต่างก็จัดอยู่ในกลุ่มที่มีเนื้อหาอยู่บนรากฐานของความรู้ทางวิทยาศาสตร์กายภาพ (hard science fiction) มากกว่าเนื้อหาที่เน้นผลกระทบทฤษฎีทางสังคม (soft science fiction)

แต่ในขณะที่อาซิมอฟเขียนถึงการเดินทางไปในกาแลกซีทางช้างเผือกในอีกหลายหมื่นปีข้างหน้า เรื่องของคลาร์กจะเน้นไปในเวลาและอวกาศใกล้ตัว คือใกล้ยุคปัจจุบัน และส่วนมากเกิดขึ้นภายในระบบสุริยะของเรา

หลายครั้งที่ผลงานของคลาร์กกลายเป็นการทำนายอนาคตที่จะมาถึงได้ใกล้เคียงอย่าน่าประหลาดใจ เช่นเรื่องการสื่อสารผ่านดาวเทียม ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็จะเป็นการเสนอแนวคิดที่น่าสนใจและอาจเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้

เช่น เดอะ เฟาเทนส์ ออฟ พาราไดซ์ (The Fountains of Paradise) ที่เสนอการใช้ลิฟต์ยักษ์ทอดยาวจากผิวโลกขึ้นไปถึงอวกาศด้วยแรงเหวี่ยงที่สมดุลย์กับแรงโน้มถ่วงของโลก เพื่อให้มนุษย์สามารถเดินทางขึ้นสู่อวกาศได้อย่างสะดวกและประหยัดพลังงานกว่าการยิงจรวด

ไชด์ฮูดส เอนด์ (Childhood’s End) เป็นการเสนอแนวคิดที่แปลกออกไปเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิปัญญาจากต่างดาวซึ่งแฝงมาในภาพลักษณ์ที่คาดไม่ถึง

ในขณะที่เรื่องชุดจอมจักรวาลหรือสเปซโอดิสซีย์ (ประกอบด้วย 2001: A Space Odyssey, 2010: Odyssey Two, 2061: Odyssey Three และ 3001: The Final Odyssey) เสนอมุมมองว่าอารยธรรมต่างดาวอาจเฝ้ามองพัฒนาการของโลกมนุษย์อยู่นานนับล้านปีมาแล้วก็ได้ และรอคอยเพื่อจุดมุ่งหมายอะไรบางอย่าง

ส่วนเรื่องล่าสุดที่ถูกจองไว้ทำภาพยนตร์หลายปีมาแล้วโดยดาราฮอลลีวูด มอร์แกน ฟรีแมน คือ Rendezvous with Rama หรือ ดุจดั่งอวตาร ซึ่งเป็นเล่มแรกในซีรี่ส์ที่เล่าเรื่องของมหาอวกาศยานขนาดใหญ่พอจะจุเมืองทั้งเมือง มีเส้นทางโคจรเฉียดเข้ามาใกล้โลก และเรื่องราวการสำรวจโดยมนุษย์เพื่อค้นหาเจ้าของอารยธรรมลึกลับนี้

อีกสามเล่มที่เหลือในชุดคือ รามา ทู (Rama II), เดอะ การ์เดน ออฟ รามา (The Garden of Rama) และ รามา รีวีล (Rama Revealed) คลาร์กเขียนร่วมกับเจนทรี ลี (Gentry Lee) หัวหน้าวิศวกรระบบขับดัน (Planetary Flight Systems) แห่งห้องทดลองเจพีแอล (JPL) ของนาซา ที่เป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้มีการค้นคว้าหาทางสร้างลิฟต์อวกาศตามที่คลาร์กเสนอไว้

การจากไปของผู้ยิ่งใหญ่ระดับตำนานอย่างคลาร์กจึงเท่ากับว่ายุคของ hard science fiction แบบเดิมได้ผ่านไปอีกบทหนึ่ง แต่นักเขียนไซไฟรุ่นใหม่อีกหลายๆคนที่ได้รับแรงบันดาลใจและสืบทอดแนวทางของคลาร์กยังมีอยู่
...อาร์เธอร์ ซี คลาร์ก ได้สั่งเสียไว้ก่อนที่เขาจะออกเดินทางครั้งใหม่แล้วว่า อย่าร้องไห้คร่ำครวญที่เขาจากไป แต่ให้เฉลิมฉลองให้กับเขา นั่นคงเป็นเพราะเขาไม่ได้จากไปไหน แต่ยังคงอยู่ในหัวใจและความทรงจำของพวกเราทุกคน...

กำลังโหลดความคิดเห็น