xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นปลูก “ยูคา” มากเกิน กระทบพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตัวแทนเกษตรกรหวั่นชาวบ้านทุ่งกุลาฯ หันปลูกยูคามากเกิน ทำให้พื้นที่ข้าวหอมมะลิ–ข้าวทนเค็มกว่า 30 พันธุ์ในธรรมชาติได้รับผลกระทบ ส่วนเกษตรกรทนแล้งไม่ไหวหันไปทำอาชีพอื่นส่งผลวิถีชุมชนล่มสลาย ด้านเกษตรยั่งยืนแปดริ้วยันปลูกยูคาได้ไม่คุ้มเสีย แต่ไม่มีทางเลือก กลัวที่ดิน สปก.ถูกยึด ขณะที่ “วุฒิพงศ์” เจ้าไอเดียชิ่งชี้แจง ไปหาหมอซ่อมคาง

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการปลูก "ยูคา" กำลังเข้มข้น เมื่อวันที่ 29 ก.พ.51 ที่ผ่านมาคณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดสัมมนาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวกับฐานความหลากหลายทางชีวภาพ กรณี "ยูคาลิปตัส" ขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นเสนอต่อรัฐบาล

นางสุมณฑา เหล่าชัย ชาวนา จ.ร้อยเอ็ด และสมาชิกคณะทำงานวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวในการรับฟังปัญหาและผลกระทบจากภาคประชาชนในช่วงเช้าว่า หลังจากกรมป่าไม้ได้ส่งเสริมเกษตรกรปลูกยูคาเพื่อเสริมรายได้ใน จ.ร้อยเอ็ด เมื่อกว่า 10 ปีก่อน ขณะนี้ได้ส่งผลให้พื้นที่ปลูกข้าวของ จ.ร้อยเอ็ด ลดลงอย่างมาก

ทั้งนี้ จ.ร้อยเอ็ด ถือเป็นพื้นที่รักษาพันธุ์ข้าวธรรมชาติทนดินเค็มไว้กว่า 30 สายพันธุ์ตามระดับความสูงของพื้นที่ที่ลดหลั่นกัน โดยเฉพาะการเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นผลผลิตสำคัญของทุ่งกุลาร้องไห้ โดยการปลูกยูคาจำนวนมากทำให้พื้นที่ปลูกข้าวเหล่านี้ได้รับความเสียหาย

เหตุผลเพราะเกษตรกรต่างหันไปปลูกยูคาที่มีรายได้ดีกว่าตามนโยบายภาครัฐ ประกอบกับแรงจูงใจของภาคเอกชนที่พร้อมเข้าเช่าพื้นที่ปลูกหรือให้โควตารับซื้อผลผลิต ทำให้ชาวนา จ.ร้อยเอ็ด ที่เคยมีรายได้จากการขายข้าวเป็นกอบเป็นกำจนส่งลูกหลานเรียนสูงๆ ได้มากกว่าจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสานไม่สามารถปลูกข้าวได้พอกินในครัวเรือน ซึ่งเห็นได้ชัดในชาวนาที่มีพื้นที่ปลูกข้าวน้อยกว่า 50 ไร่

นอกจากนั้น ยูคาลิปตัสยังเป็นพืชที่กินน้ำมาก นางสุมณฑา กล่าวว่า ทำให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติตื้นเขินและเหือดแห้งจนเกษตรกรในทุ่งกุลาร้องไห้ที่เคยอุดมไปด้วยปลาต้องซื้อปลากิน อีกทั้งยังไม่สามารถใช้พื้นที่เลี้ยงวัวเป็นรายได้ยามผลผลิตข้าวไม่ดีเหมือนในอดีต

ทว่า การหวนกลับมาปลูกพืชอื่นอีกครั้งก็เป็นไปได้ยากเพราะต้องฟื้นฟูที่ดินมาก โดยเฉพาะการกำจัดรากยูคาที่ต้องจ้างรถแบ็คโครมากำจัดทีเดียว

เมื่อชาวบ้านเพาะปลูกอะไรไม่ได้ ก็ต้องหันไปทำอาชีพอื่น เข้าเมืองทำอาชีพรับจ้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ชุมชนก็ล่มสลาย พิธีกรรมและวัฒนธรรมที่เคยสืบต่อมาจากบรรพบุรุษก็พลอยสูญสลายไปด้วย ยิ่งปัจจุบันที่ภาครัฐเร่งให้ปลูกอีกครั้งก็น่าเป็นห่วงไม่รู้คนกลุ่มนี้จะแก้ปัญหาของตัวเองได้อย่างไร” สมาชิกคณะทำงานวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว

ส่วนนางวาสนา เสนาวงค์ ตัวแทนกลุ่มเกษตรยั่งยืนภาคกลาง จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวถึงผลกระทบจากการปลูกยูคาใน 2 ฝั่งของคลองระบมซึ่งเชื่อม จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.สระแก้ว อันเป็นพื้นที่ตั้งของโรงงานกระดาษยักษ์ใหญ่ว่า ภายในเวลาเพียง 10 ปีของการส่งเสริมยูคา พื้นที่ดังกล่าวก็ถูกเปลี่ยนเป็นสวนยูคาทั้งหมด

ผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือน้ำซับตามธรรมชาติได้เหือดแห้งไปหลังการปลูกยูคาเพียง 5 ปี และผลผลิตข้าวในพื้นที่ลดลงไปถึงกว่า 50% ทว่าเกษตรกรที่คัดค้านยูคาก็มีน้อยมากไม่ถึงหนึ่งในล้านคน เพราะภาครัฐและเอกชนต่างโฆษณาชวนเชื่อถึงผลดีมาโดยตลอด

เราเห็นอย่างนี้แล้วก็รู้สึกว่าไม่อยากได้แล้วแบบนี้ แม้แต่หญ้ายังปลูกไม่ค่อยขึ้นเลย ได้ไม่คุ้มเสีย แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร อย่างเร็วๆ นี้ ภาครัฐมาบอกว่าต้องใช้พื้นที่ให้มีคุณค่าไม่อย่างนั้นจะยึดพื้นที่ สปก.(พื้นที่ทำกินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแจกจ่ายแก่เกษตรกร) คืน ชาวนาไม่มีทุนทำอะไร ง่ายสุดก็ปล่อยให้นายทุนเข้ามาเช่าพื้นที่ปลูกยูคา ไร่ละ 500 บาท 3 ปีบ้างหรือ 8 ปีบ้างก็แล้วแต่ตกลง” นางวาสนากล่าว

อย่างไรก็ดี สำหรับการสัมมนาภาคบ่ายซึ่งนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ผู้จุดกระแสยูคาขึ้นมาเป็นประเด็นได้แสดงความจำนงเข้าร่วมชี้แจงด้วยตัวเอง แต่ก็ขอยกเลิกการเข้าร่วมสัมมนาอย่างกะทันหัน โดยให้เหตุผลว่าต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษาบาดแผลผ่าตัดที่คางจากอุบัติเหตุเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งกลับมาอักเสบอีกครั้ง.


กำลังโหลดความคิดเห็น