ช่วงนี้ "ยูคาลิปตัส" ทำท่ามาแรงและแซงหน้าพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เหตุจากผู้มีอำนาจทั้งหลายเรียงหน้ากันออกมาชี้สารพัดข้อดีของไม้โตเร็วที่มีถิ่นกำเนิดจากซีกโลกใต้ แต่ก็ยังมีข้อกังขาตามมามากมายด้วยเหตุเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า "ต้นไม้ปีศาจ" นี้เติบโตที่ไหนก็ดูดเอาความอุดมสมบูรณ์ของดินที่นั่นออกไป
"ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" จึงลงพื้นไปดูของจริงในบริเวณที่มีการเพาะปลูกยูคาลิปตัสอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยเลือกพื้นที่ของ อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่รับรู้โดยทั่วกันว่าเป็นภูมิภาคที่มีความอุดมสมบูรณ์น้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อรับฟังทั้งความเห็นและข้อเท็จจริงจากเกษตรกรที่มีประสบการณ์ตรง
อย่างไรก็ดีการเดินทางสู่เป้าหมายนั้นพบเห็นการปลูกยูคาฯ ได้ตลอดเส้นทาง บางพื้นที่ปลูกบนนาข้าว บางแห่งปลูกตามคันนา บางครั้งก็พบสถานที่จำหน่ายกล้ายูคาฯ ที่ระบุราคาต้นกล้าละ 1 บาท และบางแห่งก็เป็นของบริษัทเอกชนที่ติดป้ายรับซื้อ "ต้นกระดาษ" ซึ่งเป็นอีกชื่อที่ทุกคนเข้าใจได้ว่าคือ "ยูคาลิปตัส" นั่นเอง
เมื่อถึงบ้านของนายเจียน เลิศสกุล ชายวัย 77 เจ้าของแปลงยูคาฯ กว่า 40 ไร่ที่ปลูกอยู่ข้างบ้านมานานราว 30 ปี ระบุว่าเดิมพื้นที่ดังกล่าวเคยใช้ปลูกมันสำปะหลัง ต่อมานักวิชาการเกษตรได้ส่งเสริมให้ปลูกยูคาฯ ซึ่งถือเป็นไม้เศรษฐกิจชนิดใหม่ในยุคที่เริ่มมีการปลูกกัน เมื่อปลูกแล้วจะมีคนมารับซื้อเพื่อนำไปใช้ทำนั่งร้านในการสร้างบ้าง เฟอร์นิเจอร์บ้างบ้าง และระยะหลังนิยมนำไปผลิตกระดาษกันมาก ซึ่งหากเขาขายไม้ยูคาที่มีอยู่ตอนนี้ก็จะได้เงินราวแสนกว่าบาท
ทางด้าน จสต.วุฒิชัย กลั่นสนิท ข้าราชการตำรวจประจำสถานีตำรวจบ้านกรวด ได้นำชมแปลงปลูกไม้ยูคาฯ ที่มีอยู่เกือบ 50 ไร่ โดยแบ่งเป็น 2 แปลงคือแปลงที่ปลูกอยู่หลังบ้านซึ่งใช้กล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ดและอีกแปลงที่อยู่ไกลจากบ้านไปหลายกิโลเมตรนั้นปลูกกล้าที่ได้จากการเพาะเนื้อเยื่อ ซึ่งความแตกต่างของกล้ายูคาฯ ทั้งสองคือแบบเพาะเมล็ดนั้นสามารถตัดได้เรื่อยๆ และจะงอกขึ้นมาใหม่ ส่วนกล้าแบบเพาะเนื้อเยื่อนั้นจะตัดได้เพียง 2-3 ครั้งเท่านั้นแต่จะเจริญเติบโตได้ดีกว่า ทั้งนี้เขาเคยปลูกมะพร้าวน้ำหอมและมะม่วงมาก่อนแต่ไม่มีเวลาดูแลผลผลิต จึงเปลี่ยนมาปลูกยูคาฯ ซึ่งไม่ต้องดูแลรักษามาก
"ปลูกยูคาฯ นี่เหมาะกัอาชีพตำรวจเพราะเราไม่มีเวลาดูแล ปลูกเสร็จก็ทิ้งๆ ไว้ พอโตก็มีคนมารับซื้อถึงที่ แล้วก็ไม่ต้องจัดการเอง เขาจะจัดการตัดให้เสร็จสรรพ เรารับตังค์อย่างเดียว เมื่อก่อนปลูกมะม่วง ไม่ไหว ต้องคอยดูแล ฉีดยาฆ่าแมลง ไม่อย่างนั้นก็เสียหายหมด อีกแปลงปลูกมะพร้าวน้ำหอม ไปเอาพันธุ์มาจากสามพราน (จ.นครปฐม) แต่สวนเราอยู่ไกล ไม่ได้ไปดูแล พอมันโตพวกก็เก็บไปกินหมด ปลูกยูคาฯ สบายใจกว่า" จสต.วุฒิชัยกล่าว
การปลูกยูคาฯ ตามคันนาเป็นอีกรูปแบบการขยายพันธุ์ไม้ชนิดนี้ ซึ่งพื้นที่จากการสำรวจครั้งนี้เป็นของ นายใจ ชมชัย เกษตรกรวัย 60 ที่ปลูกยูคาลิปตัสตามคันนารกร้างจากการปลูกข้าวมาได้ 4-5 ปีแล้ว โดยนำกล้ายูคาลิปตัสจากการเพาะเมล็ดที่มีวางขายอยู่ทั่วไปมาปลูกตลอดแนวคันนาเป็นระยะประมาณ 10 เมตร ซึ่งเขาเผยว่าได้ตัดจำหน่ายให้กับผู้ซื้อไปแล้วครั้งหนึ่งและได้รับเงินประมาณ 3-4 พันบาท แต่กว่าจะตัดจำหน่ายได้นั้นต้องใช้เวลา 3-4 ปีจึงจะได้ลำต้นที่โตพอ
"คนรับซื้อเขาจะตัดกิ่ง ก้าน ใบให้เหลือเพียงลำต้นแล้วตัดเป็นท่อนความยาว 2-3 เมตร ได้เงินไม่กี่บาทหรอกแต่ก็ปลูกทิ้งๆ ไป ไม่ต้องไปใส่ปุ๋ยให้มัน ยูคาฯ มันก็ดูดทุกอย่างเอง ดูดไปหมดเลย" นายใจกล่าว พร้อมเผยอีกว่าปกติแล้วบริเวณบ้านและที่ดินของเขาจะเต็มไปด้วยรังแตน แต่พอเริ่มปลูกยูคาก็ไม่เห็นแตนมาทำรังในบริเวณใกล้ๆ เลย
ถัดจากบ้านของนายใจไม่ไกลนักเป็นบ้านของ นางชื่น ดีชอรัมย์ อายุ 60 ปีที่มีพื้นที่ปลูกยูคาฯ 8 ไร่ โดยเพิ่งเริ่มปลูกได้ประมาณ 1 ปีด้วยเงินลงทุนราวหมื่นกว่าบาท ซึ่งเหตุผลที่นางเลือกปลูกยูคาฯ เพราะขาดแรงงานที่จะช่วยเหลือในการเพาะปลูกพืชชนิดอื่นๆ เนื่องจากอาศัยอยู่ตามลำพังเนื่องจากลูกหลานมีครอบครัวและได้แยกบ้านไปหมด
"จะปลูกยางอย่างคนอื่นก็ไม่คนช่วยกรีดยาง มันต้องทำทุกวัน ยายคนเดียวทำไม่ไหว ปลูกยูคาฯ ไว้ไม่ต้องดูแลมาก ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ปลูกทิ้งๆ ไป ถึงเวลามีคนมารับซื้อ เขาก็ตัดไปเอง อายุขนาดนี้แล้วจะให้ทำอย่างอื่นก็ลำบาก แต่ว่ายูคาฯ นี่นะเขาไม่ค่อยอยากให้ปลูกกันเพราะปลูกแล้วดินมันเสีย" นางชื่นกล่าว
หลังจากเยือนไร่ยูคาของนางชื่นซึ่งปลูกในพื้นที่ติดกับที่อยู่อาศัยของนางเองแล้ว ทีมงานได้เดินทางต่อและพบเห็นแปลงปลูกยูคาทั้งที่เพิ่งลงกล้าและที่ปลูกแซมตามคันนา จนกระทั่งสะดุดตากับต้นยูคาฯ ขนาดใหญ่ในแปลงปลูกแห่งหนึ่งจึงได้สอบถามหาเจ้าของสวนกับชาวบ้านที่อาศัยติดกับแปลงดังกล่าว
นางยวน ชาญประโคน หญิงชราวัย 73 ซึ่งปลูกบ้านติดกับสวนยูคาฯ ขนาด 25 ไร่ ระบุว่าแปลงยูคาลิปตัสดังกล่าวเป็นของนักวิชาการเกษตรคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ต่างอำเภอและได้ซื้อที่ดินเพื่อปลูกยูคาฯ เป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว โดยนานๆ ครั้งเจ้าของสวนจะแวะมาดูยูคาฯ ที่ปลูกไว้และเขาได้ตัดจำหน่ายแล้ว 4-5 ครั้ง แต่การมีพื้นที่ติดอยู่กับสวนยูคาฯ ดังกล่าวทำให้หญิงชราต้องประสบกับความยากลำบากในการปลูกพืชเกษตรชนิดอื่นในพื้นที่ติดกัน
"ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ปลูกมันสำปะหลังก็ตาย ปลูกยางก็ไม่รอด ปลูกพืชอะไรไม่ได้เลย ปลูกยูคาฯ มันไม่ดีทำให้ดินเสีย เดือดร้อนเรา แต่จะทำไงได้ในเมือมันเป็นที่ดินของเขา จะไปว่าอะไรเขาได้ แต่ยายก็อยากให้เขามาดูหน่อย สงเคราะห์กันบ้าง ว่าจะคุยกันแต่ก็ยังไม่เจอเขาสักที" นางยวนกล่าว
ความเดือดร้อนเช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับนางวินิตา หอกประโคน เกษตรกรวัย 51 ซึ่งเคยปลูกยูคาฯ มาก่อน แต่ระยะหลังราคายางพาราดีขึ้น อีกทั้งได้เห็นว่าน้องชายที่มีสวนยางฯ อยู่ทางใต้นั้นมีรายได้ดี จึงหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่สำหรับท้องถิ่นนี้ หากแต่ผลพวงของการปลูกพืชโตเร็วก่อนหน้าทำให้เธอต้องปรับแต่งดินถึง 2-3 ปีกว่าที่พร้อมสำหรับลงกล้ายางพารา
"ปรับดินที่ปลูกยูคาฯ ต้องลงทุนเยอะ รากมันลึกต้องใช้รถแมคโครขุด เฉพาะปรับหน้าดินก็ใช้เงินไป 8 แสนแล้ว ถ้าไม่ใช่เพราะน้องสาวมีสามีฝรั่งก็คงทำไม่ได้หรอก นี่พอปลูกมาแล้วก็เจอปัญหาอีก ที่ข้างเคียงเขาปลูกยูคาฯ พอเราปลูกยางก็ตายเรียบ ต้องปลูกสะเดาขั้นเพราะยางมันแพ้ยูคา แต่ก็ยังเอาไม่อยู่สะเดาตายไปหลายต้นแล้ว ยูคาฯ มันชนะทุกอย่างเลย ขนาดสวนยูคาอยู่ตรงข้ามคนละฟากถนน ต้นยางที่ปลูกติดถนนยังตายเลย บ่อน้ำข้างถนนใกล้แปลงยูคาก็เคยไว้ใช้กัน เดียวนี้น้ำแห้งเกือบหมด" นางวินิตากล่าว
ส่วนคนที่เดือดร้อนหนักเห็นจะเป็น นางสุพรรณ เมอะประโคน เกษตรกรวัย 58 ซึ่งมีที่ดินอยู่ติดกับแปลงยูคาฯ ของนายเจียน ระบุว่ามีกรณีพิพาทกันมานานกว่า 30 ปี นับแต่เพื่อนบ้านปลูกยูคาฯ ทำให้ที่ดินของนางที่อยู่ติดกันไม่สามารถเพาะปลูกได้ ซึ่งก็ได้พยายามขอร้องให้เจ้าของแปลงยูคาขยับแนวปลูกออกไป 2-3 เมตรจากหลักเขตที่ดินตามกฎหมายแต่ก็ไม่ได้การตอบสนอง และแม้จะฟ้องร้องกับเจ้าหน้าที่ปกครองประจำท้องถิ้นก็ไม่มีผลที่ดีขึ้น ล่าสุดนางสุพรรณจึงให้รถมาขุดดินในที่ของตัวเองด้วยความลึกและกว้าง เมตรxเมตร เพื่อตัดรากของยูคาที่เข้ามาแย่งสารอาหารในที่ดินของนางเสีย
"มันเสียหาย เสียหายมาก ฉันทนมา 30 ปีแล้ว มีปัญหาตลอด ล่าสุดก็เพิ่งทะเลาะกันที่ฉันขุดดินในที่ของฉัน เพราะเวลาวัว-ควายเดินมันก็เข้าไปในที่ของแก แต่จะให้ทำยังไง ถ้าไม่ขุดดินฉันก็เพาะปลูกไม่ได้ ฉันก็บอกแกไปว่าเพราะตาไม่ยอมขยับแนวปลูกออกไป ฉันก็ต้องขุดที่ดินของฉันซึ่งก็เป็นสิทธิของฉัน" นางสุพรรณระบายความอัดอั้น
สำหรับคนที่ตัดสินใจปลูกยูคาลิปตัสก็คงไตร่ตรองถึงผลดี-ผลเสียที่จะได้รับแล้วว่าการปลูกพืชทำลายดินมหาศาลนี้ส่งผลกระทบต่อพวกเขาหรือไม่ หากแต่ผู้ที่เดือดร้อนก็คือผู้มีที่ดินทำกินอยู่ข้างเคียงสวนยูคาฯ และต้องการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นที่ให้ผลตอบที่ดีกว่า แม้จะต้องลงแรงมากกว่าด้วย็ตาม ดังนั้นเมื่อรากยูคาฯ ชอนไชดินลงไปแล้วก็ไม่ต่างกับการแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างผู้สมประโยชน์และเสียประโยชน์