เอเจนซี-ผู้นำจีนเล็งขยายเขตเมืองรอบชนบททัาวประเทศเพื่อรองรับแผนการปฏิรูปชนบท พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร และขณะนี้ กำลังทดลองพัฒนาเขตเมืองในนครฉงชิ่ง ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้อันห่างไกลของประเทศ เพื่อเป็นบทเรียนในการจัดการกับเมืองขนาดใหญ่ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วของจีน
เศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วของฉงชิ่ง เป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้คนท้องนาชนบทที่ห่างไกล และเมื่อไม่กี่ปีมานี้มีผู้ย้ายถิ่นมาอาศัยในฉงชิ่งถึง 2 ล้านคน บวกกับประชากรอาศัยถาวรในเมืองอีก 4 ล้านคน
ทั้งหมดต่างเบียดเสียดอาศัยกันบนพื้นที่ 500 ตารางกิโลเมตร ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำเจียหลิงและแยงซีเกียง ที่ซึ่งบ้านและที่ดินป็นสินค้าล้ำค่า ผู้คนนับล้านต่างแย่งชิงพื้นที่อยู่อาศัย
“บ้านเช่าของฉันเต็มตลอด ไม่เคยว่างเลย เพราะความต้องการของตลาดสูงมาก” เฉินจวินไฉ หนึ่งในสิบพนักงานบริษัท เจียงโจว เรียลเอสเตท เอเจนซี่ ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงการนี้ตั้งแต่ปี 1998 กล่าว
ทั้งนี้ ตัวเฉินเองก็ย้ายถิ่นมาจากมณฑลซื่อชวน(เสฉวน)ที่อยู่ติดกับเมืองฉงชิ่ง และไม่คิดจะกลับไปอีก โดยให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการไปจากเขตที่กำลังเจริญเติบโต ซึ่งปีที่แล้ว เศรษฐกิจฉงชิ่งโตถึง 14%
ปัจจุบัน ฉงชิ่งกำลังตกอยู่ในกระแสน้ำวนอันเชี่ยวกรากแห่งการแปลงสภาพสู่เขตเมือง ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อบริเวณใกล้เคียงทั้งหมด โดยเทศบาลเมืองแห่งนี้มีขนาดใกล้เคียงกับประเทศออสเตรีย มีประชากรทั้งสิ้น 32 ล้านคน เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ฉงชิ่งมีประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองเพียง 28% ของประชากรทั้งหมด 32 ล้านคน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นถึง 46% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่าในอีก 20-30 ปี เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นคาดการณ์
นั่นหมายถึง ทุกปีเกษตรกรของเทศบาลเมืองฉงชิ่งถึงครึ่งล้านคน จะย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในเขตเมือง ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหามากมายในด้านการวางผังเมือง
“สิ่งที่เราเห็นในฉงชิ่ง เป็นสิ่งที่เราพบในเขตเมืองใหญ่ทุกแห่งของจีน เกษตรกรที่หางานในบ้านเกิดไม่ได้ ก็จะย้ายมาทำงานในศูนย์กลางอุตสาหกรรมและบริการ อันเป็นค่านิยมที่ไม่เปลี่ยนแปลง”โจวหลี่ผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรสถาบันวิจัยพัฒนาตะวันตก และมหาวิทยาลัยหังโจวกล่าว
การพลิกโฉมเขตเมือง นับเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างลงลึกที่สุดในประวัติศาสตร์จีน ยิ่งกว่าการสิ้นสุดของระบอบการปกครองโดยราชวงศ์กษัตริย์ หรือการปฏิวัติจีนใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์ เนื่องจากเป็นการพลิกเปลี่ยนสังคมชนบทที่มีอายุนับพันปี ให้กลายเป็นสังคมเมือง
ราว 10 ปีที่แล้ว นักวางแผนเศรษฐกิจได้มองหาวิธีการที่จะยับยั้งการขยายตัว เพื่อควบคุมขนาดของเมืองใหญ่ แต่ก็ต้องยอมจำนนต่อกระแสที่โถมเข้ามาดั่งน้ำเชี่ยวกรากอันไม่ขาดสาย
คาดการณ์กันว่า ปัจจุบันประชากรเขตเมืองของจีนมีอยู่ราว 600 ล้านคน แต่ในปี 2020 อาจเพิ่มขึ้นสูงแตะระดับ 900 ล้านคน ซึ่งมากกว่าครึ่งของประชากรทั้งประเทศ โดยปัจจุบันตัวเลขทางการระบุว่าจีนมีประชากรราว 1,300 ล้านคน
ตามข้อมูลของสถาบันนานาชาติปักกิ่งด้านการพัฒนาเมืองระบุ ขณะที่ประชากรในชนบทบางส่วนอาจย้ายไปอาศัยในเมืองที่เล็กกว่า พวกเขาจะกลายเป็นคนกลุ่มน้อยของที่นั่น และภายใน 15 ปี จีนจะมีแต่เมือง 200 เมืองที่มีประชากรเมืองละ 3 ล้านคน
ราคาที่จ่ายให้กับการเป็นเขตเมืองในอดีต
การเปลี่ยนแปลงของขอบเขตและความเร็วดังกล่าว นำมาซึ่งปัญหามากมาย ฉงชิ่งต้องเผชิญกับผลกระทบมากมายจากการพัฒนาเขตเมืองอย่างรวดเร็ว การจราจรเป็นอัมพาตในชั่วโมงเร่งด่วน เนื่องจากบนท้องถนนอันคับแคบแออัดไปด้วยรถยนต์ของเศรษฐีใหม่ ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุที่อาศัยในเมืองมาแต่เล็กหวนนึกถึงอดีต ซึ่งพวกเขากล่าวว่า ในเวลานั้นไม่มีความกังวลในเรื่องอาชญากรรมเลย
อู๋เติงหมิง นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมวัย 67 ปี ซึ่งเกิดและเติบโตในฉงชิ่งเล่าว่า “สมัยผมยังเด็ก ใครก็สามารถลงไปอาบน้ำหรือดื่มน้ำจากแม่น้ำเจียหลิงได้ แต่ถ้ามาทำตอนนี้จะเป็นสิ่งที่อันตรายมาก”
“ผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากบริษัทต่างๆ ทวีความรุนแรงพอๆกับความเร็วในการขยายฐานอำนาจทางธุรกิจของบริษัทเหล่านั้นเลย”
ขณะที่ ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมเป็นหนึ่งในปัญหาที่ฉงชิ่งและเมืองใหญ่อื่นๆของจีนกำลังต่อสู้อย่างหนักอยู่นั้น ชุมชนแออัดก็เป็นปัญหาที่กำลังตามมา
อย่างไรก็ดี พื้นที่เมืองอันกว้างใหญ่ของจีนจะต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อให้หลุดพ้นจากความหายนะอย่างที่เกิดในเขตชุมชนแออัดของกรุงดิโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล
“ประเทศบางแห่งในแถบละตินอเมริกา มีการขยายเขตเมืองที่สูงมาก และช่องว่างระหว่างคนรวยและจนกว้างมาก ชุมชนแออัดกลายเป็นปัญหาสำคัญของที่นั่น เราจะต้องเรียนรู้จากมัน และลดช่องว่างทางรายได้”โจว จากมหาวิทยาลัยหังโจวกล่าว
แต่ผู้นำฉงชิ่งดูเชื่อมั่นในการพัฒนาเมือง โดยรองนายกเทศมนตรีหวงฉีฟันกล่าวว่า ตนได้ไปศึกษาชุมชนแออัดในประเทศต่างๆ เช่น บราซิล,อินเดีย และไทย และมั่นใจว่า ฉงชิ่งจะไม่มีปัญหาชุมชนแออัดแบบนั้น โดยเห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วหมายถึงเกษตรกรมีโอกาสได้งานเร็วขึ้น จึงไม่ต้องอาศัยอยู่อย่างยากจน
“ช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเราเติบโตอย่างรวดเร็ว และใน 20 ปีข้างหน้ามันก็จะเป็นเช่นนี้ต่อไป”หวงฉีฟันกล่าว.