xs
xsm
sm
md
lg

"ยูคาลิปตัส" กำลังกลายเป็น "ไม้เทวดา"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ยูคาลิปตัส" ไม้เศรษฐกิจที่ผลิตทั้งน้ำมันและกระดาษอย่างที่เราคุ้นเคย เมื่อใดที่มีประเด็นรณรงค์ส่งเสริมให้ปลูกไม้ชนิดนี้ผุดขึ้นมาเมื่อใด ย่อมมีเสียงคัดค้านถึงผลเสียที่โดดเด่นไม่แพ้ผลประโยชน์ และล่าสุดกับแนวคิดของ รมว.วิทยาศาสตร์คนใหม่ยกมาเป็นนโยบายสร้างความฮือฮา ด้วยหวังจะผลิตไบโอออยล์จากยูคาแก้วิกฤติ พร้อมกับข้อแย้งใหม่ว่าไม้ชนิดนี้หาได้เลวร้ายอย่างที่กังวลกันไม่ "ยูคาลิปตัส" ครั้งนี้จึงถูกแปลงกายจาก "ไม้ปิศาจ" กลายเป็น "ไม้เทวดา" ขึ้นมาในทันใด !!

“ยูคา” ถิ่นกำเนิดออสเตรเลีย เข้าไทยเมื่อ 50 ปีก่อน

ยูคาลิปตัส (eucalyptus) เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดหลักอยู่ในประเทศออสเตรเลีย มีกว่า 700 สายพันธุ์ กระจัดกระจายอยู่บ้างในรอยต่อแถบนิวกีนี อินโดนีเซีย และหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ได้มีการนำไปปลูกในภาคใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา บราซิล เอธิโอเปีย อุรุกวัย มาดากัสการ์ และในทวีปแอฟริกา แต่ความเหมาะสมของการปลูกยูคาก็ยังเป็นที่ถกเถียงและไม่ได้รับการยืนยันที่แน่ชัด

ยูคาลิปตัสเป็นพืชที่ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี และเจริญเติบโตได้ทุกสภาพดิน ตั้งแต่ดินทราย ดินเค็ม ดินเปรี้ยว แต่ไม่ทนดินที่มีหินปูนสูง โดยประเทศไทยนำเข้ายูคามาปลูกในปี 2493 เป็นครั้งแรก แต่มีการปลูกอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2507 เป็นต้นมา

ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการพืชเศรษฐกิจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และจากกรมป่าไม้ ชี้ว่า ยูคาลิปตัสที่ปลูกมากในไทยคือ "คามาลดูเลนซิส" (Eucalyptus camaldulensis Dehnh.) ในวงศ์ไม้ชมพู่ (Myrtaceae) มีชื่อการค้าว่า "เรดกัม" (red gum)

ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิส เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง-ใหญ่ มีความสูง 24-30 ม. และอาจสูงได้ถึง 50 ม. มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1-2 เมตรหรือมากกว่านั้น อีกทั้งเป็นไม้โตเร็วไม่ผลัดใบ เกษตรกรสามารถตัดใช้ได้ตั้งแต่อายุ 3-5 ปี แตกหน่อใหม่ดีจึงไม่ต้องปลูกใหม่ และด้วยความสามารถในเจริญเติบโตดีในแทบทุกพื้นที่ จึงไม่แปลกที่มันจะเป็นที่นิยมปลูกมากที่สุด

ถ้าปลูกในไทย ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิส จะมีรูปทรงสูงเพรียว ลำต้นเปล้าตรงมีกิ่งก้านน้อย มีเรือนยอดรูปทรงกรวยสูง ใบเดี่ยวเรียงเขียนสลับ ใบรูปหอกหรือรูปขอบขนานแกมหอกขนาด 2.5–12 x 0.3–0.8 นิ้ว ก้านใบยาว ใบสีเขียวอ่อนทั้งสองด้าน บางครั้งมีสีเทา ใบบางห้อยลง เส้นใบมองเห็นได้ชัด ดอกมีสีขาว ออกช่อขนาดเล็กตลอดปีปีละ 7 -8 เดือน ดอกจะออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง แต่แม้จะมีเกสรเหมาะแก่การเลี้ยงผึ้ง ทว่าดอกของยูคากลับไม่มีกลิ่นอย่างที่หลายคนคิด

ลักษณะเนื้อไม้ยูคา มีแก่นสีน้ำตาล กระพี้สีน้ำตาลอ่อน กระพี้และแก่นสีแตกต่างเห็นได้ชัด ไม้ยูคาลิปตัสคามาลดูเลนซิสที่มีอายุมากขึ้นจะมีสีน้ำตาลแดงเข้มกว่าไม้อายุน้อย เนื้อไม้มีลักษณะค่อนข้างละเอียด เสี้ยนสน บางครั้งบิดไปตามแนวลำต้น เนื้อไม้มีความถ่วงจำเพาะอยู่ระหว่าง 0.6–0.9 ในสภาพแห้งแล้งซึ่งขึ้นอยู่กับอายุของไม้ เนื้อไม้แตกง่ายหลังจากตัดฟันตามแนวยาวขนานลำต้น แต่ถ้าทำให้ถูกหลักวิธีก็สามารถนำมาเลื่อยทำเครื่องเรือนและก่อสร้างได้

ผลยูคามีลักษณะครึ่งวงกลม หรือรูปถ้วย มีขนาด 0.2–0.3 x 0.2–0.3 นิ้ว ผิวนอกแข็ง ให้ผลได้ตลอดปี เมื่อยังอ่อนจะมีสีเขียว ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ ที่ปลายผลจะแยกออกทำให้เมล็ดที่มีขนาดเล็กกว่า 1 มม.ร่วงออกมา โดยการขยายพันธุ์ยูคาทำได้โดยการเพาะเมล็ด ซึ่งเมล็ดยูคา 1 กก.จะประกอบไปด้วยเมล็ดยูคาตั้งแต่ 100,000 -200,000 เมล็ด

การเพาะเมล็ดยูคาลิปตัส ควรทำในระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เพราะสะดวกและได้ผลดี เนื่องจากหมดหน้าฝน และอากาศไม่ร้อนจนเกินไป การย้ายชำจะมีเปอร์เซ็นต์การรอดตายสูง เมื่อกล้างอกมีอายุ 18 วันให้เลี้ยงไว้ในถุงชำอย่างน้อย 2 –3 เดือนลำต้นจะมีความสูงประมาณ 25 ซม. ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งที่จะนำไปใช้ปลูกในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม

ประโยชน์มากมายของ “ไม้เทวดา”

ทั้งนี้ ประโยชน์ของไม้ยูคาลิปตัสถือเป็นจุดเย้ายวนใจของเหล่าเกษตรกรมากที่สุด เพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางตรงได้หลายอย่าง ได้แก่

1.การทำไม้ใช้สอย เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน ทำรั้ว ทำคอกปศุสัตว์ ทำเสา หรือใช้ในการก่อสร้างต่างๆ

2.การทำฟืน เผาถ่าน โดยถ่านไม้ยูคาลิปตัสใช้เป็นเชื้อเพลิงติดไฟได้ดีและมีขี้เถ้าน้อย ไม้ฟืนยูคาให้พลังงานความร้อน 4,800 แคลอรีต่อกรัม ส่วนถ่านไม้ยูคาให้พลังงานความร้อน 7,400 แคลอรีต่อกรัม จัดว่าให้ความร้อนใกล้เคียงกับถ่านไม้โกงกาง ซึ่งเป็นถ่านไม้ที่ดีที่สุด

3.การทำชิ้นไม้สับ
ไม้ยูคาลิปตัสเมื่อแปรรูปและสับทำชิ้นไม้สับ สามารถนำไปผลิตแผ่นชิ้นไม้อัด แผ่นใยไม้อัด แผ่นปาร์ติเกิล และแผ่นไม้อัดซีเมนต์ที่มีมูลค่าสูง

4.การทำเยื่อไม้
ไม้ยูคาลิปตัสสามารถแปรรูปทำเยื่อไม้ยูคาที่ประกอบด้วยเซลลูโลส นำไปใช้ทำเส้นใยเรยอนและทำผ้าแทนเส้นใยฝ้าย และปุยนุ่น

และ 5. การทำกระดาษ
เยื่อไม้ยูคาลิปตัส 1 ตันสามารถผลิตเยื่อกระดาษได้ประมาณ 1 ตัน โดยเยื่อไม้ยูคามีคุณสมบัติเด่น คือ มีความฟูสูง และมีความทึบแสง ประกอบกับไฟเบอร์มีความแข็งแรงเหมาะต่อการใช้ทำกระดาษพิมพ์เขียวประเภทต่างๆ

นอกจากนั้นแล้ว ข้อมูลบางแหล่งยังชื่นชมไม้ยูคาในด้านการเพาะเลี้ยงเห็ดมาก โดยระบบรากของไม้ยูคาลิปตัสจะมีเชื้อราไมคอร์ไรซาชนิดต่างๆ อาศัยอยู่ เป็นตัวช่วยดูดธาตุฟอสฟอรัสให้กับต้นยูคาได้มากขึ้น ช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตดี และปรับปรุงดินเสื่อมให้มีคุณภาพดีขึ้น เช่น เห็ดเสม็ด เห็ดไข่ และเห็ดระโงกขาว

อีกทั้งดอกยูคาลิปตัสมีน้ำหวานล่อแมลงมาผสมเกสรและดูดเอาน้ำหวานไปสร้างรวงผึ้ง โดยเฉพาะการที่มันออกดอกปีละ 7 – 8 เดือนหรือเกือบตลอดปี ผิดกับพันธุ์ไม้ชนิดอื่นๆ ที่มักออกดอก 1 – 2 เดือน/ปี จึงดีมากสำหรับการเลี้ยงผึ้ง น้ำผึ้งที่ได้มีรสและคุณภาพดี รวมทั้งน้ำมันใบยูคายังมีสรรพคุณทางยา โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก

ที่สำคัญ ประโยชน์ใหม่ที่ถูกนำเสนอเป็นข้ออ้างสำหรับการส่งเสริมปลูกยูคาลิปตัสรอบใหม่ที่รัฐบาลกล่าวถึงคือ เพื่อผลิตไบโอออยล์หรือเชื้อเพลิงเหลวที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงน้ำมันดีเซล ซึ่งอ้างว่าอาจมีราคาถูกเพียง 15 บาท/ลิตร

วิเคราะห์โทษมากมีของ “ไม้ปิศาจ”

อย่างไรก็ตาม แม้คุณประโยชน์ของยูคาจะมีมากอนันต์ ทว่าข้อมูลจากการวิจัยหลายชิ้นและจากปากคำของเกษตรกรผู้มีประสบการณ์ปลูกยูคาต่างก็ชี้ว่าก็มีโทษมหันต์เช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อระบบนิเวศที่สูงมาก โดยเฉพาะต่อดิน น้ำ สัตว์ขนาดใหญ่และสัตว์ขนาดเล็ก เช่น มดแดง หรือแมลงต่างๆ จะถูกทำลายและไร้ที่อยู่อาศัย การปลูกยูคาจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นพืชที่ทำลายธรรมชาติได้อย่างฉกาจฉกรรจ์ที่สุดตัวหนึ่งจนถูกเรียกว่าต้นไม้ปีศาจ หรือบางรายเรียกว่าไม้ผีปอบ ดังที่มีคำพูดคุ้นหูกันว่า “ดินที่มีคุณภาพเลวที่สุดคือดินที่ปลูกยูคาแล้ว”

ขณะเดียวกันยังพบผลกระทบที่เกิดต่อโครงสร้างของดิน โดยเฉพาะดินในเขตภาคอีสาน ซึ่งเป็นดินปนทรายว่าเมื่อผ่านการปลูกป่ายูคาลิปตัสไปประมาณ 4-5 ปี ดินบริเวณนั้นจะมีสภาพแห้งแล้งมาก และเนื่องจากในบริเวณป่ายูคาลิปตัสจะไม่มีพืชต่างๆ สามารถเกิดขึ้นแซมได้เลยเพราะยูคาจะปล่อยสารเคมีที่มีพิษออกมายับยั้งการเจริญเติบโตของพืชข้างเคียง ดังนั้น เมื่อฝนตกลงมาจึงเกิดการชะล้างหน้าดินสูง

นอกจากนั้น ยูคาลิปตัสยังเป็นพืชโตเร็ว รากจึงดูดซับปุ๋ยและธาตุอาหารต่างๆ ได้ดีมาก รากแผ่ขยายลงในดินได้ลึกมากถึง 15 ม. ยากแก่การกำจัดทำลายหลังการปลูก ไม่น่าแปลกใจที่พืชชนิดอื่นไม่สามารถจะแย่งแร่ธาตุสู้มันได้

อารีรัตน์ กิตติศิริ ชมรมศิษย์เก่าบูรณะชนบทและเพื่อน (RRAFA) ได้กล่าวถึงผลกระทบของการปลูกยูคาเป็นพืชเชิงเดี่ยวในประเทศไทยในรายงานของเธอ โดยยกตัวอย่างที่น่าตื่นตกใจจากพื้นที่ปลูกยูคาของสวนป่าสมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเมื่อปี 2528 เคยมีพื้นที่ปลูกยูคาถึง 8,575 ไร่ในเขตป่าสงวนแห่งชาตินาจารย์ -ดงขวางว่า ครั้งหนึ่งพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก่อน สัตว์ป่าหลายชนิดอาศัยอยู่ที่นั่น จนกระทั่งบริษัทค้าไม้เข้ามายังพื้นที่ในปี 2500 -2510 ต้นไม้ที่เคยมีอยู่ก็อันตรธานหายไปหมด

จากนั้น เมื่อชาวบ้านเริ่มโยกย้ายเข้ามาทำกินในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อใช้เป็นพื้นที่กสิกรรมตั้งแต่ปี 2510 จนถึงปี 2517 องค์กรอุตสาหกรรมป่าไม้ก็ได้เข้ามาชักชวนให้ชาวบ้านเข้าเป็นสมาชิกและแรงงานในเครือข่ายการปลูกป่ายูคาลิปตัส โดยสัญญาจะให้พื้นที่ทำกินฟรี 7 ไร่พร้อมออกเอกสารสิทธิ์ อีกทั้งยังสัญญาว่าจะสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน โรงเรียน ไฟฟ้า และศูนย์สุขภาพให้ ซึ่งใน 2 ปีแรกพวกเขายังได้รับอนุญาตให้ปลูกข้าวโพดและมันสำปะหลังแซมระหว่างแถวต้นยูคาได้ ทว่าหลังจากนั้นแล้วกลับไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าใช้พื้นที่อีกเลย

ที่สำคัญ ผลร้ายต่อระบบนิเวศที่หลงเหลือจากการปลูกยูคาก็สร้างความเดือดร้อนมากมาย ดินที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับกลายเป็นดินที่มีเกลืออยู่มาก สีของดินเปลี่ยนเป็นสีขาว ผลผลิตข้าวในพื้นที่ใกล้เคียงลดลงกว่า 10 เท่า และแหล่งน้ำบาดาลที่เคยมีถึง 5 บ่อกลับเหือดหายเหลือเพียงบ่อเดียวจนเกิดภาวะขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง โดยน้ำบาดาลมีระดับลดลงถึง 10 -15 เมตร และหลังจาก 20 ปีแรกของโครงการแล้ว พวกเขาก็ไม่ได้รับสิทธิ์ใช้ที่ดินอีก

ขณะที่ตัวอย่างอื่นๆ นอกจากกรณีของป่าสมเด็จแล้ว ในรายงานของอารีรัตน์ ยังยกตัวอย่างของบ้านน้อยตลาดเมือง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด และสวนป่าสังขะ อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 2 แห่งติดต่อกันคือป่าสงวนฝั่งขวาสำราญและป่าสงวนฝั่งขวาห้วยเสนว่าต่างก็ได้รับบทเรียนจากการปลูกยูคาไม่แตกต่างกัน

ในปี 2528 จึงถือเป็นปีหนึ่งที่เกษตรกรลุกฮือขึ้นต่อต้านการปลูกยูคาอย่างมาก เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในหลายพื้นที่รวมตัวต่อต้านและแม้กระทั่งบุกทำลายยูคาลิปตัสในสวนป่าหลายต่อหลายครั้ง ยกตัวอย่างชาวบ้าน ต.เสียว อ.อุทุมพิสัย จ.ศรีสะเกษ ที่บุกทำลายต้นยูคาและเรือนพยาบาลในป่าโนนลางในปีนั้น

ปลุกผี “ยูคา” กลับมาเป็นเทวดาอีกครั้ง

ทว่า เมื่อยูคาได้รับการปลุกกระแสอีกครั้งในปี พ.ศ.นี้ ฝ่ายสนับสนุนยูคาได้ปฏิเสธข้อเสียของไม้ยูคาทั้งหมด โดยนายวุฒิพงศ์ เจ้ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะผู้จุดกระแสการสนับสนุน ชี้ว่า ภาพผลกระทบร้ายแรงของยูคาในอดีตได้เลือนหายไปหมดแล้ว
 
เพราะเมื่อมีการนำเข้ายูคามาปลูกเมื่อหลายสิบปีก่อน ก็ได้มีการพัฒนาพันธุ์ยูคาลิปตัสจนปรับตัวได้อย่างกลมกลืนกับระบบนิเวศของไทย และลดผลเสียที่เคยมีต่อสิ่งแวดล้อมได้ทั้งหมด จนเป็นพันธุ์ใหม่ที่แตกต่างจากพันธุ์โบราณเมื่อ 20 ปีก่อนอย่างสิ้นเชิง

ข้อกล่าวหาต่างๆ ได้ถูกปฏิเสธทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นข้อกล่าวหาว่ายูคาใช้ธาตุอาหารในดินมาก เขาชี้ว่า แต่เปลือกของยูคาซึ่งกักเก็บธาตุอาหารไว้มากกว่าส่วนอื่นๆ ของต้นก็สามารถหมุนเวียนมาผลิตปุ๋ยหมักคุณภาพสูง หนำซ้ำปมรากของยูคายังดึงธาตุอาหารจากอากาศลงมายังพื้นดินเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่พื้นดินได้อีกด้วย

เขาย้ำด้วยว่า เขาจะส่งเสริมปลูกยูคาตามคันนาที่ไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำเท่านั้นเพราะยอมรับว่ายูคาเป็นพืชที่ใช้น้ำมากจริง แต่ปฏิเสธชัดเจนว่าการส่งเสริมปลูกยูคานี้จะไม่เป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพราะเป็นการปลูกข้าวและยูคาอยู่ร่วมกัน โดยสิ่งมีชีวิตรอบไม้ยูคา ทั้งมดแดง แมลง นก หรือแม้แต่ปูปลาในนาข้าวก็จะไม่ได้รับผลกระทบจากยูคาแต่อย่างใด และในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีก็ให้ความชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลของเขาจะสนับสนุนปลูกยูคาแน่นอน

ส่วนยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิส สายพันธุ์ใหม่ที่ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ พูดถึง ดร.เริงชัย เผ่าสัจจ อดีต รองผอ.โครงการอนุรักษ์และจัดการแหล่งพันธุกรรมไม้ป่า กรมป่าไม้ หนึ่งในผู้ผลักดันให้มีการปลูกยูคาลิปตัส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คือสายพันธุ์ที่เกิดจากการผสมเกสรของยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิส กับเกสรของยูคาลิปตัสสายพันธุ์อื่นๆ เพื่อให้ได้คุณสมบัติโตไว ให้ผลผลิตสูง และต้านทานโรคและแมลงมากขึ้น

แต่การพัฒนาพันธุ์เหล่านี้ก็ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการปลูกยูคาพันธุ์เก่าๆ อย่างที่ว่ากัน เพราะข้อเสียพวกนั้นมันไม่มีอยู่จริงตั้งแต่แรกแล้ว” ดร.เริงชัยย้ำ

เขายังบอกอีกว่าในประเทศไทยมีการพัฒนาสายพันธ์ลูกผสมเหล่านี้มาอย่างเข้มข้นตั้งแต่ปี 2512 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีกว่า 10 สายพันธุ์ที่เป็นที่นิยม โดยการพัฒนาของภาคเอกชน 2 -3 รายที่มีทุนมากพอจะพัฒนาสายพันธุ์ได้เอง รวมถึงบางส่วนที่พัฒนาพันธุ์โดยภาครัฐ เช่น สายพันธุ์ D1, D2, K7, K51, K58, S24, S32 และ T 5

อย่างไรก็ตามแต่ แม้ฝ่ายสนับสนุนซึ่งมีรัฐบาลเป็นแกนนำจะรับประกันว่ายูคาไม่มีผลเสียที่น่าวิตกกัน แต่ความกังวลของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการปลูกยูคาตามที่ปรากฏในกระดานแสดงความคิดเห็น และตามสื่อต่างๆ ก็ยังคงยืนยันเช่นเคยว่ายูคามีผลเสียมากกว่าผลดีแน่นอน และผลร้ายของมันอาจรุนแรงถึงขั้นเปลี่ยนประเทศไทยไปเป็นทะเลทรายทีเดียว
 
สมัยเคยฝึกเป็นทหารแถวป่า อ.สนามไชยเขต ฉะเชิงเทรา แถวนั้นเป็นป่ายูคาทั้งนั้น พูดแล้วเป็นเรื่องตลกร้าย เดินอยู่ในป่าทั้งวันเป็นสิบกิโลแต่ไม่เจอนกสักตัว เพราะว่าต้นยูคา ไม่มีหนอน ทำให้ทั้งป่าไม่มีอาหารนกตามธรรมชาติ นกไม่หากิน ถือเป็นดินแดนต้องคำสาปของมัน นกตัวไหนหลงเข้ามาเป็นอดตายถึงรู้ว่าป่ายูคาทำให้ธรรมชาติเสีย ไม่เฉพาะแต่ดินที่กลายเป็นดินทราย แต่สัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติก็สูญหายไปด้วย

หนึ่งความคิดเห็นของผู้ใช้นามแฝงว่า “ทหารเก่า” แสดงความคิดเห็นบนโลกอินเทอร์เน็ตอย่างน่าคิด

ข้อเสนอของพวกเขาที่ผุดขึ้นมาระหว่างยังไม่มีการลงมือปลูกนี้จึงเป็นการพิจารณาพืชโตเร็วตัวอื่นอย่างกระถินยักษ์ กระถินเทพา และกระถินณรงค์ทดแทนยูคา

อีกข้อเรียกร้องหนึ่งที่น่ารับฟังเป็นการที่ภาครัฐควรส่งเสริมให้เร่งศึกษาวิจัยผลดีและผลเสียของยูคาลิปตัสอย่างชัดเจนก่อน ซึ่งคงไม่ทำให้สายเกินไปที่จะตัดสินใจไปได้ว่าเกษตรกร
ไทยใน พ.ศ.นี้ควรจับจอบจับเสียมเตรียมปลูกยูคาตามคันนากันหรือไม่ ?








กำลังโหลดความคิดเห็น