xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยจีนพบไวรัสซาร์สชอบเซลล์ที่มีคลอเรสเตอรอลสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเยนซี/ไซน์เดฟดอตเน็ต/เนเจอร์ - นักวิจัยแดนมังกรพบกลไกเชื้อไวรัสต้นเหตุโรคซาร์สแพร่เข้าสู่เซลล์ เผยชอบผ่านเข้าเซลล์ผู้ติดเชื้อตรงด้านที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง หวังนำสิ่งที่ค้นพบไปพัฒนาเป็นยาต้านเชื้อมรณะให้ได้ในเร็ววัน

วารสารเซลล์รีเสิร์ช (Cell Research) เผยแพร่ผลการวิจัยกลไกการติดเชื้อของไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน หรือ ซาร์ส (Severe acute resporatiry syndrome: SARS) ของทีมวิจัยจากประเทศจีน ที่พบว่าไวรัสดังกล่าวโจมตีเข้าสู่เซลล์เป้าหมายได้ดีในบริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ที่มีตัวรับ (receptor) จำเพาะและอุดมไปด้วยไขมันบางชนิดและคอเลสเตอรอล ซึ่งนักวิจัยศึกษากลไกเพื่อหวังพัฒนายาต้านเชื้อไวรัสซาร์สต่อไป

เจียงเฉินยี่ว์ (Jiang Chengyu) หนึ่งในทีมวิจัยจากวิทยาลัยการแพทย์ครบวงจรแห่งปักกิ่ง (Peking Union Medical College) เปิดเผยว่า พวกเขาค้นพบกระบวนการเข้าสู่เซลล์ของเชื้อไวรัสโรคซาร์สแล้ว หลังจากที่เฝ้าจับตาดูความสัมพันธ์ของเชื้อไวรัสกับตัวรับบนผิวเซลล์มานานในห้องปฏิบัติการ พร้อมทั้งศึกษาผลของการยับยั้งเชื้อไวรัสด้วยสารต่างๆ เพื่อดูว่าปัจจัยใดบ้างที่จำเป็นต่อการแพร่เข้าสู่เซลล์ของเชื้อไวรัส

แต่เดิมนักวิทยาศาสตร์เข้าใจกันว่าเชื้อไวรัสโรคซาร์สเข้าสู่เซลล์ของผู้ติดเชื้อได้จากการแพร่ผ่านเข้าไปโดยตรง แต่สิ่งที่พวกเขาค้นพบคือไวรัสเข้าสู่เซลล์โดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่าเอนโดไซโตซิส (endocytosis) ในบริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ที่จำเพาะ ซึ่งนอกจากจะมีตัวรับที่จำเพาะกับไวรัสแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับโปรตีนคลาธริน (clathrin) อีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้นพบว่าบริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ที่มีคอเลสเตอรอล (cholesterol) และไขมันชนิดสฟิงโกลิพิด (sphingolipid) อยู่มาก เชื้อไวรัสจะผ่านเข้าสู่เซลล์ได้ง่ายกว่าบริเวณอื่นๆ

นักวิจัยบอกว่า เมื่อรู้กลไกการเข้าสู่เซลล์ของเชื้อไวรัสแล้วก็จะทำให้การออกแบบพัฒนายาตาไวรัสโรคซาร์สได้ง่ายขึ้น แม้จะยังอาจไม่ประสบผลสำเร็จได้ในเร็วๆ นี้ก็ตาม ซึ่งเขาคะเนว่าบริเวณที่มีเยื่อหุ้มเซลล์ที่มีคอเลสเตอรอลและสฟิงโกลิพิดสูงน่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญของยาในการยับยั้งไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ได้

ทั้งนี้ โรคซาร์สถูกพบครั้งแรกในมณฑลกวางตุ้งของประเทศจีนราวปลายปี 2545 และระบาดอยู่ช่วงหนึ่งก่อนที่จะค่อยๆ บรรเทาลงและเงียบหายไปในช่วงกลางปี 2546 แต่กระนั้นก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อมรณะนี้ร่วม 800 คน จากผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 8,000 คน

อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีข้อมูลมากนักเกี่ยวกับธรรมชาติของไวรัสโรคซาร์สและกลไกการติดเชื้อชนิดนี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยังเตือนว่าโรคซาร์สอาจกลับมาระบาดได้อีกทุกเมื่อ โดยไวรัสชนิดนี้มีชะมดและค้างคาวบางชนิดเป็นที่อยู่อาศัยโดยธรรมชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น