xs
xsm
sm
md
lg

"ท้องก่อนวัยอันควร" เทรนด์สุดเชยมีมาแต่ยุคไดโนเสาร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอพี/เอเยนซี- ปัญหาเซ็กซ์ในวัยรุ่นหาใช่เรื่องใหม่ทั้งยังสุดเชย เพราะเรื่องท้องก่อนวัยอันควรมีมาแต่ยุคไดโนเสาร์เมื่อหลายล้านปีแล้ว เมื่อนักวิจัยวิเคราะห์กระดูกฟอสซิลไดโนเสาร์ พบเนื้อเยื่อกระดูกที่อุดมแคลเซียมซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่สัตว์ปีกเพศเมียสร้างขึ้น ก่อนระยะวางไข่เพื่อใช้ผลิตเปลือกไข่

ซาราห์ เวอร์นิง (Sarah Werning) นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเบิร์กเลย์ (University of California in Berkeley) พร้อมด้วยแอนดรูว ลี (Andrew Lee) ซึ่งปัจจุบันเป็นนักศึกษาโพสต์ด็อก (หลังปริญญาเอก) ที่วิทยาลัยการแพทย์กระดูก (College of Osteopathic Medicine) มหาวิทยาลัยโอไฮโอ (Ohio University) สหรัฐอเมริกาได้ร่วมกันศึกษาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาปริญญาตรีแล้ว พบว่าภายในกระดูกฟอสซิลของไดโนเสาร์นั้นมีไขกระดูก (Medullary bone) อันเป็นเนื้อเยื่อกระดูกที่อุดมแคลเซียมซึ่งนกเพศเมียในปัจจุบันสร้างขึ้น 2-3 สัปดาห์ก่อนผลิตไข่

การค้นพบเนื้อเยื่อดังกล่าวในไดโนเสาร์ซึ่งเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษของสัตว์ปีกนี้ทำให้เชื่อมโยงไปสู่การสืบพันธุ์ของสัตว์โบราณนี้ได้ โดยทั้งสองได้ศึกษาในฟอสซิลของได้โนเสาร์ 3 สายพันธุ์ที่มีอายุ 8, 10 และ 18 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ไดโนเสาร์ยังไม่โตเต็มที่ และปรากฎการตั้งท้องในอายุดังกล่าว นับว่าเร็วก่อนวัยอันควร ซึ่งโดยส่วนใหญ่ไดโนเสาร์มีอายุเฉลี่ย 30 ปีแต่บางพันธุ์ก็มีอายุได้ถึง 60 ปี

"เป็นเรื่องดีที่ได้ทราบว่าเมื่อใดที่ไดโนเสาร์เริ่มมีเพศสัมพันธ์ ทั้งยังดีที่สามารถเปรียบสัตว์ดึกดำบรรพ์เหล่านี้กับสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันภายใต้ขอบเขตความเข้าใจเรื่องเวลาของช่วงสำคัญในชีวิตสัตว์เหล่านี้ จริงๆ เป็นเรื่องปกติที่จะเริ่มสืบพันธุ์ก่อนที่คุณจะโตขึ้น สัตว์หลายชนิดก็เป็นแบบนั้น สัตว์เลื้อยคลานทำอย่างนั้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดกลางและขนาดใหญ่ก็ทำอย่างนั้น และไม่ว่าผู้ปกครองเราจะชอบหรือไม่แต่คนเราก็ทำอย่างนั้น" เวอร์นิงกล่าว

อย่างไรก็ดีเวอร์นิงเสริมว่าสัตว์ปีกไม่สืบพันธุ์จนกว่าจะถึงช่วงโตเต็มวัย โดยเธออธิบายว่าสัตว์ปิกจะเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ใน 1 ปีแล้วต้องรออีกหลายเดือนหรือหลายปีก่อนที่จะเริ่มมีเพศสัมพันธ์

เวอร์นิงและลีพบเนื้อเยื่อไขกระดูกระหว่างเฉือนกระดูกไดโนเสาร์หลายชนิดเป็นแผ่นบางๆ ทั้งอัลโลซอรัส (Allosaurus) ซึ่งเป็นสัตว์กินเนื้อ 2 เท้าที่สูง 39 ฟุตซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อราว 150 ล้านปีมาแล้ว เทนอนโทซอรัส (Tenontosaurus) ไดโนเสาร์กินพืชทั่วไปที่สูง 26 ฟุตและมีชีวิตอยู่เมื่อ 115 ล้านปีมาแล้ว และทีเรกซ์สัตว์กินเนื้อที่ดุร้ายและมีชีวิตอยู่จนถึงปลายยุคไดโนเสาร์คือเมื่อประมาณ 65 ล้านปีมาแล้ว

จากการศึกษาการเจริญเติบโตของชั้นกระดูกทั้งสองวิเคราะห์ว่าตัวอย่างเทนอนโทซอรัสนั้นมีอายุเพียง 8 ปี ส่วนอัลโลซอรัสมีอายุได้ 10 ปี ซึ่งไดโนเสาร์ตัวอย่างทั้งสองยังจัดอยู่ในวัยเริ่มต้นเข้าสู่วัยรุ่น ส่วนตัวอย่างทีเรกซ์ที่ศึกษานั้นก็มีอายุเพียง 18 ปีซึ่งยังไม่นับว่าโตเต็มที่ โดยช่วงเต็มวัยของไดโนเสาร์เหล่านี้คือ 20 ปี

ทางด้านเควิน พาเดียน (Kevin Padian) ศาสตราจารย์ทางด้านชีววิทยาผสมผสานและผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์บรรพชีววิทยา (Museum of Paleontology) แห่งมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้กับเวอร์นิงและลีกล่าวว่า งานวิจัยทั้งสองนั้นเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้น เพราะอายุในการตั้งท้องเพื่อสืบพันธุ์สัมพันธ์กับหลายๆ สิ่ง อย่างไรก็ดีเขาไม่ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าเรื่องดังกล่าวบ่งชี้ถึงอะไรได้บ้าง

กำลังโหลดความคิดเห็น