xs
xsm
sm
md
lg

มะกันสร้าง "ซูเปอร์แครอท" แคลเซียมสูงช่วยผู้ป่วยโรคกระดูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บีบีซีนิวส์/เมดิคัลไซน์นิวส์ - นักวิจัยมะกันทำ "ซูเปอร์แครอท" แคลเซียมสูง หวังช่วยผู้ป่วยโรคกระดูกที่ต้องการแคลเซียมในปริมาณ ทั้งยังตั้งเป้าผลิตแครอทจีเอ็มโอชนิดนี้เพื่อเอาใจคนรักสุขภาพ

นักวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกานำแครอทมาดัดแปลงพันธุกรรมจนออกมาเป็น "ซูเปอร์แครอท" ที่มีแคลเซียมสูง สำหรับผู้ป่วยโรคกระดูก อาทิ โรคกระดูกเปราะ, โรคกระดูกพรุน ทั้งยังหวังจะทำแครอทจีเอ็มให้เป็นอาหารสุขภาพที่อุดมไปด้วยแคลเซียมไม่แพ้นม ซึ่งได้รายงานผลการวิจัยในวารสารสมาคมวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ (Proceedings of the National Academy of Sciences)

ศาสตราจารย์เคนดัล เฮอร์สชี (Kendal Hirschi) จากวิทยาลัยการแพทย์เบย์ลอร์ (Baylor College of Medicine) มลรัฐเท็กซัส สหรัฐฯ หนึ่งในทีมวิจัย เปิดเผยว่า แครอทดัดแปลงพันธุกรรมนี้มีปริมาณแคลเซียมมากกว่าแครอทสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 41%

"แครอทพวกนี้เจริญเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่มีการควบคุมให้เหมาะสม และได้รับการดูแลอย่างดี อย่างไรก็ตาม การสร้างพืชผักจีเอ็มโอให้มีแคลเซียมสูง ยังต้องประเมินความปลอดภัยภาคสนามให้แน่ชัดก่อนที่จะมีการนำไปเพาะปลูกและจำหน่ายให้ผู้บริโภค" เฮอร์สชีกล่าว

ทั้งนี้ นมและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนมเป็นอาหารที่อุดมแคลเซียม ทว่าบางคนมีอาการแพ้สารบางอย่างในนมจึงไม่สามารถบริโภคได้ ทำให้ร่างกายขาดแคลเซียม อาจส่งผลให้เป็นโรคกระดูกพรุน หรือกระดูกเปราะ, แตกหักง่าย ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยอย่างยิ่ง ขณะที่หลายคนพยายามหลีกเลี่ยงที่จะบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เนื่องด้วยมีไขมันสูงไม่แพ้แคลเซียม ผลสุดท้ายร่างกายก็ขาดแคลเซียมเช่นเดียวกัน

สำหรับซูเปอร์แครอทหรือแครอทแคลเซียมสูงนั้น นักวิจัยได้ดัดแปลงพันธุกรรมให้แครอทสามารถดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่เซลล์ได้ง่ายและมากกว่าแครอททั่วไป และยังหวังว่าแครอทจีเอ็มโอนี้จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนรักสุภาพที่ต้องการแคลเซียมโดยไม่ต้องดื่มนม

แคลเซียมถือได้ว่าเป็นแร่ธาตุที่มีอยู่ในร่างกายมากที่สุด โดย 99% ถูกเก็บไว้ที่กระดูกและฟัน และพบบ้างในเลือด กล้ามเนื้อ และของเหลวที่อยู่ระหว่างเซลล์ แคลเซียมจำเป็นต่อการยึดติดกันของกล้ามเนื้อ การยึดติดและการยึดขยายของเส้นเลือด การหลั่งฮอร์โมนและเอนไซม์ และยังเป็นสารสื่อประสาทในระบบประสาทอีกด้วย

นอกจากแครอทแล้วนักวิจัยยังใช้วิธีเดียวกันดัดแปลง "บร็อคโคลี" อีกด้วย โดยทำให้เป็นบร็อคโคลีที่อุดมไปด้วยสาร "ซัลโฟราเฟน" (sulforaphane) ซึ่งเป็นสารที่มีอยู่ในบรอคโคลีอยู่แล้วและมีฤทธิ์ต้านมะเร็งได้ หรือก่อนหน้านี้ก็เคยมีนักวิจัยทำมันฝรั่งจีเอ็มโอที่ไม่อมน้ำมันเวลาทอดเป็นอาหารสุขภาพไปบ้างแล้ว ซึ่งเหล่านักวิจัยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เห็นว่าพืชจีเอ็มโอเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการดูแลสุขภาพได้

กำลังโหลดความคิดเห็น