แพทย์แนะกินไข่ทุกวันไม่อันตรายอย่างที่คิด แถมเป็นมิตรกับสุขภาพทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี และลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในเลือดได้พร้อมกัน ที่สำคัญช่วยเสริมโปรตีนให้เด็กขาดสารอาหารได้เป็นอย่างดี
"เขาห้ามกินไข่เกินอาทิตย์ละ 3 ฟองนะ กินมากเดี๋ยวคอเลสเตอรอลในเลือดก็สูงหรอก" เสียงเจื้อยแจ้วของสาวนางหนึ่งที่เอ่ยเตือนด้วยความเป็นห่วงสุขภาพของเพื่อนสาวอีกคนหนึ่งที่กำลังจะกินไข่ไก่ฟองที่ 4 ในรอบสัปดาห์ แต่จากผลการวิจัยล่าสุดของ นพ.กรภัทร มยุระสาคร ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลสมุทรสาคร ชี้ว่าการบริโภคไข่ไก่ทุกวัน วันละ 1-2 ฟอง ทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูงจริง แต่เป็นคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีต่อร่างกาย และดีต่อสุขภาพทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
นพ.กรภัทรเผยว่า คนทั่วไปมักเข้าใจกันว่าการกินไข่มากหรือกินไข่ทุกวันจะทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคอเลสเตอรอลมี 2 ชนิด คือ คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL-cholesterol) และ คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL-cholesterol) และจากการศึกษาพบว่าการกินไข่นั้นช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีได้
นักวิจัยเผยถึงผลของการบริโภคไข่ไก่ในอาสาสมัครที่มีอายุระหว่าง 20-60 ปี ประกอบด้วย อาสาสมัครชายจำนวน 56 คน บริโภคไข่ทุกวัน วันละ 1 ฟอง ติดต่อกันนาน 3 เดือน โดยประกอบด้วย ไข่ต้ม, ไข่ดาวน้ำ, ไข่ดาวธรรมดา, ไข่พะโล้, ไข่ลูกเขย และไข่หวาน อีกกลุ่มหนึ่งเป็นอาสาสมัครหญิง จำนวน 117 คน บริโภคไข่ต้มทุกวัน วันละ 2 ฟอง ติดต่อกันนาน 2 เดือนครึ่ง
จากนั้นตรวจวัดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดพบว่า ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีเพิ่มขึ้นทั้ง 2 กลุ่ม ในทางกลับกันระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีก็ลดลงทั้ง 2 กลุ่มเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ นักวิจัยยังศึกษาการเสริมไข่ในมื้ออาหารให้กับเด็กชนบทที่ร่างกายขาดโปรตีน โดยทดลองในเด็กชั้น ป.4 - ป.6 จำนวน 273 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้กินไข่ 3 ฟองต่อสัปดาห์ อีกกลุ่มหนึ่งให้กินไข่ 10 ฟองต่อสัปดาห์ นานติดต่อกัน 3 เดือน จากนั้นตรวจวัดปริมาณโปรตีนอัลบูลมินในเลือด พบว่าเด็กทุกคนมีระดับโปรตีนอัลบูลมินในเลือดเพิ่มขึ้นเป็น 100% ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีก็เพิ่มขึ้น ส่วนระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งให้ผลไม่แตกต่างกันทั้งกลุ่มที่กินไข่ 3 ฟอง และ 10 ฟองต่อสัปดาห์
ดังนั้นการให้เด็กที่ขาดโปรตีนกินไข่เพียง 3 ฟองต่อสัปดาห์สามารถช่วยทดแทนโปรตีนในเด็กที่ขาดโปรตีน ซึ่งในชนบทประเทศไทยมีเด็กที่ขาดโปรตีนมากถึง 29% ซึ่งการขาดโปรตีนนั้นอาจบอกไม่ได้ด้วยน้ำหนักตัว แต่ต้องตรวจสอบระดับโปรตีนอัลบูลมินในเลือด หากต่ำกว่า 3.3 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แสดงว่าร่างกายขาดโปรตีน
อย่างไรก็ดี นพ.กรภัทร ชี้ว่าแม้การทดลองจะแสดงผลว่าการบริโภคไข่ไก่ทุกวันจะไม่มีผลเสียต่อร่างกาย แต่ก็ควรยึดหลักความพอดี อาหารทุกชนิดควรบริโภคอย่างเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป.