xs
xsm
sm
md
lg

ต่อลมหายใจ “ส้มบางมด” อดทนสู้เพื่อคนรักส้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ส้มเขียวหวาน” ที่ขายกันอยู่ตามท้องตลาด ถือว่าเป็นผลไม้ที่หากินได้ง่ายในบ้านเรา มีให้กินตลอดฤดูกาล เป็นผลไม้ราคาถูก ที่มากไปด้วยคุณประโยชน์มากหลาย ในเนื้อส้มเขียวหวานมีวิตามินอยู่มากมาย มีทั้งวิตามินเอ บี ซีที่ช่วยป้องกันโรคหวัด บรรเทาอาการกระหาย ช่วยป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ลดปริมาณของคอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารภายในร่างกายเป็นปกติ มีธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส และมีกรดอินทรีย์หลายชนิด ซึ่งมีงานวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น ที่พบว่าการกินส้มเขียวหวาน ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งตับได้อีกด้วย

ดังนั้น “ส้มเขียวหวาน” ลูกเล็กๆ จึงถือว่าเป็นผลไม้ทรงคุณค่าในใจคนรักส้มทั้งหลาย ซึ่งปัจจุบันนี้ตลาดส้มในเมืองไทยมีส้มรสดีหลากหลายสายพันธุ์ให้เลือกซื้อมากมายที่มีขายอยู่ตามท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นส้มสายน้ำผึ้ง ส้มโชกุน หรือแม้แต่ส้มสายพันธุ์จากต่างประเทศอย่างส้มจีนก็กำลังเข้ามาเจาะตลาดคนกินส้มในบ้านเรา

แต่ว่าหากย้อนไปดูตลาดส้มเขียวหวานในเมืองไทยเมื่ออดีต หนึ่งในส้มเขียวหวานที่ได้ชื่อว่ามีรสชาติที่อร่อยที่สุด และมีชื่อเสียงที่สุดในเมืองไทย ก็ต้องขอยกให้ “ส้มเขียวหวานบางมด” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ติดปากว่า “ส้มบางมด” เป็นที่หนึ่งอยู่ในใจ เพราะส้มบางมดนั้นมีซังนิ่ม ฉ่ำน้ำ รสชาติจะหวานจัดอมเปรี้ยวเล็กน้อย ถือว่าเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นที่เหนือกว่าส้มเขียวหวานจากที่อื่นทั่วๆ ไป

ย้อนอดีตวันวาน “ส้มเขียวหวานบางมด”

ปัจจุบันนี้สำหรับคนรักส้มและชื่นชอบส้มบางมดอาจจะรู้สึกว่า “ส้มบางมด” ที่เมื่ออดีตมีการปลูกกันมากในแขวงบางมด เขตราษฎร์บูรณะ และบางขุนเทียน ซึ่งปัจจุบันเป็นเขตทุ่งครุและเขตจอมทอง ที่แท้จริงนั้นไม่มีแล้ว เพราะดูได้จากผลผลิตของส้มบางมดที่มีขายอยู่บ้างตามตลาดนั้น ต้องบอกว่าหาส้มบางมดกินได้น้อยลงและยากเต็มที และบางครั้งเมื่อชิมแล้วก็ต้องบอกว่าไม่เหมือนส้มบางมดของแท้ที่เคยกินเหมือนเมื่อครั้งอดีต

เหตุที่ทุกวันนี้ “ส้มบางมด” คลายชื่อเสียงลงไป ไม่ใช่เพราะไม่มีผู้บริโภคอุดหนุนส้มบางมด แต่เหตุผลที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นจากการที่แหล่งเพาะปลูกส้มบางมด เจอกับปัญหาหนักที่รุมเร้าหลายประการ โดยเจอกับปัญหาใหญ่หนักอึ้งเมื่อครั้งโดนน้ำท่วมหนักเมื่อปีพ.ศ. 2526 ทำให้ต้นไม้ถูกน้ำท่วมเป็นเวลานาน เกิดความเสียหายให้แก่ต้นส้มที่บอบบางทนสภาพไม่ไหว รากเน่าจนล้มตายลงไปในที่สุด ทำให้เกษตรกรขาดทุน อยู่ในภาวะล้มละลาย ประสบกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้อีก จนทำให้ชาวสวนส้มต้องจำใจขายสวนส้มบางมดที่รัก และบางส่วนถึงกับออกไปหาพื้นที่ทำมาหากินยังพื้นที่ดินอื่น บ้างก็ถึงกับขนาดขายสวนส้มให้กับนายทุนเพื่อนำเงินไปใช้หนี้

และประกอบกับเมื่อความเจริญของเมืองเข้ามาถึง พื้นที่ที่เคยเป็นสวนส้มก็ถูกทิ้งให้รกร้าง และถูกขายให้กลายมาเป็นพื้นที่ของพวกสร้างบ้านจัดสรร และโรงงานไปแทน จึงทำให้จากเมื่ออดีตบางมดที่เป็นแหล่งปลูกส้มบางมดอันลือชื่อ แทบจะกลายเป็นเพียงตำนานให้เล่าขานกันเท่านั้น

แต่ถึงยังไงเสีย ใช่ว่าจะไม่มีชาวสวนส้มบางมดแท้ๆ ที่จะละทิ้งถิ่นฐานและความผูกพันที่มีต่อสวนส้มบางมดอันเป็นที่รักไปได้ จึงทำให้สวนส้มบางมดยังไม่ได้ล้มหายตายจากไปอย่างหมดสิ้น ณ วันนี้ยังมีเกษตรกรชาวสวนส้มบางมดบางราย ได้ทำการดิ้นรนต่อสู้พลิกฟื้นผืนดินให้สวนส้มบางมดยังคงมีอยู่ต่อไป ถึงแม้จะไม่เฟื่องฟูเหมือนเมื่ออดีต แต่ก็ทำให้แฟนพันธุ์แท้ที่รักส้มบางมด ยังได้มีส้มบางมดรสชาติดีๆ กินกัน

ลุงสุทิน ป้าทองเจือ ฟื้นสวนส้มบางมดให้กลับมาอีกครั้ง

ลุงสุทิน และ ป้าทองเจือ เอี่ยมศาสตร์ สองสามีภรรยาชาวบางมดแท้ๆ ที่ตอนนี้มีอายุกว่า 63 ปีแล้ว แต่ก็ยังยึดอาชีพชาวสวนปลูกส้มบางมด ที่ถึงแม้จะเป็นเพียงสวนส้มบางมดเพียงไม่กี่รายที่ยังมีอยู่ที่บางมด ที่ได้ทำการพลิกฟื้นพื้นดินและยกร่องให้สวนส้มบางมดได้กลับมาเกิดอีกครั้ง โดยเริ่มกลับมาปลูกส้มบางมดเมื่อปี 2547 นี้เอง ภายในพื้นที่กว่า 7 ไร่ แบ่งปลูกทั้งส้มเขียวหวาน และส้มเช้ง

“ที่เรายังปลูกส้มเขียวหวานอยู่ ก็เพราะว่ายังชอบ คล้ายๆ ว่าชีวิตเคยผูกพันกับสวนส้ม และก็ยังรักอยู่ ลุงกับป้าไม่รู้จะทำอะไร เมื่อก่อนเรียกว่าทุกครัวเรือนที่บางมดมีการปลูกส้มหมดเลย มีพื้นที่สวนส้มเป็นหมื่นๆ ไร่ พอมาปี 2526 น้ำมันท่วม พอน้ำท่วมไหลมาส้มมันก็ตาย พอปี 2529 ฝนตกหนักอีก ตกหลังฤดูน้ำท่วม ทีนี้ก็เลยหมดตัวในตอนนั้น สวนส้มที่เคยทำเก็บทีหนึ่งได้ตั้งกี่หมื่นกิสมัยนี้ถ้าเก็บอย่างเมื่อก่อนรวยเลย ตอนนี้ถ้าสำรวจจริงๆ ก็เหลือสวนส้มเขียวหวานบางมดอยู่แค่ 7 สวนเห็นจะได้” ลุงสุทินและป้าทองเจือเท้าความหลังถึงสวนส้มบางมดให้ฟัง

ป้าทองเจือยังได้เล่าให้ฟังอีกว่า ได้ทำสวนส้มบางมดมานานกว่า 40 ปี ทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ เมื่อก่อนพื้นที่ตรงนี้เป็นนา และพัฒนายกร่องมาปลูกส้ม ซึ่งที่บางมดนี้ปลูกส้มได้ดีก็ปลูกกันมาเรื่อยๆ เมื่ออดีตคลองบางมดแห่งนี้ดังมาก จะมีการวิ่งผลผลิตส้มจากสวน ขนกันเป็นลำเรือ ลำหนึ่งไม่ต่ำกว่า 1,500 กิโลกรัม โดยจะนำไปขึ้นขายที่ปากคลองตลาด ไปขึ้นที่วัดกลาง และต่อมาก็มาขึ้นที่วัดพุทธบูชา เมื่อก่อนนั้นส้มจะขายที่กิโลละ 2 บาท แต่เดี่ยวนี้ส้มบางมดมีราคาดี ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 35 บาท ที่ราคาแพงขึ้น เพราะว่ามันหาซื้อยาก

“เมื่อก่อนส้มเขียวหวานมันเต็มไปหมด ฉันเก็บตั้งหมื่นๆ หลายๆ หมื่นกิโล กิโลละ 2 บาท 10 สลึง 3 บาทเต็มที่ แค่นั้นแหละ สมัยก่อนเก็บส้มทีหนึ่งได้ 5 แสนบาท ปลูกส้มเขียวหวานขายยังได้มากกว่ารางวัลที่ 1 เสียอีก” ป้าทองเจือบอก

ลุงสุทินเล่าเสริมถึงการปลูกส้มบางมดให้ฟังว่า “ส้มที่ปลูกนี้ เป็นกิ่งพันธุ์ส้มเขียวหวานที่เอามาจากบางกอกน้อย ที่นั่นเขาจะตอนกิ่งขายอย่างเดียว เราซื้อเขามาปลูก เมื่อก่อนกิ่งละ 1 บาทเอง แต่เดี๋ยวนี้กิ่งละ 35 บาทแล้ว และก็หาซื้อยากด้วย เพราะบางกอกน้อยก็เริ่มที่จะเลิกตอนกันแล้วด้วย เพราะเขาขายที่ไปทำหมู่บ้านกัน เราก็เลยว่าจะเริ่มลองตอนกิ่งเองดูบ้าง”

สำหรับการปลูกส้มบางมดในสมัยนี้ก็ไม่ต่างจากเมื่ออดีตนัก ลุงสุทินบอกว่าคนปลูกต้องมีประสบการณ์ชีวิต เพราะขั้นตอนในการปลูกส้มมันมีเยอะ ถึงตรงนี้ลุงทินและป้าทองเจือจึงช่วยกันเล่าถึงการปลูกส้มบางมดให้ฟังแบบพอสังเขปว่า “ขั้นแรกก็ต้องทำท้องร่อง ฟันดินด้วยจอบขึ้นไปยกเป็นโขด รอให้ดินร่วนก่อน แล้วก็ขุดหลุมไว้ปลูกห่างกันประมาณ 5 ศอกก็ได้ 1 วา ก็ได้ ปลูกห่างๆ กันนะดี โบราณปลูกห่างกันมากตั้ง 6 ศอก และในหลุมก็ใส่ปุ๋ยคอกลงไปด้วย แล้วจึงค่อยเอากิ่งส้มปลูกลงไป”

“ต้นส้มที่ปลูกแล้วนี้ต้องคอยดูแล ต้องคอยฉีดยา รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ตัดหญ้า และก็ฟันดินใหม่อีกที ส้มจะออกผลให้ตั้งแต่ปีที่ 2 แล้ว แต่เราจะเก็บตอนปีที่ 4 และส้มเขียวหวานจะออกลูกให้ได้ทั้งปี แต่ถ้าส้มที่เราต้องการให้ออกเป็นพิเศษต้องแล้วแต่เรา อย่างส้มเป็นพิเศษก็ต้องส้มปีเดือน 12 ยันปีใหม่จะได้ส้มที่หวานมากๆ เลยอร่อย”

ดินลักจืด ลักเค็ม ต้นตอของเสน่ห์ส้มบางมด

หลายคนอาจจะรู้สึกว่าการปลูกส้มบางมดนี้ก็ดูเหมือนการปลูกส้มยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วไป ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่จะมีชาวสวนจากพื้นที่อื่นมาซื้อกิ่งพันธุ์ส้มเขียวหวานบางมดนี้แล้วไปปลูกยังพื้นที่อื่นๆ บ้าง ซึ่งเรื่องนี้ลุงสุทินบอกว่าเป็นเรื่องที่ชาวสวนสามารถทำได้ แต่ว่าผลผลิตของส้มที่ออกมานั้น ยังไงก็ไม่ได้รสชาติที่หวานเป็นเอกลักษณ์เหมือนส้มบางมด เพราะว่าอะไรนั้น ลุงสุทินมีคำตอบให้กับเราว่า

“มีคนเอากิ่งพันธุ์ส้มบางมดไปปลูกเยอะเลย ไปปลูกที่กำแพงเพชร ไปปลูกที่สุพรรณฯ ที่รังสิต ไปที่ปทุมธานีก็ส้มบางมดทั้งนั้น ลุงคิดว่าเขาก็ปลูกได้ แต่พอปลูกไปแล้วส้มไม่ดีเป็นโรค และรสชาติส้มนั้นก็สู้บางมดไม่ได้ จะไม่ค่อยหวานอร่อยเหมือนส้มบางมดแท้ๆ นี้ เพราะว่ามันคนละพื้นที่ เป็นที่ดินอย่างเดียว ดินที่บางมดนี้มันดี เป็นดินจืดที่มีตะกอน และมีความเค็มเล็กน้อย ชาวบ้านเขาเรียกว่า ดินมันลักจืดลักเค็ม ปลูกส้มแล้วมันหวานจริงๆ เลย หวานจนมดขึ้น จนพอเอ่ยชื่อว่าบางมดก็นึกถึงส้มเขียวหวานบางมดนี่แหละ” ลุงสุทินบอก พร้อมกับโชว์ส้มบางมดของแท้ให้ดูพร้อมกับบอกว่าเดี๋ยวนี้ส้มบางมดแท้ๆ นั้นหากินได้ยากจริงๆ ที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไปบางครั้งก็เชื่อไม่ได้ว่าเป็นส้มบางมดแท้ๆ ทางที่ดีควรที่จะมาซื้อถึงสวนจะดีกว่า เพราะว่าส้มบางมดแท้ๆ นั้นมีเสน่ห์ตรงรสชาติที่หวานอร่อยไม่เหมือนส้มเขียวหวานทั่วๆ ไป

“ส้มบางมด ผลจะกลมแป้น ผิวมีสีเขียวอมเหลืองถึงเหลืองเข้ม ถ้าแก่จัดๆ จะมีสีออกส้มแดง ผลจะมีลายเหมือนสีหมากสุก เพราะชาวสวนจะปล่อยให้ไรแดงลง เปลือกจะบางนิ่ม ไม่แข็ง ขั้วจะสด เก็บเอาไว้ 5-6 วันก็ยังไม่เน่า ซังนิ่ม รสชาติจะหวานจัด หวานแหลมไม่เหมือนส้มที่อื่นๆ หวานจนมดขึ้นเหมือนอย่างชื่อบางมดเลย” ลุงสุทินบอกพร้อมกับรอยยิ้มหวานๆ เหมือนส้ม

สวนส้มบางมด กลัวน้ำเค็ม วอนขอน้ำจืดมาช่วย

และถึงแม้จะว่าทุกวันนี้การฟื้นสวนส้มบางมดกลับมาจะเป็นเรื่องที่ดี ที่ทำให้ชาวสวนส้มลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้บ้าง แต่ก็ใช่ว่าชาวสวนส้มจะไม่ประสบกับปัญหาในการปลูกส้มเหมือนเมื่ออดีต เพราะว่าชาวสวนส้มบางมดทุกวันนี้ยังประสบกับปัญหาต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นต้นทุนของค่าปุ๋ย ค่ายา รวมถึงปัญหาหนักที่เจอคือเรื่องน้ำ ที่พอเมื่อหน้าแล้งมาถึงน้ำจืดจะน้อยไม่พอให้ใช้ในการปลูกส้ม อีกทั้งปัญหาของน้ำเค็มที่หนุนเข้ามาสู่สวนส้ม ก็ส่งผลกระทบต่อการปลูกส้มไม่น้อยเลย

“การทำสวนส้มเดี๋ยวนี้ต้องมีประสบการณ์ ต้องศึกษาก่อน ต้องรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ถ้าจู่ๆ โดดมาทำไม่ได้หรอก ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านหมด ถึงมีเงินมาก็ไม่ได้ผล ไม่ได้รับผลประโยชน์ เราต้องคลุกคลีอยู่ ต้องรู้จิตใจ ส้มนะเลี้ยงยากกว่าลูกอีก เพราะส้มนี่เขาบอกไม่ได้ว่าต้องการอะไร

“และเดี๋ยวนี้ปลูกส้มใช้ต้นทุนสูง อย่างสวนของลุงตรงนี้ 2 แสนบาทก็ยังไม่อยู่ การทำสวนส้มตอนนี้เหมือนเสี่ยงโชค คือลุ้นว่าน้ำเค็มหรือเปล่า เพราะถ้าน้ำเค็มก็จบเลย ส้มก็เสร็จเลย เพราะถ้าส้มกินน้ำเค็มมากๆ ไม่ได้ เดี๋ยวจะตาย ถ้าเอาน้ำเค็มเข้าสวนไปรด ส้มจะมีอาการใบร่วงเหลือง รากเสีย ตายหมด ตอนนี้น้ำคือปัญหาใหญ่ที่สุด” ลุงสุทินบอกด้วยน้ำเสียงเศร้าๆ

ป้าทองเจือได้กล่าวเสริมถึงปัญหาน้ำที่เจออยู่ตรงนี้ว่า “ส้มเขียวหวาน ตอนนี้ก็ถือว่าปลูกแล้วได้ดี เพราะมีตลาดรองรับ และเรียกว่าส้มเขียวหวานบางมด ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ได้ หากช่วยให้มีน้ำดีๆ เพราะว่าราคาส้มเขียวหวานตอนนี้ราคามันสูง ราคามันดี เรียกว่าส้มเขียวหวานบางมดที่เหมือนหายไปแล้ว แต่ตอนนี้ก็เริ่มฟื้นกลับมาได้ประมาณ 5 ปีแล้ว พูดง่ายๆ ว่ามันเกี่ยวกับน้ำอย่างเดียว ขอให้น้ำจืดก็สามารถปลูกได้ทั้งปี”

“อยากขอให้รัฐบาลหรือหน่วยงานอะไรก็แล้วแต่ อยากให้ช่วยเปิดน้ำจากดาวคะนองมาช่วยน้ำที่บางมดหน่อย อย่างหน้าแล้งนี่อยากได้น้ำ อยากให้ช่วยดันน้ำมาให้เยอะๆ เปิดเถอะ พอเปิดน้ำมาจะได้เอาเข้าสวน คนไม่กล้าลงทุนปลูกส้มกันเยอะ ณ ตอนนี้ ก็เพราะกลัวเรื่องน้ำ กลัวเรื่องน้ำเค็ม”

เมื่อถามถึงอนาคตของสวนส้มบางมดในความรู้สึกของลุงสุทินนั้นจะเป็นอย่างไร ลุงสุทินครุ่นคิดอยู่สักนิดก่อนที่จะตอบออกว่า “อนาคตก็เหลือไม่กี่เจ้าต่อไป แต่ว่าคิดว่ามันเกี่ยวกับเรื่องน้ำเป็นหลัก เพราะถ้าลองมีน้ำอนาคตสวนส้มก็ยังมีอยู่ แต่ถ้าไม่ช่วยเรื่องน้ำไว้ให้เรา อนาคตสวนส้มก็ต้องหมดไป ขอแค่ให้ทางการช่วยระบายน้ำจืดมาช่วยอย่างเดียว แค่นี้ก็จบ สวนส้มบางมดก็ยังยืนอยู่ได้ หัวใจของสวนส้มบางมดอยู่ที่น้ำ ถ้ามีน้ำดีๆ ก็ยังจะมีชาวสวนที่จะกลับมาทำสวนส้มกันอีกเยอะ ไม่ขออะไรเลย ขอเพียงน้ำจืดอย่างเดียว ในช่วงหน้าแล้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคมระบายมาได้เลย ชีวิตชาวสวนส้มบางมดจะได้มีอยู่ต่อไป ทุกคนยังไม่ลืมส้มบางมด จิตใจยังมีส้มบางมดอยู่” ลุงสุทินบอกด้วยน้ำเสียงวิงวอน

เปิดสวนส้มบางมด ต้อนรับนักท่องเที่ยว

ถึงแม้ว่าอนาคตของสวนส้มบางมดจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้นไม่มีใครคาดเดาได้ แต่ ณ ทุกวันนี้เรียกได้ว่าสวนลมบางมดก็ยังสามารถยืนได้อยู่ พร้อมกับยังเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าไปสัมผัสและเที่ยวยังสวนส้มกันแบบใกล้ชิด เพราะว่าทางศูนย์บริการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (กลุ่มท่องเที่ยวเกษตรบางมด) ได้มีการจัดเส้นทางท่องเที่ยวล่องเรือชมสวนบางมด–ชายทะเลกรุงเทพฯ ขึ้น โดยจะเป็นการพาไปเที่ยวยังจุดแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และสวนส้มบางมดก็เป็นจุดหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยว

ลุงสุทิน บอกให้ฟังถึงเรื่องการเปิดสวนเป็นแหล่งท่องเที่ยวว่า ทางผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้บอกว่าให้ทำการปลูกส้มบางมดไว้เป็นเชิงอนุรักษ์ และเพื่อเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ให้นักท่องเที่ยวได้ขึ้นมาเที่ยวที่สวนส้มบางมด

“นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวที่สวน เค้าจะถามถึงการปลูกส้มอย่างไร ถามข้อมูล และก็มาถ่ายรูป มาเดินเที่ยวรอบสวนลุง ลุงก็พาเขาไปในร่องสวน เขาก็ไปถ่ายรูปกัน เขาก็ชอบใจ การที่เปิดสวนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวตรงนี้ก็ถือว่าเป็นรายได้เสริมเล็กๆ น้อยๆ ”

“ถ้ามีนักท่องเที่ยวอยากจะมาดูสวนส้มเขียวหวานบางมดและอยากมาชิมส้มเขียวหวานบางมด ลุงก็เปิดสวนยินดีต้อนรับเพื่อการท่องเที่ยว แต่ว่าต้องมาเป็นหมู่คณะนะ เพราะถ้ามาเป็นคนสองคนลุงไม่รับ ต้องไปติดต่อที่วัดพุทธบูชา แล้วก็จะได้มาเที่ยวที่สวนลุง มาถึงที่สวนลุงก็จะต้อนรับขับสู้ มีน้ำเลี้ยง มีส้มให้ชิม” ลุงสุทินกล่าวทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงเชื้อเชิญที่อยากให้ทุกคนได้มาสัมผัสกับส้มเขียวหวานบางมดแท้ๆ กันแบบถึงสวนด้วยตัวเอง

***************

หากใครอยากจะลิ้มรสส้มเขียวหวานบางมดแท้ๆ ก็สามารถเดินทางยังสวนส้มบางมดของลุงสุทิน และป้าทองเจือ เอี่ยมศาสตร์ ได้ซึ่งตั้งอยู่ที่ 85 หมู่ 5 เขตทุ่งครุ แขวงบางมด กทม. แต่ควรโทรศัพท์ไปแจ้งก่อนล่วงหน้า โทร. 0-2873-8814

และสำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจอยากจะมาล่องเรือชมสวนบางมด ก็สามารถติดต่อไปได้ที่ ศูนย์บริการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ล่องเรือชมสวนบางมด-ทะเลกรุงเทพฯ ที่ตั้งท่าน้ำวัดพุทธบูชา ริมคลองบางมด หมู่ที่ 3 ถ.พุทธบูชา แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กทม. โทร.0-2426-3844 หรือติดต่อไปที่คุณสุชาติ สุจริตเวทีโทร. 08-6588-8106








กำลังโหลดความคิดเห็น