xs
xsm
sm
md
lg

“ศ.ดร.สุธี ยกส้าน” เพชฌฆาตไวรัสไข้เลือดออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไข้เลือดออกระบาดหนักในหมู่คนไทยมากว่าครึ่งศตวรรษโดยไร้ยารักษาและวัคซีนป้องกันโรค แต่อีกเพียงแค่ไม่กี่อึดใจ วัคซีนไข้เลือดออกเข็มแรกในประเทศจะถือกำเนิดขึ้นใต้ชายคา ม.มหิดล จากฝีมือของ “ดร.สุธี ยกส้าน” ที่อุทิศตนค้นคว้ามากว่า 20 ปี ที่เหลือเพียงแต่รอลุ้นรัฐบาลอนุมัติเงินทุนสนับสนุนสร้างโรงงานผลิตวัคซีน

ล่วงเข้าปีใหม่ได้ไม่ถึงเดือนก็มีข่าวดีเกิดขึ้นในวงการแพทย์เมืองไทยรับปี 2551 เมื่อ “ศ.ดร.สุธี ยกส้าน” อาจารย์นักวิจัยและผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน ม.มหิดล เผยผลสำเร็จการพัฒนา "วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก" ทั้ง 4 สายพันธุ์ ภายใน 1 เข็ม หลังมุมานะค้นคว้ามากว่า 20 ปี แต่ความสำเร็จยังไม่เสร็จสมบูรณ์ อาจารย์นักวิจัยยังต้องรอลุ้นกับรัฐบาลว่าจะทำให้วัคซีนไปถึงประชาชนได้หรือไม่

“ไข้เลือดออกเริ่มเข้ามาในประเทศไทยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากวันนั้นจนถึงเดี๋ยวนี้ก็กว่า 60 ปีแล้ว โดยศิริราชพยาบาลเป็นผู้รายงานการระบาดครั้งแรก ซึ่งพบในกรุงเทพใกล้ๆ กับโรงพยาบาล จากนั้นก็เริ่มระบาดทั่วกรุงเทพและกระจายไปสู่ภูมิภาคต่างๆ จนเดี๋ยวนี้ระบาดไปทุกหมู่บ้านทั่วประเทศไทยแล้ว” อ.สุธี เกริ่นประวัติของโรคไข้เลือดออก

เพราะไข้เลือดออกเป็นโรคระบาดที่เกิดจากเชื้อไวรัส ยังไม่มียารักษาและไม่มีวัคซีนป้องกันโรค จึงมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ปีละหลายแสนคนที่นับเฉพาะแค่ในประเทศไทยเท่านั้นก็มากมายแล้ว และยังมีอีกหลายประเทศในเขตร้อนที่ประสบชะตากรรมเดียวกันกับไทยด้วยเหตุนี้ ฯนพ.สุธี ที่เป็นคุณหมอหมาดๆ เมื่อราว 30 ปีก่อน จึงหันเหชีวิตเข้าสู่เส้นทางนักวิจัยเพื่อหาทางพิชิตไข้เลือดออก

ปฐมบทของนักวิจัยผู้พัฒนาวัคซีน

อ.สุธี สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี จากนั้นไปเป็นแพทย์ฝึกหัดอยู่ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี อยู่ 1 ปี และกลับมาประจำที่โรงพยาบาลรามาธิบดีอีก 1 ปี

“ผมไม่ค่อยชอบเข้าเวรสักเท่าไหร่ รู้สึกว่าค่อนข้างขัดกับนิสัยของตัวเอง และคิดว่าความรู้ด้านแพทย์ที่เรียนมายังกว้างเกินไป ยังทำอะไรได้ไม่มากนัก พอดีกับที่ ดร.ณัฐ (ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.ณัฐ ภมรประวัติ อธิการบดี ม.มหิดล ขณะนั้น) ชักชวนให้เรียนต่อปริญญาเอกที่สถาบันเดิม ผมก็เลยตัดสินใจไปเรียนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในเชิงลึก แล้วนำมาประกอบกับความรู้เชิงกว้างด้านแพทย์ที่มีอยู่เดิม จึงทำให้มีความสมบูรณ์ที่จะทำงานวิจัยได้พอสมควร” อ.สุธี เล่าถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

อ.สุธี เล่าต่อว่า เขารู้สึกโชคดีมากที่หัวข้อวิทยานิพนธ์ของเขาเรื่อง “คุณสมบัติของเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ ในเซลล์ไตสุนัข” ได้ถูกต่อยอดมาสู่งานวิจัยที่เขาได้ทำหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบัน

“ความรู้จากตรงนั้นทำให้เราได้รู้จักและแยกแยะเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่องานวิจัยอย่างมาก” อ.สุธี กล่าว ซึ่ง อ.สุธี มีโอกาสเดินทางไปทำวิทยานิพนธ์หลังปริญญาเอกเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันวิทยาที่ ม.ฮาวาย สหรัฐฯ และ ม.อ็อกซ์ฟอร์ด อังกฤษ อย่างละ 1 ปี หลังจากนั้นก็กลับมาทำงานวิจัยไข้เลือดออกอย่างเต็มตัว

ก้าวแรกของศูนย์วิจัยสู่วัคซีนไข้เลือดออก

“ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมีวิสัยทัศน์ว่าประเทศไทยน่าจะลงทุนสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาวัคซีนขึ้นมา ซึ่งก็ได้ตัดสินใจสร้างศูนย์วัคซีนแห่งนี้ขึ้นมาในปี 2527 ในขณะนั้น เรื่องของวัคซีนและประเทศไทยยังห่างไกลกันมาก จุดประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์วัคซีนในตอนแรกก็เพื่อรองรับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของวัคซีนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังไม่ได้คิดที่จะผลิตเอง แต่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ต่างประเทศแทน” อ.สุธี เผยที่มาของศูนย์วัคซีน

เริ่มแรกจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีนได้รับงบประมาณก่อสร้างจากรัฐบาล 30 ล้านบาท ประกอบด้วย อาคารศูนย์วัคซีน, อาคารสัตว์ทดลอง, อาคารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และอาคารพลังงาน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นเป็นที่ปรึกษา นอกจากนี้ยังได้ทุนวิจัยจากองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อเนื่อง 12 ปี และทุนสนับสนุนด้านอุปกรณ์ต่างๆ จากรัฐบาลอิตาลีอีกจำนวนหนึ่ง

ต่อมาวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชุดที่ 1 ฝีมือของ อ.สุธีก็เป็นที่ประจักษ์ และได้จดสิทธิบัตรพร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทแห่งหนึ่งของประเทศฝรั่งเศสในปี 2544 แต่วัคซีนชุดนั้นยังไม่สมบูรณ์ดี อ.สุธี จึงพัฒนาต่อโดยเริ่มนับหนึ่งใหม่

“เชื้อไว้รัสเดงกี่ที่เป็นสาเหตุของไข้เลือดออกมีทั้งหมด 4 ชนิด เรียก เดงกี่ 1, 2, 3 และ 4 เมื่อยุงกัดผู้ป่วยไข้เลือดออก ยุงจะได้รับเชื้อไวรัสเดงกี่ เชื้อจะเข้าไปเจริญเติบโตในกระเพาะของยุง ผ่านลำไส้ไปสู่ท่อน้ำเหลือง และไปสะสมอยู่ที่ต่อมน้ำลายรอเวลาแพร่เชื้อ ส่วนยุงตัวนั้นก็จะมีเชื้อไวรัสนี้อยู่ติดตัวไปชั่วชีวิต และยังถ่ายทอดเชื้อผ่านไข่ไปสู่ลูกหลานได้ ทำให้ไข้เลือดออกระบาดไปทั่วภูมิภาคได้ง่าย” อ.สุธี อธิบาย

อ.สุธี อธิบายต่อว่า เมื่อยุงมากัดคนเพื่อดูดเลือด ยุงจะปล่อยน้ำลายออกมาเพื่อช่วยไม่ให้เลือดแข็งตัวและไม่ให้ท่อดูดเลือดตัน หากยุงตัวนั้นมีเชื้อไว้รัสเดงกี่อยู่ด้วย คนคนนั้นก็จะติดเชื้อจากเหตุนี้เอง ซึ่งบางคนอาจแสดงอาการป่วยหรือบางคนได้รับเชื้อแต่ไม่มีอาการป่วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน ซึ่งเมื่อใครได้รับเชื้อไวรัสเดงกี่ครั้งแรก ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีพ แต่จะไม่มีภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสเดงกี่สายพันธุ์อื่นเลย และเมื่อติดเชื้อเดงกี่ซ้ำแต่เป็นคนละสายพันธุ์กับครั้งแรก คนไข้จะมีโอกาสป่วยรุนแรง 1 ใน 250 ราย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเป็นเพราะเหตุใด แต่สันนิฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดแผกไปจากคนอื่น

“นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานกันว่าเชื้อไวรัสเดงกี่น่าจะเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อน ณ เวลานั้นยังมีไวรัสเดงกี่เพียงชนิดเดียว ต่อมาวิวัฒนาการทำให้เชื้อไวรัสเพิ่มเป็น 4 สายพันธุ์ แต่ช่วงเวลากว่า 60 ปี ที่ไข้เลือดออกระบาดในไทย ชื้อไวรัสเดงกี่ยังคงมี 4 สายพันธุ์เช่นเดิม” อ.สุธี ย้อนอดีตของไวรัสเดงกี่

“หากถามว่าเชื้อไวรัสเดงกี่มีโอกาสกลายพันธุ์เป็นเดงกี่ 5, 6, 7 หรือไม่ ตอบได้ว่ามี แต่โอกาสน้อยและก็ช้า อาจต้องใช้เวลาร่วมร้อยปี เพราะถึงอย่างไรสิ่งมีชีวิตยังมีการวิวัฒนาการอยู่ตลอด” อ.สุธี เฉลย ซึ่งอาจารย์ยังมั่นใจด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ของไวรัสเป็นหลักประกันได้ว่าเราน่าจะพัฒนาวัคซีนขึ้นมาใช้ได้ทันก่อนที่จะเกิดไวรัสเดงกี่สายพันธุ์ใหม่ออกอาละวาด

สยบเชื้อร้ายด้วยไตสุนัข

อ.สุธี อธิบายวิธีที่เขาใช้สร้างวัคซีนว่าก่อนอื่นต้องทำให้เชื้อเดงกี่อ่อนแรงเสียก่อน โดยการเพาะเลี้ยงเชื้อต้นตอที่สกัดได้จากผู้ป่วยให้ขยายพันธุ์และเติบโตในเซลล์ไตสุนัข เมื่อได้เชื้อไวรัสรุ่นใหม่ก็ย้ายไปเพาะเลี้ยงในเซลล์ใหม่ ซึ่งเชื้อจะเกิดการปรับเปลี่ยนพันธุกรรมและอ่อนแรงลง ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้เชื้อที่มีฤทธิ์น้อยลง แต่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ วิธีนี้ทำให้มีเชื้อไวรัสแต่ละสายพันธุ์ที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากมายให้เลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมสำหรับวัคซีน 1 เข็ม

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกที่มีประสิทธิภาพจะต้องป้องกันเชื้อไวรัสเดงกี่ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ภายในเข็มเดียว เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับไวรัสเดงกี่ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ในคราวเดียว ดังนั้นเชื้อไวรัสทั้ง 4 สายพันธุ์ที่อยู่ในวัคซีนเข็มเดียวกันจึงจำเป็นต้องให้เชื้ออ่อนฤทธิ์จนไม่ทำให้เกิดอาการป่วย กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี และต้องไม่รบกวนการทำงานของเชื้อสายพันธุ์อื่น ซึ่งนี่คือโจทย์ในการสร้างวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกของนักวิจัย และเป็นเหตุผลว่าทำไมวัคซีนป้องกันโรคนี้จึงต้องใช้เวลาพัฒนานานนับสิบๆ ปี ซึ่ง อ.สุธี กล่าวว่า หากเชื้อไวรัสเดงกี่มีเพียงสายพันธุ์เดียวก็อาจมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกใช้กันนานแล้ว แต่เพราะไม่ได้เป็นเช่นนั้น การสร้างวัคซีนจึงไม่ง่ายอย่างที่คิด

ในที่สุด อ.สุธี ก็พัฒนาวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชุดที่ 2 สำเร็จ ซึ่งจากการทดสอบในผู้ป่วยเบื้องต้น วัคซีนนี้สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีและป้องกันได้นานกว่า 10 ปี

พ่อครัวฝีมือจัดจ้านแต่ขาดภัตตาคารรองรับ

เมื่อได้วัคซีนต้นแบบแล้วขั้นต่อไปก็จะเข้าสู่กระบวนการผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรม เพื่อให้มีปริมาณมากเพียงพอกับความต้องการใช้ ซึ่ง อ.สุธี ประเมินว่าเฉพาะในประเทศไทยน่าจะต้องใช้ประมาณ 1-2 ล้านเข็มต่อปี และยังมีประเทศอื่นๆ อีก เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพและเทคโนโลยีด้านการผลิตวัคซีนของประเทศไทย จำเป็นต้องมีโรงงานผลิตที่ได้ตามมาตรฐาน

อ.สุธี กล่าวว่าขณะนี้ศูนย์วัคซีนกำลังพัฒนาเทคโนโลยีการผลิดวัคซีนในระดับอุตสาหกรรม ทว่าประเทศไทยยังขาดโรงงานผลิตที่มีมาตรฐานที่จะมารองรับตรงนี้ได้

เป็นปัญหาของนักวิจัยไทยที่จะต้องหาโรงงานที่ได้มาตรฐานจีเอ็มพี (GMP ซึ่งไม่มีอยู่ในประเทศไทย ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม จีน และอินเดียมีพร้อมแล้ว เปรียบดังมีเครื่องปรุงและพ่อครัวที่มีฝีมือ แต่ไม่มีภัตตาคารให้แสดงฝีมือปรุงอาหาร” อ.สุธี เผย

ทั้งนี้ อ.สุธี ได้กล่าวถึงกรณีตัวอย่างในอดีตที่ไทยเคยประสบความสำเร็จในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าของสภากาชาดไทยและไข้สมองอักเสบขององค์การเภสัชกรรม ที่ผลิตจากสมองสัตว์ อาจเป็นแกะ กระต่าย หรือหนู แต่เมื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น สามารถผลิตวัคซีนได้จากเซลล์เพาะเลี้ยง วิธีเดิมจึงเริ่มหดหายไปจากโลก

ประเทศไทยปรับตัวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจึงต้องปิดตัวลง และเปลี่ยนมาเป็นนำเข้าวัคซีนจากเซลล์เพาะเลี้ยงของต่างชาติแทน ขณะที่วัคซีนไข้สมองอักเสบจากสมองหนูที่ยังผลิตอยู่ในตอนนี้ก็อาจต้องประสบปัญหาเดียวกันในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า" อ.สุธี ตั้งข้อสังเกต ซึ่งทางศูนย์วัคซีนฯ ก็กำลังวิจัยเพื่อแก้ปัญหานี้ที่อาจเกิดขึ้นในไม่ช้า

หวังรัฐบาลพลิกวิกฤติเป็นโอกาส

ทว่าบทบาทในการวิจัยและพัฒนาของศูนย์วัคซีนฯ เริ่มเจอทางตันเมื่อสิ่งที่พัฒนาขึ้นจนสำเร็จแต่ขาดภาคอุตสาหกรรมหรือโรงงานผลิตที่จะมารับช่วงต่อ

โรงงานไม่ได้ชี้ว่าวัคซีนใช้ได้ดีหรือไม่ดี แต่เป็นตัวพัฒนาให้ได้วัคซีนที่มีมาตรฐานโลกสำหรับประชาชนไทย” อ.สุธี กล่าวและคาดหวังว่าผู้บริหารประเทศจะเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ มีนโยบายชัดเจน และดำเนินการอย่างเร่งด่วนหลังจากที่ล่าช้ามาหลายปีแล้ว

วัคซีนที่ได้จะต้องใช้ได้ผลดี ราคาถูก และออกไปสู่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง ไม่ใช่ว่าทำอย่างไรถึงจะได้กำไรมากที่สุด ซึ่งรัฐบาลตอบโจทย์นี้ได้แต่อยู่ที่ว่าจะให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ขณะที่ตอนนี้มีวัตถุดิบพร้อมแล้ว แต่ยังไม่โรงงานผลิตรองรับ และต้องผลิตให้ได้มาตรฐานในปริมาณมากเพื่อทดสอบกับคนจำนวนมากก่อนขึ้นทะเบียนและจำหน่ายได้” อ.สุธี กล่าวและต่อว่ายังมีนักวิจัยพัฒนาวัคซีนมากฝีมืออยู่ในอีกหลายสถาบันที่ขาดปัจจัยรองรับผลผลิตจากห้องปฏิบัติการเช่นเดียวกัน โรงงานผลิตวัคซีนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตยังมีประโยชน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรนอกเหนือจากผลิตวัคซีนไข้เลือดออกเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ดี อ.สุธี กล่าวว่า ศูนย์วัคซีนฯ ได้เตรียมความพร้อมเรื่องสถานที่และเทคโนโลยีสำหรับโรงงานผลิตวัคซีนที่จะมีขึ้นในอนาคตไว้แล้ว แต่สิ่งที่ขาดอยู่ขณะนี้คือเงินทุน ซึ่งเขาหวังให้รัฐบาลเป็นหัวเรือใหญ่ ขณะเดียวกันก็ไม่ปิดกั้นเอกชนที่สนใจและมีความสามารถที่จะทำได้ เพื่อให้ได้วัคซีนราคาถูกสำหรับประชาชนไทย และพัฒนาศักยภาพของประเทศไปพร้อมกัน








กำลังโหลดความคิดเห็น