xs
xsm
sm
md
lg

หนูทดลองใกล้พ้นเคราะห์ นักวิจัยสร้าง "ชิปทดสอบ" ใช้แทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอพี - หนูอาจไม่ต้องพลีชีพในห้องทดลองอีกต่อไปเมื่อนักวิจัยมะกันคิดค้นชิปทดสอบเครื่องสำอางและสารเคมีได้สำเร็จ โดยใช้เซลล์เพาะเลี้ยงแทนการทดสอบปฏิกิริยาตอบสนองของเซลล์ในสัตว์ทดลอง เพื่อเลี่ยงปัญหาการทารุณกรรมสัตว์และภาวะขาดแคลนสัตว์ทดลอง คาดปีหน้าผลิตวางตลาด

กลุ่มต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์และการใช้สัตว์ทดลองในยุโรปได้เรียกร้องนักวิจัยหยุดการทรมานสัตว์โดยนำมาใช้ทดลองทางวิทยาศาสตร์มานานหลายปี ทำให้ทีมนักวิจัยสหรัฐอเมริกาเลยหาทางออกด้วยการคิดค้นและพัฒนาชิปทดสอบปฏิกิริยาตอบสนองของเซลล์ต่อสารเคมีขึ้นมาเพื่อใช้แทนหนูและสัตว์ทดลอง

ทีมนักวิจัยนำโดยศ.โจนาธาน ดอร์ดิก (Jonathan Dordick) จากสถาบันโพลิเทคนิคเรนส์ซีเลียร์ (Rensselaer Polytechnic Institute) เมืองทรอย มลรัฐนิวยอร์ก และศ.ดักลาส คลาร์ก (Douglas Clark) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในเบิร์กเลย์ (University of California, Burkley)  เปิดเผยว่าพวกเขาคิดค้นชิปทดสอบสารเคมีขึ้นมาเพื่อนำมาใช้แทนสัตว์ทดลอง และเตรียมผลิตจำหน่ายโดยบริษัทโซลิดัสไบโอไซน์ส (Solidus Biosciences) ซึ่งเขาหวังว่าอุปกรณ์การทดสอบทางวิทยาศาสตร์นี้จะมีประสิทธิภาพยอดเยี่ยมไม่ด้อยไปกว่าการใช้สัตว์ทดลองและยังมีราคาถูก

ชิปที่ว่านี้มีลักษณะคล้ายแผ่นกระจกขนาดมาตรฐานที่ใช้สำหรับส่องกล้องจุลทรรศน์ (standard microscope slide) ทว่าบนแผ่นกระจกนี้จะมีจุดสีขาวเล็กๆ นับร้อยจุดที่บรรจุไว้ด้วยเซลล์เพาะเลี้ยงและเอนไซม์สำหรับทดสอบประสิทธิภาพหรือความเป็นพิษของยา เครื่องสำอาง และสารเคมีต่างๆ

"ใครจะไปรู้ว่าสักวันหนึ่งเราอาจเหลือสัตว์ให้ใช้ในการทดลองอยู่เพียงไม่กี่ตัวก็ได้ แต่ก็ไม่มีใครรู้หรอกว่าชิปทดสอบนี้จะเข้ามาแทนที่สัตว์ทดลองทั้งหมดได้เมื่อไหร่ ทว่ามันจะช่วยไม่ให้สัตว์มากมายต้องทนทุกทรมานหรือสังเวยชีวิตให้กับการทดสอบสารพิษอีกต่อไป" ดอร์ดิคกล่าว

ทั้งนี้ความก้าวหน้าด้านการแพทย์ที่ผ่านมาในอดีตถึงปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นยา วัคซีน วิธีการรักษา ล้วนแล้วแต่พึ่งพาสัตว์ทดลองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นหนู กระต่าย สุนัข ลิง หรือหมู และสัตว์บางชนิดในจำนวนนี้ยังถูกใช้เพื่อทดสอบความปลอดภัยของสารเคมีและเครื่องสำอางมากมายก่อนที่จะนำไปใช้กับคนจริงๆ

นักวิจัยใช้วิธีสังเคราะห์เซลล์แล้วบรรจุไว้ในชิปเพื่อเลียนแบบให้เหมือนผิวหนังคนเราสำหรับทดสอบสารเคมี ชิปทดสอบประกอบด้วยแผ่นแก้ว 2 แผ่น คือ เมตาชิป (MetaChip) ที่มีจุดเล็กๆ เรียงกันเป็นแถวมากมาย บริเวณจุดนั้นประกอบไปด้วยเอนไซม์จากตับของคนเรา

อีกแผ่นคือ ดาตาชิป (DataChip) ที่มีจุดเล็กๆ ที่เป็นตำแหน่งของเซลล์ที่มีชีวิตเรียงกันเป็นแถวเช่นเดียวกัน ซึ่งดาตาชิปแต่ละแผ่นจะบรรจุเชลล์ต่างชนิดกัน ขึ้นอยู่กับว่าต้องการทดสอบกับเซลล์ชนิดใด เช่น เซลล์กระเพาะปัสสาวะ, ตับ, ไต, หัวใจ, ผิวหนัง หรือปอด

เมื่อใช้ทดสอบจะต้องประกบชิปทั้ง 2 แผ่นเข้าหากัน ซึ่งเป็นการเลียนแบบปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติต่อสารเคมีของเซลล์ร่างกายมนุษย์ ถ้าปรากฏว่าเซลล์ตายหรือหยุดการเจริญเติบโต แสดงว่าสารที่นำมาทดสอบนั้นเป็นพิษต่อเซลล์ ซึ่งจากการทดสอบประสิทธิภาพของชิปนี้ก็ใช้ได้ผลดี อีกทั้งยังสะดวกและรู้ผลเร็ว และขณะนี้นักวิจัยก็กำลังทดสอบในบริษัทยาและเครื่องสำอางหลายแห่ง และคาดหวังว่าจะผลิตจำหน่ายได้ราวปลายปี 2552

อย่างไรก็ดี นักวิจัยยังต้องปรับปรุงเพื่อให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น และชิปทดสอบนี้ก็ยังมีข้อจำกัดในการประเมินความเสี่ยงบางอย่าง เช่น ปริมาณสารเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง

"การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการทดสอบนอกร่างกายสิ่งมีชีวิตเป็นหนทางที่จะทำให้นักวิจัยออกห่างจากการใช้สัตว์ทดลองมากขึ้น แม้จะยังไม่เห็นผลชัดเจนในทศวรรษใกล้ๆ นี้ แต่พวกเราก็เชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่งหนูทดลองจะกลายเป็นแค่เรื่องในอดีต" ดร.อลัน โกล์ดเบิร์ก (Dr.Alan Goldberg) ผู้อำนวยการศูนย์ทางเลือกใหม่เพื่อสัตว์ทดลอง (Center for Alternatives to Animal Testing) มหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอพกินส์ (Johns Hopkins University) กล่าว

ด้านเทย์เลอร์ เบนเนตต์ (Taylor Bennett) ที่ปรึกษาอาวุโส สมาคมนักวิจัยด้านชีวเวช สหรัฐฯ (US Association for Biomedical Researchers) เผยว่า การทดลองในสัตว์ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อยารักษาโรคที่จะนำมาใช้ในคน ซึ่งต้องผ่านการทดสอบในสัตว์ทดลองแล้วว่ามีประสิทธิภาพดีจริงและปลอดภัยต่อผู้ใช้ องค์การอาหารและยาจึงจะอนุญาตให้นำมาใช้กับผู้ป่วยได้ และเชื่อว่าเทคโนโลยีใหม่อาจเพิ่มโอกาสให้รักษาผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องใช้สัตว์ทดลองอย่างที่ตั้งความหวังกันไว้

ขณะเดียวกัน สาธารณชนเริ่มต่อต้านการใช้สัตว์ทดลองมากขึ้น โดยเฉพาะที่ใช้ในการทดสอบเครื่องสำอางชนิดใหม่ๆ ที่มีการคิดค้นพัฒนาสูตรใหม่ขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ ซึ่งกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่อเรื่องนี้ในยุโรปก็มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยุติการกระทำดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง และในที่สุดสหภาพยุโรปก็ออกกฏให้เลิกใช้สัตว์ทดลองทดสอบเครื่องสำอางตั้งแต่เดือน มี.ค. 2552 เป็นต้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น