และแล้วก็ปรากฏผลงานออกมาสู่ส่ายตาประชาชนให้เป็นที่รับรู้กันอย่างถ้วนหน้าว่า นี่คือผลงานของพรรคภูมิใจไทยพรรคร่วมรัฐบาล โดยหัวหอกอย่าง ปู่จิ้น-ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ด้วยการลงนามแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพนันชนไก่และกัดปลา พ.ศ.2552 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม และมีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 31 สิงหาคม 2552
รายละเอียดสำคัญของระเบียบกระทรวงฉบับนี้ ได้มีการยกเลิกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพนันชนไก่ 2 ฉบับ คือ ฉบับ พ.ศ. 2525 และ พ.ศ.2531 โดยมีการออกระเบียบใหม่ขึ้นมาทดแทน หลังจากมีการผลักดันของกลุ่มคนบางกลุ่ม เพื่อขอให้มีการเพิ่มวันเปิดบ่อนไก่และกัดปลาเพิ่มขึ้น ซึ่งมีเหตุผลที่ว่าเพื่อส่งเสริมอาชีพให้้แก่เกษตรกรและกีฬาพื้นบ้าน รวมถึงการเอื้อให้การออกใบอนุญาตเปิดบ่อนไก่ทำได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
เมื่อมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้วหลายฝ่ายออกมาต่อต้านด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นการส่งเสริมให้มีการเล่นการพนันบ้าง เป็นการทารุณกรรมสัตว์บ้าง จึงมีคนกลุ่มใหญ่ที่ยังมีข้อกังขาต่อการตัดสินใจครั้งนี้ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นอย่างยิ่งว่า คิดดีแล้ว หรืออย่างไร...
เปิดบ่อนไก่ ใครได้ประโยชน์?
“นโยบายนี้ นอกจากเอื้อประโยชน์ให้แก่ พวก ‘ระดับบิ๊กๆ’ แล้ว ยังเป็นการสร้างฐานเสียงของนักการเมือง ที่สำคัญก็คือเป็นการสร้างกลุ่มผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นให้ชัดเจนขึ้น เพราะคนพวกนี้ส่วนใหญ่ก็มักจะมีสายสัมพันธ์อันดีกับข้าราชการและนักการเมือง กลายเป็นระบบ เป็นขบวนการผู้มีอิทธิพล สิ่งที่คนกลุ่มนี้ได้ประโยชน์ก็คือการกระจายอำนาจของตัวเองไปตามบ่อนต่างๆ สรุปแล้วมันก็คือกระบวนการสร้างฐานอำนาจของผู้มีอิทธิพลในระยะยาว ส่วนชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ไก่ที่เอาไปตีในบ่อนก็สู้เขาไม่ได้หรอก”
เป็นความเห็นจาก ศรีษะเกษ สมาน เลขาธิการสมาคมชีวิตดี และผู้จัดการโครงการเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ จังหวัดลำปาง ที่สะท้อนอย่างตรงไปตรงมาต่อนโยบายการขยายเวลาเปิดบ่อนไก่ โดยให้สามารถเปิดบ่อนไก่ชนได้ทั้งวันเสาร์และวันอาทิตย์ จากเดิมที่เปิดได้เพียงแค่วันอาทิตย์ โดยนโยบายดังกล่าวมีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว
พร้อมด้วยเหตุผลจากรัฐบาลทำนองว่า เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไม่ต่างจากเมื่อครั้ง ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ครองเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
เราลองหยิบเหตุผลที่ว่านั้น ไปถามไถ่ศรีษะเกษ ซึ่งทำงานเครือข่ายภาคประชาชนมายาวนาน คำตอบที่ได้รับพร้อมกับเสียงหัวเราะหยันเย้ยเล็กๆ ต่อนโยบายที่รัฐให้คำอธิบายไว้สวยหรูนี้ ก็คือ
“การเปิดบ่อนไม่ใช่การอนุรักษ์วัฒนธรรมหรอกครับ มันก็คือการตีไก่ธรรมดานี่แหละ ผมสงสัยว่ามันจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้หมุนเวียนได้อย่างไร เพราะมันก็ไม่ต่างจากการไปให้คุณค่าของบ่อน มันเหมือนกับคุณคิดว่า ถ้าทำให้มีคนเข้าบ่อนเยอะๆ แล้ว เมื่อถึงวันหนึ่งก็อาจจะตั้งร้านขายสินค้า มีการค้าขายเกิดขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจชุมชนหมุนเวียน เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เชิญชวนให้ทุกคนมาบ่อน อย่างนั้นหรือ
มันไม่ใช่หรอก มันไม่ถูกต้อง ในความเป็นจริงมันไม่เป็นแบบนั้น เพราะคนที่ได้ประโยชน์จากบ่อนอย่างแท้จริงคือพวกหัวเรือใหญ่ โต้โผใหญ่ ส่วนชาวบ้านก็มีแต่ความเสี่ยง ถ้าเล่นเยอะแล้วเสีย ก็ต้องกลับไปเล่นใหม่เพราะหวังจะแก้มือ หวังเอาคืน แต่ในที่สุดก็ต้องเสียเงิน หมดเนื้อหมดตัว
การสร้างบ่อนไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจ หากอยากให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ต้องมีการส่งเสริมตลาด ส่งเสริมให้มีการค้าขายเหมือนตลาดวัว ตลาดควาย ใครมีไก่พันธุ์ดีๆ ก็เอามาแลกเปลี่ยนกัน เอามาค้ามาขายกัน แบบนี้จะเป็นการส่งเสริมมากกว่า”
ต่อเนื่องจากประเด็นที่ว่า ใครกันแน่ คือกลุ่มคนที่ได้ผลประโยชน์จากนโยบายเปิดบ่อนไก่ ทัศนะจาก รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และผู้จัดรายการ ‘รู้ทันประเทศไทย’ ที่ออกอากาศทางช่องเอเอสทีวี ก็ชวนให้ฉุกคิดอยู่ไม่น้อย เพราะแม้จะสนับสนุนการเลี้ยงไก่ชน แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการพนัน ทั้งมองว่า หากมีความจริงใจที่จะสนับสนุนการเลี้ยงไก่ชน ยังมีวิธีอื่นๆ ที่ควรทำมากกว่าการเปิดบ่อน ซึ่งส่งให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนบางกลุ่ม
“หากจะส่งเสริมให้มีการเพิ่มเวลาเปิดบ่อนไก่ ผมไม่เห็นด้วย จากเดิมที่เปิดได้เพียงวันเสาร์ ผมก็เห็นว่ามันมากพออยู่แล้ว แม้จะต้องหยุดนักขัตฤกษ์ ซึ่งเดือนหนึ่งก็อาจจะเหลือสัก 3 วัน แต่ระเบียบใหม่นี่ เดือนหนึ่งดูเหมือนจะเปิดบ่อนได้ถึง 5 วัน ทั้งยังสามารถเลื่อนได้เมื่อถึงวันสำคัญทางพุทธศาสนา หรือวันนักขัตฤกษ์ ทำแบบนี้เหมือนกับมือถือสากปากถือศีล เพราะเมื่อถึงวันสำคัญทางพุทธศาสนาคุณก็บอกให้เลื่อนออกไป ซึ่งไม่ว่าจะหยุดหรือเลื่อนมันก็ทรมานสัตว์เหมือนกัน ดังนั้น ผมจึงไม่เห็นด้วยทั้งเรื่องของการพนัน การเพิ่มวัน และการเลื่อนวันออกไปเพื่อไม่ให้ตรงกับวันนักขัตฤกษ์”
เจิมศักดิ์ย้ำว่า สิ่งที่รัฐควรทำคือการลดอบายมุขลงไม่ใช่ทำให้มีช่องทางเพิ่มขึ้น จากระเบียบเดิมที่อนุญาตให้เปิดบ่อนได้เฉพาะวันเสาร์ก็มากพอแล้ว ส่วนคำอธิบายรองรับนโยบายเปิดบ่อนที่ว่าจะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนนั้น เจิมศักดิ์แสดงความเห็นทิ้งท้ายว่า
“เรามีวิธีอื่นที่ทำได้ดีกว่านี้ ไม่ใช่การเพิ่มเวลาเปิดบ่อน เพราะการเพิ่มวันเปิดบ่อนน่าจะมีผลประโยชน์แอบแฝง เช่น การขายพันธุ์ไก่ ยารักษาโรคไก่ อาหารเสริมไก่ รวมถึงผลประโยชน์ของคนที่มีกิจการบ่อนไก่ ผมมองว่าสรุปแล้วเป็นเรื่องของผลประโยชน์ แต่อ้างเรื่องการพัฒนาพันธุ์ไก่ เพราะหากจะพัฒนาพันธุ์ไก่จริงๆ สามารถทำได้ด้วยวิธีที่ดีกว่านี้”
มุมมองคนชนไก่กับนโยบาย 'ปู่จิ้นจัดให้'
พีระ เกตุสุวรรณ์ หรือ ลุงเปี๊ยก ผู้คลุกคลีในแวดวงไก่ชนมากว่า 40 ปี ปัจจุบันทำหน้าที่ดูแลบริหาร สนามกีฬาไก่ชนเทิดไท ซึ่งมีใบอนุญาต ถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งอยู่อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ โดยเปิดเฉพาะวันอาทิตย์ของทุกสัปดาห์ ยกมือสนับสนุนการเปิดบ่อนไก่ในวันเสาร์-อาทิตย์ รวมแล้ว 8 วันต่อเดือน พร้อมบอกเล่าว่า ปัจจุบันคนหลากหลายกลุ่มนิยมการชนไก่มากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะวัยผู้ใหญ่เหมือนในอดีต เด็กวัยรุ่นก็นิยมเข้าบ่อนไก่ และผู้หญิงหลายคนก็ตีไก่เป็น
ข้อดีหนึ่งของการเปิดบ่อนไก่ 8 วันต่อเดือนตามความคิดของพีระ คือทำให้นักชนไก่ไม่ต้องไปตีไก่ในบ่อนไก่ผิดกฎหมาย
เขามองว่า ไก่ชนเป็นกีฬาพื้นบ้านไม่ใช่การทรมานสัตว์อย่างที่หลายคนเข้าใจ ไก่ที่นำมาแข่งขันจะมีผ้าปลาสเตอร์แปะตรงเดือยจนมิด เพราะฉะนั้นเดือยอันแหลมคมจึงไม่สามารถโผล่มาทิ่มแทงไก่คู่ต่อสู้ได้ และกรรมการในสนามจะตรวจสอบความเรียบร้อยของผ้าปลาสเตอร์อยู่ตลอดการแข่งขัน ดูๆ ไปแล้วก็ไม่ต่างจากการใส่นวมของนักมวย แถมช่วยลดการบาดเจ็บของไก่ได้
นอกจากนั้น พีระบอกว่า ยิ่งมีบ่อนไก่ชนกระจายอยู่หลายๆ แห่งทั่วประเทศยิ่งเป็นการดี เพราะทำให้นักชนไก่ไม่ต้องมารวมตัวกันอยู่สนามเดียว
“หากมีบ่อนไก่ครอบคลุมหลายๆ พื้นที่ในต่างจังหวัด ชาวบ้านก็ไม่ต้องเดินทางไกลข้ามจังหวัดเพื่อนำไก่มาชน และชาวบ้านที่หลังหมดฤดูทำนา จะได้นำไก่มาฝึกซ้อมให้เก่ง เพราะไก่ชนตัวไหนชนชนะบ่อยๆ จะมีมูลค่าสูงมาก ขายได้ในราคาแพงขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนได้อย่างดี”
หากเปิดบ่อนไก่ในวันเสาร์เพิ่มอีกหนึ่งวัน แล้วไม่มีคนมาใช้บริการหรือมาใช้บางตา ค่าใช้จ่าย ค่าน้ำค่าไฟ และค่าอื่นๆ ที่สนามฯ ต้องรับผิดชอบก็ไม่ได้มากมายอะไร
พีระเชื่อว่า ตีไก่ดีกว่าเล่นหวยรัฐบาล
“ใครสามารถยืนยันได้บ้างว่า หวยรัฐบาลไม่มีการโกงหรือล็อกเลข ผมว่าตีไก่มีสิทธิ์ได้เงินมากกว่าเล่นหวยอีกนะ”
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเปิดสนามวันอาทิตย์อย่างเดียว สนามที่พีระดูแลอยู่ก็ไม่มีปัญหาด้านรายได้จนนำไปสู่การล้มเลิกกิจการ รวมทั้งคนดูแลหรือพนักงานก็ไม่เดือดร้อนเรื่องเงินทอง
ส่วนการออกมาคัดค้านการแก้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพนันชนไก่และกัดปลา พ.ศ.2552 ของ โรเจอร์ โลหะนันท์ นายกสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย พีระเห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่จะมีคนไม่เห็นด้วยเพราะเห็นเป็นการทรมานสัตว์ ซึ่งไม่ต่างจากการเมืองที่มีฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน
เยาวชนกับการพนัน
“ตกลงเราคาดหวังกับสังคมให้เป็นอย่างไร ความชัดเจนบางอย่างของสังคมไทยคือเป็นสังคมที่ไม่มีความชัดเจนใดๆ เลย มันคลุมเครือ ค้างๆ คาๆ เพราะในความเป็นจริงเราเห็นว่ามันมีการพนันอยู่มากมายหลายส่วน ไม่ใช่แค่ไก่ชน ยังมีพนันบอล บ่อนปลากัด หวยใต้ดิน บ่อนลอยฟ้า ฯลฯ ซึ่งทุกคนรู้ดีว่ามันมี และมันไม่ใช่เพิ่งมี แต่มันมีมานานแล้ว บางอย่างกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนในสังคมไทย โดยเฉพาะหวยและไก่ชน” โกวิท โพธิสาร เสนอความคิดเห็นไว้
เขาสะท้อนว่ามันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ถ้าเปิดบ่อนไก่ชน นั่นหมายความว่าเราสามารถเปิดโต๊ะบอลได้ด้วยหรือเปล่า? รื้อส่วนใดส่วนหนึ่ง แก้ส่วนใดส่วนหนึ่ง มันจะกระทบต่อส่วนอื่นทันที กลายเป็น 2 มาตรฐาน หรืออาจเป็น 3-4-5-6 มาตรฐาน ...ง่ายๆ เลยคือ ทำไมบางอย่างได้ บางอย่างถึงไม่ได้
.......
ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองพุทธ เมื่อทำอะไรที่ขัดต่อหลักศาสนาก็เป็นที่จับตามองเป็นพิเศษ ซึ่งอาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนเป็นเรื่องธรรมดา ทว่า การออกระเบียบใหม่ขึ้นมาทดแทนนี้เป็นการแทงใจดำคนถือศีลอย่างมาก ส่วนประชาชนคนธรรมดาก็คงงงๆ กันว่าทำไมต้องเพิ่มวันให้เล่นการพนันตีไก่-กัดปลาด้วย ที่สำคัญหลายคนมองว่าแทนที่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยจะเอาเวลามาแก้ระเบียบดังกล่าว ควรจะเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่ประชาชนกลุ่มใหญ่ได้รับผลประโยชน์ดีกว่า การทำอะไรๆ ที่คนเพียงบางกลุ่มได้รับประโยชน์เป็นไหนๆ
หรือนี่คือ วังวนเก่าๆ ของการสร้างฐานอำนาจผู้มีอิทธิพลทางการเมือง
..........
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK