xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เอาจริงจับช้างเร่ร่อน ฝ่าฝืนเจอจับ-กัก-ส่งฟ้อง คาด 1 สัปดาห์รู้เรื่อง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กทม.เตรียมสนธิกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจ และปศุสัตว์ ลงพื้นที่ทั่วกรุง แก้ปัญหาช้างเร่ร่อนทุกวันตลอดเดือนนี้ เน้นเข้าถึงตัว แหล่งกบดาน ใครฝ่าฝืนเจอจับ-สั่งกัก-ส่งฟ้อง พร้อมนำประกาศให้นำช้างออกนอกพื้นที่ทันทีสมัย “สมัคร” มาใช้อีกรอบ ตั้งเป้า 1 สัปดาห์เห็นความเปลี่ยนแปลง ด้านปศุสัตว์แจงควาญช้างเริ่มไหวตัวไม่พาช้างเข้าเมืองทำยอดช้างเร่รอนหดเหลือไม่ถึง 100 เชือก ด้านควาญช้างโอดแค่ค่าอาหารช้างก็ปาเข้าไปหลักหมื่นจะจ้างควาญช้างควรปรับเงินเพิ่ม

นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัด กทม. เข้าประชุมเพื่อสรุปแนวทางและวางแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนในเขตพื้นที่ กทม.ตามโครงการ “ช้างยิ้ม” ที่ได้เปิดตัวไปก่อนหน้านี้ โดยในที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า นอกเหนือจากการรอให้รัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการแก้ไขข้อกฎหมายตลอดจนการหาทางแก้ไขปัญหาในระดับชาติแล้ว ในส่วนของ กทม.ในฐานะเจ้าของพื้นที่ก็จะดำเนินการแก้ไขปัญหาควบคู่กันไป โดยจะเริ่มสำรวจจำนวนช้างเร่ร่อนในพื้นที่ กทม.ทั้ง 50 เขตตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และต่อเนื่องตลอดทั้งเดือนนี้ โดยจะใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่เทศกิจเป็นหลัก ร่วมสนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่สารวัตรกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมดำเนินการอย่างจริงจัง เข้าถึงตัวผู้กระทำผิด และแหล่งที่ใช้เป็นสถานที่พักอาศัยของช้าง และควาญช้าง โดยตั้งเป้าภายใน 1 สัปดาห์เริ่มเห็นผล

สำหรับการสำรวจช้างเร่ร่อนดังกล่าว จะใช้มาตรการจากเบาไปหาหนักตามประกาศกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2546 สมัย นายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งจะมีการออกหนังสือประชาสัมพันธ์ประกาศแจ้งเตือนผู้ที่นำช้างมาเดินเร่ร่อนให้นำช้างออกจากพื้นที่เขต กทม.ทันทีตั้งแต่มีการประกาศ จากนั้นหากพบผู้ใดฝ่าฝืนจะดำเนินการจับกุมทันทีในข้อหากระทำผิดต่อ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ ตลอดจน พ.ร.บ.อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมออกคำสั่งกักตัวช้างให้อยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ในสถานที่ที่ได้จัดเตรียมไว้ระหว่างส่งสำนวนฟ้องและรอคำพิพากษาจากศาล

ด้าน นายสัตวแพทย์แดนชัย นุใหม่ สารวัตรกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ กทม.เปิดตัวโครงการ “ช้างยิ้ม” แก้ปัญหาช้างเร่ร่อนมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ขณะนี้มีเจ้าของและควาญช้างหลายรายไหวตัวทันและระมัดระวังตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการนำช้างเข้ามาหากินในพื้นที่ กทม. ส่งผลให้ล่าสุดจากการสำรวจจำนวนช้างเร่ร่อนในเขต กทม.พบว่ามีเหลืออยู่ไม่ถึง 100 เชือก จากเดิมเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมามีช้างเร่ร่อนใน กทม.มากกว่า 300 เชือก

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนชาว กทม.ด้วยที่จะต้องช่วยกันไม่ให้การสนับสนุนการหากินกับช้าง โดยเฉพาะการนำช้างมาเร่ร่อน และขอทานซึ่งเป็นการทรมานสัตว์ ซึ่งถ้าช่วยกันคนละไม้คนละมือ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบก็ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างต่อเนื่องและจริงจังก็คาดว่าโครงการนี้น่าจะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีตามที่ทุกฝ่ายตั้งเป้าเอาไว้

ต่อมาเมื่อเวลา 16.00 น. นายธีระชน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เทศกิจ และเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์ ตรวจแหล่งพักช้างย่านถนนพระราม 9 เขตห้วยขวาง โดยนายธีระชน เปิดเผยภายหลังจากการตรวจแหล่งพักช้างย่านพระราม 9 ว่า จากการลงพื้นที่เพื่อสำรวจการนำช้างมาเร่ร่อนในพื้นที่ กทม. นำร่องที่เขตห้วยขวางนั้นพบช้างที่จำนวน 3 เชือก โดยเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์ ได้ทำการแต้มสีแดงที่ใบหูช้างพร้อมกับจดทะเบียนรูปพรรณช้างไว้แล้ว

ทั้งนี้จากที่ได้พูดคุยกับควาญช้าง พบว่าแนวทางของกทม.ที่จะจ้างควาญช้างเดือนละ 8,000 ไม่ให้นำช้างมาเร่ร่อนในเมืองนั้นไม่เพียงพอ เนื่องจากควาญช้างให้ข้อมูลว่าเฉพาะค่าอาหารช้างก็ตก 10,000 บาทต่อเดือน ดังนั้น กทม. จะเพิ่มเติมงบประมาณในเรื่องค่าอาหารช้าง โดยอาจจะของบจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) และมูลนิธิที่เกี่ยวกับช้างให้จัดแสดงคอนเสิร์ตเพื่อนำเงินรายได้มาเป็นค่าอาหารช้าง ซึ่งตนคาดว่าการจะเพิ่มเงินเดือนและจ้างให้ควาญช้างกลับไปอยู่ที่บ้านได้นั้นจะต้องใช้เงิน 20,000 บาทต่อเดือน ส่วนในแง่ของการแก้กฎหมาย หลังจากที่ กทม. สำรวจและฝังไมโครชิพแล้วจะมีการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจะมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และอาจจะรุนแรงขึ้นถึงขั้นยึดช้างเป็นของรัฐบาลด้วย

นายธีระชน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ แจ้งว่ายินดีที่จะรับซื้อช้างแต่ไม่ทราบว่าราคาตัวเท่าใด เพื่อที่จะให้มีการฟื้นฟูจำนวน 83 เชือก จากที่ซื้อไปแล้ว 64 เชือก เพื่อส่งกลับช้างคืนสู่ป่า ส่วนกรณีที่กทม.มีแนวคิดที่จะสร้างแหล่งพักช้างในเมืองหลวงนั้นหลังจากที่กลุ่มองค์อรอิสระหรือเอ็นจีโอ คัดค้านนั้น กทม. ก็ล้มเลิกแผนการดังกล่าวแล้ว

ด้านนายสัตวแพทย์แดนชัย นุใหม่ สารวัตรกรมปศุสัตว์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในส่วนที่กทม. ให้กรมปศุสัตว์เป็นผู้ฝังไมโครชิพก็ไม่ขัดข้อง แต่อยากให้ กทม.ช่วยสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม ทั้งนี้จากการสำรวจช้างเร่ร่อนและควาญช้างมีประมาณ 60 ราย ที่ยึดพื้นที่ว่างในเมืองกรุงฯ เป็นสถานที่พักช้าง ส่วนการดำเนินการฝังไมโครชิพมีการดำเนินการไปแล้วทั่วประเทศจำนวน 3,825 เชือก คิดเป็นร้อยละ 90 ส่วนอีก 400 เชือกหรือร้อยละ 10 จะดำเนินอย่างต่อเนื่องต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น