xs
xsm
sm
md
lg

อาหารอินทรีย์ ซื้ออย่างไรไม่ถูกตุ๋น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัจจุบัน อาหารอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นภายใต้กระบวนการธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีในทุกขั้นตอนการผลิต กำลังเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นในหมู่ผู้รักสุขภาพทั้งหลายในประเทศไทย ซึ่งแม้จะไม่ใช่เรื่องยากในการซื้อหา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะไปหาซื้อได้ตามตลาดสดทั่วไป ซ้ำร้ายบางครั้งยังไปเจอการต้นตุ๋นหลอกลวงจากพ่อค้าแม่ขายที่เห็นแก่ได้อีกต่างหาก

ทั้งนี้ มาตรฐานของมาตรฐานอาหารอินทรีย์ในประเทศไทยมีอยู่ 2 องค์กรหลัก ที่ให้การรับรอง นั่นคือ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือที่ถูกเรียกย่อๆ อย่างติดปากว่า “มกอช.” สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งรับรองด้วยตราของ “มกอช. และ “ม.ก.ท.” หรือ “มูลนิธิมาตรฐานเกษตรอินทรีย์” ที่ดำเนินการภายใต้ตราที่ได้ลิขสิทธิ์จากไอโฟม (IFOAM-International Federation of Organic Agriculture Movements) หรือสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ
ตราสัญลักษณ์การรับรองผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ของ “ม.ก.ท.”
นาถฤดี นครวาจา ผู้จัดการสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ อธิบายถึงคำจำกัดความง่ายๆ ของเกษตรอินทรีย์ ว่า คือการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีในทุกๆ ขั้นการผลิต เช่น ถ้าเป็นพืชผักผลไม้ ก็จะดูแลตั้งแต่เรื่องดิน ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช โดยไม่ให้ใช้สารเคมี แต่ให้ปลูกและดูแลแบบวิถีธรรมชาติ

“ขณะนี้มีผลิตภัณฑ์จำพวกพืชผักผลไม้ที่ได้การรับรองไปอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นข้าว ผัก ผลไม้ สมุนไพร รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างน้ำผึ้ง ซึ่งเราก็ได้ออกไปรับรองไปประมาณ 70 รายการ และใน 70 รายการนั้น มีอยู่ 20 รายที่เราให้การรับรองแบบกลุ่ม ส่วนใหญ่แล้วพวกนี้จะเป็นกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ เป็นชุมชน ซึ่งจะมีการบริหารจัดการกันเอง เราก็มีหน้าที่เข้าไปตรวจสอบเขาอีกทีว่า การจัดการเป็นระบบหรือไม่ ได้มาตรฐานหรือเปล่า”

“เราจะมีการสุ่มตรวจมาตรฐานของสมาชิกอยู่ตลอด ถ้ามีปัญหาก็อาจจะมีการดำเนินการลงโทษตามสมควร เรื่องของการลงโทษเราก็มีเป็นระดับ เริ่มจากการตักเตือนด้วยวาจา แต่ถ้ายังไม่ปฏิบัติตามก็อาจจะเป็นการทำหนังสือตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร หรือระงับการรับรองผลิตภัณฑ์นั้นๆ เป็นการชั่วคราว แต่หากยังไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดอีกก็จะระงับการรับรองแบบถาวร”
     1. ตราสัญลักษณ์การรับรองผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ของ “ม.ก.ท.”
นาถฤดี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากพืช ผัก ผลไม้แล้ว สัตว์ก็สามารถเลี้ยงตามวิถีเกษตรอินทรีย์ได้ แต่ขณะนี้ผู้บริโภคมีทางเลือกไม่มากนัก เนื่องจากต้องไปหาซื้อตามซูเปอร์มาร์เก็ตหรือตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีแต่เนื้อสัตว์นำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาค่อนข้างสูงและหาซื้อได้ยาก อย่างไรก็ตาม ในอีกไม่นานนักคนไทยก็จะมีทางเลือกมากขึ้น โดยขณะนี้มีการเลี้ยงวัวและเลี้ยงหมู เพื่อนำเนื้อมาทำเป็นอาหารในรูปแบบของเกษตรอินทรีย์ในไทยแล้ว โดยวัวเนื้อเป็นของสหกรณ์กำแพงแสนและหมูเป็นหมูอินทรีย์ของหมู่บ้านทับไทย ซึ่งเป็นสมาชิกของกองทุนข้าวสุรินทร์

“กรรมวิธีการดูแลเนื้อสัตว์แบบเกษตรอินทรีย์ซับซ้อนกว่าการดูแลพืช ผัก ผลไม้ โดยเฉพาะอาหารที่ให้สัตว์กิน เราต้องให้อาหารที่เป็นอาหารอินทรีย์แก่สัตว์ที่เราจะเลี้ยงให้เป็นสัตว์อินทรีย์ ซึ่งวัวเนื้อจะเป็นโจทย์ที่ง่ายที่สุดเพราะกินหญ้าอย่างเดียว ก็ดูแลหญ้าที่เขากินให้เป็นหญ้าอินทรีย์ เลี้ยงด้วยปุ๋ยธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องอาหารแล้ว ม.ก.ท.ได้กำหนดให้มีการนำวัวออกมาเดินออกกำลังกาย เพื่อให้วิถีการเลี้ยงเป็นไปตามธรรมชาติมากที่สุด ต้องได้ออกมาเดินเล็มหญ้า และต้องมีแปลงหญ้า 1 ไร่ ต่อวัว 1 ตัว”

สำหรับกรณีสัตว์ป่วย ควรเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะให้น้อยที่สุด หากป่วยไม่มาก จะแนะนำให้ผู้เลี้ยงใช้ยาสมุนไพรแทน แต่หากจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะจริงๆ อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกินปีละ 2 ครั้ง หากมากกว่านั้น ก็จำเป็นจะต้องนำสัตว์ตัวนั้นออกจากระบบการเลี้ยงแบบเกษตรอินทรีย์ไป และในการทำเครื่องหมาย ก็ห้ามใช้วิธีรุนแรง อย่างสมัยก่อนจะมีการขลิบหู ตอกตราด้วยเหล็กร้อนๆ เพราะถือเป็นการทรมานสัตว์อย่างหนึ่ง ส่วนการฆ่าเพื่อนำเนื้อมาเป็นอาหาร ม.ก.ท.ไม่อนุญาตให้ฆ่าแบบเจ็บปวด ห้ามใช้ไฟฟ้าช็อต ต้องฆ่าแบบการุณยฆาต คือไม่ให้สัตว์ที่ถูกฆ่าเจ็บปวดมาก ต้องทำให้สัตว์ทรมานน้อยที่สุด และใช้ระยะเวลาในการฆ่าน้อย

ส่วนหมูค่อนข้างยากกว่าวัว เพราะต้องกินอาหารหลายอย่าง เช่น พวกรำ ข้าวโพด หยวกกล้วย ซึ่งสามารถจะใช้อาหารแบบปกติได้ประมาณ 50% ของอาหารที่ให้หมูทั้งหมด และอีก 50% จะต้องเป็นรำ ข้าวโพด และหยวกกล้วยที่ได้จากการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ คือหมูอินทรีย์จะต้องได้อาหารอินทรีย์เข้าไปไม่ต่ำกว่า 50% ของอาหารที่มันกินทั้งหมด และเรื่องการพื้นที่การเลี้ยงนั้น หมู 1 ตัว ควรจะต้องมีพื้นที่ในคอกไม่ต่ำกว่า 13 ตารางเมตร ส่วนเรื่องการควบคุมการใช้ยาก็เหมือนกับวัว และห้ามตัดเขี้ยวและตัดหู รวมไปถึงต้องฆ่าอย่างการุณยฆาตเช่นกัน

นาถฤดี ให้ข้อมูลถึงสถานการณ์ล่าสุดของการผลิตเนื้อสัตว์อินทรีย์ของ 2 ชุมชนดังกล่าวว่า ขณะนี้สินค้ารุ่นแรกได้ออกมาแล้ว แต่เป็นสินค้าที่ถูกเรียกว่า “สินค้าในระยะปรับเปลี่ยน” ซึ่งถือว่า “ยังไม่นิ่ง” และยังไม่สามารถออกใบรับรองให้ได้ และจะออกใบรับรองในสินค้ารุ่นที่ 2 อันเป็นหลักปฏิบัติของการควบคุมคุณภาพสากล ซึ่งหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงและผิดพลาด สินค้ารุ่นที่ 2 ของวัวและหมูอนามัย ที่ได้สิทธิ์การติดตรา “ม.ก.ท.” อย่างเต็มภาคภูมิ จะออกสู่ท้องตลาดในช่วงปลายปีนี้ ให้ผู้รักสุขภาพได้เลือกซื้อเลือกชิมกัน

“ส่วนไข่ไก่และวัวนมนั้น เรากำลังอยู่ระหว่างการพัฒนามาตรฐาน และเมื่อเสร็จกระบวนการนี้ ก็จะเข้าสู่การผลิตรุ่นแรกให้เป็นผลิตภัณฑ์ระยะปรับเปลี่ยน เพื่อจะนำไปสู่การผลิตนมและไข่แบบเกษตรอินทรีย์เต็มขั้นที่ได้รับการรับรอง ซึ่งคาดว่า ผู้บริโภคน่ารับประทานจะนมและไข่ไก่อินทรีย์ในอีกประมาณ 1-2 ปีข้างหน้า โดยไข่ไก่ เราได้หารือกับอุดมชัยฟาร์มที่จังหวัดสระบุรี และวัวนมที่ฟาร์มแดรี่โฮมของสระบุรีเช่นกัน ซึ่งทั้ง 2 แห่งนี้ก็ผลิตนมและไข่แบบอินทรีย์ของตัวเองมานานแล้ว” นาถฤดี อธิบายพร้อมให้คำแนะนำว่า สำหรับผู้บริโภคที่สนใจจะเลือกซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานม.ก.ท. สามารถเข้าไปตรวจสอบรายชื่อผู้ผลิตและประเภทสินค้าได้ที่ http://www.actorganic-cert.or.th

ถึงตรงนี้ คุณแม่บ้านทั้งมือฉมัง และมือสมัครเล่นอาจจะขมวดคิ้วนิ่วหน้า พร้อมตั้งคำถามในใจว่า หากไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองล่ะ? มีวิธีเลือกสินค้าเกษตรที่มีอยู่แถวๆ บ้านอย่างไรให้ปลอดสารพิษและดีต่อสุขภาพที่สุด

ครูหน่อย หรือ “พอทิพย์ เพชรโปรี” เจ้าของร้าน Help Me ผู้จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ อดีตครุศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาฯ และอดีตผู้บริหาร ร.ร.วรรณสว่างจิต ระบุว่า ยังมีเกษตรกรรายย่อยอีกไม่น้อยที่ปลูกผักอินทรีย์แบบกิจการเล็กๆ ที่ไม่ได้ขอรับการรับรอง และมีบ้างที่ขอรับรองและอยู่ในระยะปรับเปลี่ยน ซึ่งผู้บริโภคสามารถสังเกตง่ายๆ คือผักอินทรีย์จะไม่สวยมากนัก และจะไม่ใหญ่มาก อย่างกะเพรา โหระพา ถ้าใบหนา ใบใหญ่ ก้านยาว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผักไม่อินทรีย์ เป็นผักที่ปลูกและบำรุงด้วยสารเคมี ถ้าเป็นกะเพราะ โหระพา ที่ปลูกแบบอินทรีย์ ต้นจะไม่ยาว ใบจะไม่ใหญ่ และใบเป็นฝอยๆ

ส่วนตะไคร้ให้ลองเอาเล็บจิก ถ้าแข็งแสดงว่าเป็นตะไคร้ไม่อินทรีย์ เพราะตะไคร้อินทรีย์เมื่อเอาเล็บจิกจะนิ่ม และสำหรับสะระแหน่ ไม่ควรเลือกที่ก้านอวบใหญ่และยาว ให้เลือกแบบก้านไม่ยาวและใบขนาดย่อมๆ ผักชีใบเลื่อย หากเพาะแบบอินทรีย์ ไม่กวนจะยาวเกินหนึ่งคืบ

แต่ที่ครูหน่อยบอกว่าค่อนข้างจะหายากสักหน่อย คือ กลุ่ม “ผักจีน” จำพวก คะน้า ปวยเล้ง ไชเท้า ที่ส่วนใหญ่จะปลูกด้วยสารเคมีเกือบทั้งหมด ผู้บริโภคก็ยากที่จะหลีกเลี่ยง ซึ่งหากจำเป็นต้องรับประทานก็ควรนำไปล้างด้วยน้ำผสมผงถ่าน น้ำเกลือ และน้ำล้างผักชีวภาพก่อน ซึ่งกระบวนการล้างดังกล่าวก็พอจะช่วยล้างสารเคมีออกไปได้บ้าง แต่ไม่ทั้งหมด

สุดท้าย ครูหน่อย ได้ทิ้งท้ายอย่างน่าคิดว่า ผู้บริโภคที่สามารถเลือกได้ในการบริโภคผักอินทรีย์ อยากให้บริโภคกันมากๆ เพื่อเป็นการสนับสนุนเกษตรกรวิถีอินทรีย์ ซึ่งนั่นหมายถึงสุขภาพที่ดีของผู้ปลูกและผู้บริโภค รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมบริเวณที่มีการเพาะปลูกด้วย ถ้าใช้สารเคมี ดิน น้ำ อากาศ ทุกอย่างต้องปนเปื้อน แล้วถ้าหากเราปล่อยให้มันถูกปนเปื้อนมากๆ เข้าสุดท้ายมันก็กลับสู่ผู้บริโภคอยู่ดี

กำลังโหลดความคิดเห็น