เอ่ยถึงสัตว์ทดลองทีไร ใครๆ ต้องนึกถึง "หนูทดลอง" เป็นอันดับแรก ตามมาด้วยกระต่าย สุนัข ลิง และอีกสารพัดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ถูกนำมาใช้ในงานทดลอง แต่ยังมี "สัตว์น้ำ" นานาชนิด ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา และอื่นๆ กำลังมาแรง และได้รับความนิยมจากนักวิจัยมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจเป็นทางเลือกใหม่
คณะกรรมการแห่งชาติเพื่อพัฒนางานเลี้ยงสัตว์และใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดงานการสัมมนาเบื้องต้น เพื่อจัดทำแผนกลยุทธ์ว่าด้วยการพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์น้ำเพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 ก.ย.51 ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค เพื่อประชุมและหาแนวทางร่วมกัน ในการพัฒนาการเลี้ยง และใช้สัตว์น้ำเพื่อการวิจัย และการทดลองทางวิทยาศาสตร์
ดร.ประดน จาติกวนิช ประธานคณะกรรมการแห่งชาติเพื่องานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า สัตว์น้ำหลายชนิด สามารถนำมาใช้เป็นสัตว์ทดลอง ในงานทางวิทยาศาสตร์ได้เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดต่างๆ ที่ใช้เป็นสัตว์ทดลองกันอยู่ทุกวันนี้
ทั้งนี้ สัตว์น้ำจัดว่าเป็นทางเลือกหนึ่ง ในการนำมาใช้ทดแทนสัตว์ทดลองเหล่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา ที่คนทั่วไปมักรู้สึกว่า การใช้สัตว์ทดลองเป็นการทรมานสัตว์ แต่หากเป็นสัตว์น้ำ ความรู้สึกแบบนั้นก็จะลดน้อยลงไป
"มีการใช้สัตว์น้ำในงานทางวิทยาศาสตร์นานแล้ว แต่ในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีการสนับสนุนเท่าที่ควร และยังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้มากนัก ขณะที่หลายประเทศก้าวหน้าไปมากแล้ว ดังนั้นเราจึงต้องกำหนดแนวทางการพัฒนา และให้ได้มาตรฐานสากล" ดร.ประดนกล่าว
"เกณฑ์หลักๆ ในการใช้สัตว์น้ำเพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ก็เหมือนกับการใช้สัตว์อื่นๆ เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ คือต้องใช้สัตว์จำนวนน้อยที่สุด ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ต้องเพาะเลี้ยงในสถานที่ที่สัตว์อยู่สุขสบาย และไม่เป็นการทรมานสัตว์ ซึ่งนักวิจัยจะต้องมีจรรยาบรรณ และต้องมีกฎหมายควบคุมด้วย" ดร.ประดนแจกแจง
ด้าน ดร.วรเทพ มุธุวรรณ ผอ.สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.บูรพา เปิดเผยว่า ทั่วโลกมีแนวโน้มนำสัตว์น้ำมาใช้ในงานทางวิทยาศาสตร์ แทนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกันมากขึ้น ที่ใช้กันมากที่สุดคือ ปลา โดยเฉพาะปลาม้าลาย และปลาเมดากา (medaka) ส่วนสัตว์ชนิดอื่นๆ ทั้งที่มีกระดูกสันหลังและไม่มีกระดูกสันหลัง ก็นำมาใช้ได้เหมือนกัน เช่น กุ้ง หอย หมึก ดาวทะเล หรือแม้แต่ไรน้ำ ก็สามารถใช้ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของงานทดลองที่เหมาะสมกับสัตว์แต่ละชนิด
"ข้อได้เปรียบในการนำสัตว์น้ำมาใช้ คือมีความหลากหลายทั้งชนิดและขนาด มีช่วงอายุสั้น ใช้พื้นที่น้อย การจัดการสะดวก ไม่ยุ่งยาก สามารถผลิตได้จำมาก ทำให้มีเพียงพอต่อการใช้งาน และสามารถทำให้เกิดสายพันธุ์ที่ต้องการได้ง่ายกว่า ที่สำคัญคือเรื่องของความรู้สึก เมื่อเป็นสัตว์น้ำ คนส่วนใหญ่ก็จะเกิดความรู้สึกน้อยกว่าว่าเป็นการทรมานสัตว์" ดร.วรเทพ เผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ดร.วรเทพ ได้ยกตัวอย่างปลาม้าลาย ที่ถูกนำมาใช้ในงานทางวิทยาศาสตร์มากที่สุด ซึ่งเริ่มขึ้นจากการศึกษาพัฒนาการของตัวอ่อนปลาม้าลาย เพราะไข่และตัวของปลาม้าลายโปร่งใส จึงสังเกตได้ง่ายกว่าสัตว์ชนิดอื่น
ต่อมาเมื่อมีองค์ความรู้มากขึ้น จึงพัฒนาปลาม้าลายมาใช้เป็นสัตว์ทดลอง โดยเฉพาะทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพราะพันธุกรรมที่มีขนาดเล็ก ไม่ซับซ้อน จึงควบคุมให้ได้ลักษณะพันธุกรรมตามที่นักวิจัยต้องการได้ไม่ยาก เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับศึกษาวิจัย
"เนื่องจากมีการศึกษาปลาม้าลายมานาน และมีข้อมูลทางวิชาการมากมาย ปัจจุบันปลาม้าลายจึงกลายเป็นต้นแบบ ในการศึกษาวิจัยทางด้านการแพทย์ ซึ่งสถาบันหลายแห่งทั่วโลก ก็ใช้ปลาม้าลายเป็นโมเดลศึกษา เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกต่างๆ ของร่างกาย เช่น การเกิดโรคมะเร็ง เบาหวาน การมองเห็น และการไหลเวียนของเลือดเพื่อศึกษาโรคเลือดไหลไม่หยุด (hemophilia) เป็นต้น" ดร.วรเทพ แจกแจง
"หรือกรณีที่ทำให้ปลาม้าลายมียีนเรืองแสง และเรืองแสงได้เมื่อถูกสารพิษ เพื่อใช้ในการทดสอบพิษวิทยา ซึ่งต่อมาก็พัฒนาให้ปลาม้าลายสามารถคัดลอกและเพิ่มจำนวนยีนเหล่านี้ให้มีมากขึ้นได้เอง จนเกิดแนวคิดการสร้างวัคซีนจากปลาม้าลาย โดยใช้หลักการเดียวกัน คือให้ปลาม้าลายเพิ่มจำนวนยีนและสร้างโปรตีนชนิดที่ต้องการใช้เป็นวัคซีนได้เอง ซึ่งขณะนี้ในประเทศสิงคโปร์ก็กำลังวิจัยการสร้างวัคซีนป้องกันตับอักเสบจากปลาม้าลาย" ดร.วรเทพ เผย
นอกจากนี้ก็ยังมีการศึกษาและพัฒนาการเพาะเลี้ยงเซลล์ไลน์ของสัตว์น้ำ เพื่อนำมาใช้ในงานทดลองแทนการทดสอบในสัตว์โดยตรง ซึ่งจะช่วยลดจำนวนการใช้สัตว์ทดลองลงได้ในอนาคต
ดร.วรเทพ ยังบอกอีกว่า การใช้สัตว์น้ำเพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เจาะจงอยู่แค่เฉพาะงานวิจัยทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น แต่รวมถึงการวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำ การทดสอบสารพิษ การศึกษาด้านโภชนาการ และการทดสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีการใช้สัตว์น้ำเพื่อศึกษาวิจัยในเรื่องเหล่านี้กันอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้รวบรวมเพื่อทำความเข้าใจและสร้างข้อกำหนดร่วมกัน อีกทั้งส่วนหนึ่งนักวิจัยไทย ก็ยังไม่คุ้นเคยกับการใช้สัตว์น้ำในงานทางวิทยาศาสตร์ ขณะที่ในต่างประเทศใช้กันนานมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ดร.วรเทพ บอกว่า ความพร้อมของประเทศไทยขณะนี้ ก็สามารถพัฒนาการเลี้ยงและใช้สัตว์น้ำเพื่องานทดลองทางวิทยาศาสตร์ได้ไม่ยาก ขึ้นอยู่กับนโยบายและความร่วมมือกัน และหากจะเริ่มพัฒนา ก็ควรเริ่มต้นที่ปลาม้าลาย เพราะมีการรวบรวมข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับปลาม้าลายไว้มากมายแล้ว
จากนั้นจึงค่อยๆ พัฒนาสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้นมา และอาจพัฒนาให้ได้เป็นโมเดลเช่นเดียวกับปลาม้าลายก็ได้ ไม่แน่ว่าในอนาคตประเทศไทยอาจเป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำสายพันธุ์ใหม่ๆ สำหรับงานทดลองส่งออกไปยังต่างประเทศได้ และยังช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศด้วย
นอกจากนี้ ดร.ประดน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากประโยชน์ที่ได้ในงานวิจัย จากการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่องานทดลองทางวิทยาศาสตร์แล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาเป็นอันดับแรกคือการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ เพราะสัตว์น้ำในประเทศไทยหลายชนิด ลดจำนวนลงจนแทบไม่เหลือแล้วในปัจจุบัน เช่น ปลาหัวตะกั่ว ปลากริม หากเราเพาะพันธุ์ให้เพิ่มมากขึ้น และนำมาศึกษา ก็อาจพบว่าสัตว์เหล่านี้อาจมีประโยชน์อย่างมากในงานทางวิทยาศาสตร์ก็เป็นได้.