xs
xsm
sm
md
lg

แจกซาชวนเยาวชนไทยส่งโครงงาน ร่วมทดลองบนเที่ยวบินไร้น้ำหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช (กลาง) เป็นประธานแถลงข่าวการรับสมัครโครงการทดลองวิทยาศาสตร์ในสภาวะไร้น้ำหนัก เพื่อคัดเลือกไปทำการทดลองที่ประเทศญี่ปุ่น โดยสวทช. ร่วมกับ แจกซา
แจกซา-สวทช. เริ่มเปิดรับสมัครโครงงานวิทย์ของเยาวชนไทยแล้ว เพื่อคัดเลือกให้ไปร่วมทำการทดลองในสภาวะไร้น้ำหนักที่ญี่ปุ่น ธ.ค. นี้ ด้าน ดร.สวัสดิ์ หัวหน้าโครงการให้คำแนะนำน้องๆ ว่า ต้องเป็นเรื่องใหม่ แต่ไม่จำเป็นต้องเรื่องใหญ่ และไม่ควรเป็นการทดลองที่ทรมานสัตว์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ องค์กรอวกาศญี่ปุ่น หรือแจกซา (JAXA) เป็นปีที่ 4 ในการเปิดรับสมัครโครงงานวิจัยของเยาวชนไทยเพื่อคัดเลือกให้เข้าร่วมทำการทดในสภาวะไร้น้ำหนักบนเครื่องบินแบบพาราโบลา ที่ประเทศญี่ปุ่น ในโครงการ "ไทยแลนด์ ซีโร-กราวิตี เอ็กซ์เพอริเมนต์" (Thailand Zero-Gravity Experiment) ซึ่งได้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 14 พ.ค.52 ที่ผ่านมา และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี หัวหน้าโครงการ การกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนไทย นักวิจัย และประชาชนโดยผ่านความร่วมมือกับองค์กรอวกาศญี่ปุ่น สวทช. เปิดเผยว่า โครงการ Thailand Zero-Gravity Experiment เป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. และ แจกซา ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นให้นักวิจัย นักเรียน และนักศึกษา ตระหนักถึงว่าสำคัญของการพัฒนางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอวกาศของไทย โดยประกอบด้วย 2 โครงการย่อย ดังนี้

1. โครงการ รีเสิร์ช พรอพอซอล ฟอร์ คิโบ (Research Proposal for Kibo) ที่เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยทั่วไป ส่งงานวิจัยขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติในส่วนห้องทดลองคิโบของญี่ปุ่น ซึ่งเปิดรับสมัครข้อเสนอโครงการของอาจารย์ นักวิจัย และผู้สนใจทั่วไป ตลอดทั้งปี และมีการพิจารณาคัดเลือกในเดือน มิ.ย. ของทุกปี

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีโครงการที่ส่งเข้ามาและได้รับคัดเลือกแล้วคือ โครงการศึกษาสภาวะแวดล้อมในสภาพอวกาศจำลองต่อการเจริญและพัฒนาของพันธุ์ข้าวไทยภายใต้การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ของ ดร.สุริยันตร์ ฉะอุ่ม และทีมวิจัย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาในสภาวะปกติบนพื้นโลก ก่อนนำขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศต่อไป

2. โครงการ เดอะ สทิวเดนท์ ซีโร-กราวิตี ไฟลต์ เอ็กซ์เพอริเมนต์ คอนเทสต์ (The Student Zero-Gravity Flight Experiment Contest) เปิดโอกาสให้นักเรียนและนักศึกษาร่วมส่งข้อเสนอโครงการทดลองในสภาวะไร้น้ำหนัก โครงการที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนของประเทศไทย จะส่งไปให้แจกซาพิจารณาคัดเลือกพร้อมกับโครงการจากประเทศในเครือข่ายเอพีอาร์แซฟ (APRSAF) ให้เหลือเพียง 1 โครงการ เพื่อขึ้นไปทำการทดลองบนเครื่องบินที่บินแบบพาราโบลาที่ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับอีก 9 โครงการของเยาวชนญี่ปุ่น ซึ่งการบินลักษณะดังกล่าวจะทำให้เกิดสภาวะไร้น้ำหนักประมาณ 20 วินาทีต่อครั้ง

ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาของโครงการนี้ มีข้อเสนอโครงการทดลองของเยาวชนไทยได้รับคัดเลือกให้ร่วมทำการทดลองในสภาวะไร้น้ำหนักมาโดยตลอด ทว่าในครั้งที่ 3 โครงการที่ได้รับคัดเลือกไม่สามารถทำให้เสร็จตามกำหนดเวลาได้ จึงพลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย

อย่างไรก็ดี ดร.สวัสดิ์ มีคำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้เยาวชนไทยพลาดโอกาสอย่างน่าเสียดายเหมือนปีที่ผ่านมาว่า ควรเป็นโครงการทดลองที่เล็กๆ ไม่ต้องยิ่งใหญ่มาก แต่ต้องเป็นเรื่องใหม่ และมีความเป็นไปได้ที่จะนำขึ้นไปทดลองบนเครื่องบินพาราโบลา โดยมองเห็นว่าน่าจะให้ผลการทดลองที่แตกต่างกันระหว่างการทดลองบนโลกและในสภาวะไร้น้ำหนัก เช่น การทดลองการแตกตัวของเม็ดยา ซึ่งเป็นผลงานของเยาวชนไทยที่ได้เข้าร่วมกับแจกซาในครั้งแรก และไม่ควรเป็นการทดลองที่เกี่ยวกับสัตว์หรือเป็นการทรมานสัตว์ โดยขณะนี้คู่แข่งสำคัญของไทยคือประเทศเกาหลีและมาเลเซีย

นักเรียนนักศึกษาที่สนใจสามารถส่งข้อเสนอโครงการวิจัยได้ภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2552 ผลงานที่ได้รับคัดเลือกจากแจกซา จะไปทดลองในสภาวะไร้น้ำหนักที่ประเทศญี่ปุ่นในเดือน ธ.ค. นี้ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวทช. โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1403 หรือ www.nstda.or.th/jaxa-thailand
ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี
กำลังโหลดความคิดเห็น