xs
xsm
sm
md
lg

ศิริราชใจดี! ต่อหมันฟรีผู้ประสบเหตุสึนามิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บริการต่อหมันฟรีแก่ผู้ประสบภัยสึนามิ แก้ไขปัญหาชาวบ้านที่ทำหมันถาวร แต่สูญเสียลูกจากเหตุการณ์สึนามิกลับมาตั้งครรภ์ และมีลูกได้อีกครั้ง โดยที่ชาวบ้านน้ำเค็ม จ.พังงา เป็นผู้นำร่อง จากนั้นจะขยายบริการให้ครอบคลุมทุกจังหวัดพื้นที่ที่ประสบภัย

วันนี้ (24 ม.ค.) ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงที่มาของการต่อหมันฟรีให้แก่ผู้ประสบภัยสึนามิ ว่า เนื่องจากชาวบ้านหลายคนที่ทำหมันถาวรสูญเสียบุตรจากภัยสึนามิต้องการมีบุตร แต่ขาดแคลนเงินทอง เป็นเรื่องที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่มีการทำงานที่เกี่ยวโยงกับสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่งเราคำนึงถึงและให้การช่วยเหลือเสมอมา จึงทำโครงการศิริราชต่อหมันสืบทายาทแก่ผู้ประสบภัยสึนามิ เพื่อจะให้การรักษาต่อหมันฟรีให้แก่ผู้ประสบภัย โดยมีชาวบ้านจากบ้านน้ำเค็ม จ.พังงา เป็นผู้นำร่องจากนั้นจึงจะขยายการบริการให้ครอบคลุมอีก 5 จังหวัดที่ได้รับพิบัติภัยสึนามิเช่นกัน อันได้แก่ จ.กระบี่ จ.ระนอง จ.ตรัง จ.ภูเก็ต และ จ.สตูล

“ก่อนหน้าที่จะมีการต่อหมันนั้นผู้หญิงที่เคยผ่านการทำหมันมาแล้ว ในทางการแพทย์ถือว่าการทำหมันเป็นการคุมกำเนิดที่ได้รับความนิยมที่สุด โดยใช้วิธีการคีบท่อมดลูกหรือท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างมาผูกแล้วตัด ซึ่งร้อยละ 23 ของผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 15-44 ปี มักคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ และพบว่าร้อยละ 5-10 ของผู้หญิงที่ทำหมัน มักเสียใจ และไม่พอใจที่ทำหมันถาวรและอยากแก้หมันในภายหลัง และการแก้หมันในปัจจุบันนี้ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร ทำได้โดยใช้เทคนิคการต่อหมันด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งเกิดแผลเพียงนิดเดียว ใช้ระยะพักฟื้นเพียงแค่ 3 - 4 วัน แต่ในบางรายต้องใช้วิธีการผ่าตัดโดยเปิดหน้าท้อง ซึ่งวิธีนี้จะใช้ระยะเวลาพักฟื้นประมาณ 1 เดือน โดยเมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วนั้นจะใช้งานได้โดยทันที” นพ.ธีรวัฒน์ กล่าว
น.ส.ลำใย วงศ์เชียงยืน ผู้ประสบภัยสึนามิจากบ้านน้ำเค็ม จ.พังงา ที่สูญเสียลูกสาว 2 คน
ในส่วนของรศ.นพ.เรืองศิลป์ เชาวรัตน์ หัวหน้าหน่วยผู้มีบุตรยาก ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา กล่าวด้วยว่า ก่อนที่จะเริ่มการต่อหมันนั้นจะต้องมีการตรวจร่างกายทั้งสามีและภรรยา เพื่อดูความพร้อมของร่างกายว่าสมบูรณ์แข็งแรงเพียงใด โดยเฉพาะในฝ่ายหญิงจะต้องใช้การส่องกล้องทางช่องท้อง ใช้วิธีการเจาะเพียง 2 รู เข้าไปดูสภาพของท่อนำไข่ จากนั้นก็จะทำการต่อหมันทันทีหรืออาจจะนัดหมายมา เพื่อทำการต่อหมันในภายหลัง โดยวิธีการนั้นจะมีการวางยาสลบ หรือใช้ยาชาฉีดเข้าไขสันหลังก่อนการต่อหมัน และเนื่องจากท่อนำไขนั้นมีขนาดเล็กมาก จึงใช้วิธีการต่อหมันด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดยการตัดต่อท่อนำไขทีละข้าง แล้วเย็บต่อท่อเข้าหากัน จากนั้นทำการฉีดสีเข้าไปที่มดลูก เพื่อตรวจสอบว่า สีสามารถเดินทางไปยังท่อนำไข่ที่ต่อแล้วได้ดีเพียงใด จึงต่ออีกข้างและทำการทดสอบเช่นกัน จากนั้นก็จะเย็บปิดแผลเป็นขั้นตอนสุดท้าย การต่อหมันด้วยวิธีนี้พบว่าเป็นวิธีที่ให้ความแม่นยำสูง และอัตราการตั้งครรภ์ก็สูงกว่าวิธีอื่นด้วย ซึ่งวิธีการนี้มีค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000-50,000 บาทต่อราย

รศ.นพ.ชาญชัย วันทนาศิริ หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา เปิดเผยว่า โดยธรรมชาติต้องยอมรับว่า สิ่งที่ตัดไปแล้วทำให้กลับคืนมาอีกครั้งนั้นต้องยอมรับว่าอาจจะไม่เหมือนเดิม เพราะโอกาสตั้งครรภ์ของฝ่ายหญิงที่ต่อหมันมีตั้งแต่ร้อยละ 15-90 แต่สำหรับโรงพยาบาลศิริราชนั้น กลับพบว่าโดยเฉลี่ยผู้ที่ได้รับการต่อหมันจะมีโอกาสตั้งครรภ์สูงถึงร้อยละ 70 แต่ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างเช่น 1.อายุของฝ่ายหญิงที่ต่อหมันหากเกิน 40 ปี จะมีโอกาสตั้งครรภ์น้อย 2.หากรังไข่ไม่ทำงาน มดลูกผิดปกติ ฯลฯ ต่อหมันไปโอกาสตั้งครรภ์ก็จะน้อยตามไป 3.หากฝ่ายชายมีน้ำเชื้ออ่อน โอกาสตั้งครรภ์จะน้อยเช่นกัน 4.ระยะเวลาการแก้หมัน หากทำหมันนานเท่าไร การตั้งครรภ์ก็จะน้อยลง เช่น แก้หมันหลังทำหมันมา 5 ปี โอกาสตั้งครรภ์ร้อยละ 74 แต่หากนานกว่านี้เป็น 6-10 ปี โอกาสตั้งครรภ์จะมีเพียงร้อยละ 63 เป็นต้น

ด้าน น.ส.ลำใย วงศ์เชียงยืน อายุ 37 ปี ชาวบ้านผู้ประสบภัยสึนามิ จากบ้านน้ำเค็ม จ.พังงา กล่าวว่า ปัญหาของเรา คือ การจากไปของคนที่รัก โดยเฉพาะบุตร ส่วนตัวแล้วมีบุตร 3 คน ผู้ชายเป็นคนโต ส่วนผู้หญิงทั้ง 2 คนนั้นเสียชีวิตทั้งหมด จึงอยากที่จะมีบุตรเพิ่มแต่เนื่องจากทำหมันถาวรไปแล้วตั้งแต่ปี 2547 จึงทำให้ไม่สามารถมีบุตรได้ หลังจากทราบข่าวว่ามีโครงการนี้ทำให้รู้สึกดีใจมากเพราะเราจะได้มีโอกาสมีบุตรอีกครั้ง

“คนที่เสียลูกไปจะมีความรู้สึกเดียวกัน คือ คิดถึงลูก เมื่อคิดถึงครั้งใดก็จะเกิดความท้อแท้แทบทุกคน ในส่วนตัวแล้วเมื่อเห็นเด็กๆ ทารกหรือลูกของคนอื่นๆ แล้วรู้สึกหดหู่ใจ น้ำตาไหลแทบทุกครั้ง นี่เองเป็นเหตุการณ์ที่เราไม่สามารถลืมได้เลย แต่เมื่อทางโรงพยาบาลศิริราชยื่นมือเข้ามาช่วย อีกทั้งยังได้รับการรักษาฟรี เพราะหากต้องเสียค่าใช้จ่ายเราก็ไม่มีเงินมากพอที่จะต่อหมันได้ โครงการนี้จึงช่วยเราได้มากเพียงแค่เราทำใจให้มีความเข้มแข็ง เราก็จะได้สิ่งที่เราต้องการกลับคืนมา” นางลำใย กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น