เอเอฟพี - กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียยืนยันการเสียชีวิตของเหยื่อไวรัสไข้หวัดนกคนที่ 100 เมื่อวันจันทร์ (28) ถือเป็นสัญลักษณ์ที่ชี้ให้เห็นว่า ณ ตอนนี้ การระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์มรณะในอินโดนีเซีย อยู่ในระดับที่เกินกว่าจะควบคุมได้แล้ว
กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียยืนยันว่า วิร์ดา ซาริ วัย 23 ปี จากพื้นที่ทางตะวันออกของกรุงจาการ์ตา เสียชีวิตเมื่อช่วงเช้าวันอาทิตย์ (27) จากอาการไข้หวัดนก การเสียชีวิตของซาริทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกในอินโดนีเซีย พุ่งขึ้นเป็น 100 ราย แล้ว ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว อยู่ที่ 124 คน
ตัวเลขจากองค์การอนามัยโลก (ฮู) ระบุว่า กรณีการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกทั่วโลก นับตั้งแต่ปี 2005 นั้น กว่าครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นในอินโดนีเซีย นอกจากนี้ เหยื่อไข้หวัดนกในอินโดนีเซียมีจำนวนมากกว่าเหยื่อไข้หวัดนกในเวียดนาม มากกว่าสองเท่า
งูราห์ มาฮาร์ดิกา ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส แห่งมหาวิทยาลัยอูดายานา บนเกาะบาหลี กล่าวว่า ณ ตอนนี้ เชื้อไวรัสไข้หวัดนกในอินโดนีเซียควบคุมไม่ได้แล้ว
"เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ตอนนี้ ไม่สามารถควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสในสัตว์ได้" มาฮาร์ดิกา กล่าว
เชื้อไวรัสเอช 5 เอ็น 1 โดยมากจะแพร่กระจายสู่มนุษย์ผ่านทางการสัมผัสสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ อย่างก็ดี นักวิทยาศาสตร์หวั่นเกรงว่าเชื้อไวรัสมรณะดังกล่าวอาจกลายพันธุ์เป็นชนิดที่แพร่ติดต่อระหว่างมนุษย์ด้วยกันได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนหลายล้านคน
ในอินโดนีเซียนั้น เชื้อไข้หวัดนกแพร่กระจายในวงกว้างมากอย่างยิ่งในพื้นที่รอบๆกรุงจาการ์ตา โดยเมืองตังเงรัง ในจังหวัดบันเตน ใกล้ๆ กับจาการ์ตา เป็นบริเวณที่เจ้าหน้าที่วิตกกังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากมีประชากรจำนวนมากใช้ชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ปีก
มาฮาร์ดิกา กล่าวว่า หน่วยงานรัฐบาลไม่ค่อยร่วมมือประสานงานกัน เท่ากับว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้แบ่งปันตัวอย่างเชื้อให้ฝ่ายอื่นได้วิจัย สิ่งนี้ยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะเกิดความผิดพลาดไม่สามารถตรวจพบไวรัสสายพันธุ์ที่ปรับตัวให้แพร่ติดต่อในหมู่มนุษย์ได้ง่ายขึ้น
ขณะที่เจมส์ ฟอกซ์ ผู้เชี่ยวชาญอินโดนีเซีย แห่งออสเตรเลียน แนชั่นนัล ยูนิเวอร์ซิตี้ กล่าวว่า การถ่ายโอนอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตก้าวลงจากตำแหน่ง ก็เป็นอุปสรรคที่ขัดขวางความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ
"คุณมีพื้นที่ที่พยายามจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนก แต่ก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าพื้นที่ใกล้เคียงจะทำเช่นนั้นด้วย ผลก็คือ เชื้อหวัดนกจึงกลับมาสู่อินโดนีเซียอยู่เสมอ" ฟอกซ์กล่าว
ฟอกซ์ยังกล่าวว่า ความพลั้งเผลออันใหญ่หลวงที่สุดของอินโดนีเซียก็คือ การที่ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่เริ่มกำจัดทำลายสัตว์ปีก ในช่วงที่เชื้อไวรัสเริ่มแพร่กระจายเป็นครั้งแรก เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว
ส่วนมุชตาร์ อิฮ์ซัน หัวหน้าคณะแพทย์ที่รักษาโรคไข้หวัดนก แห่งโรงพยาบาลเปอร์ซาฮาบาตัน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจาการ์ตาที่รับผู้ป่วยไข้หวัดนกจากต่างจังหวัดซึ่งถูกส่งตัวมารักษาในเมืองหลวง กล่าวว่า วิถีปฏิบัติของครอบครัวอินโดนีเซียที่มักจะใช้ชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ปีกนั้น คงอยู่มานานหลายร้อยปีแล้ว และเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ผู้คนเชื่อว่าวิถีปฏิบัติดังกล่าวอันตรายต่อสุขภาพ