xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญออสซีเตือนระบบนิเวศเปลี่ยนน่ากลัวไม่แพ้ "โลกร้อน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระบบนิเวศที่สมบูรณ์นำมาซึ่งการดำรงชีวิตที่ดีของมนุษย์ และแม้ว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่น่ากลัว อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญก็ชี้ด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศก็น่ากลัวไม่น้อยกว่ากัน (ภาพจาก www.trf.or.th)
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมออสเตรเลียเตือนปัญหาระบบนิเวศเปลี่ยน น่ากลัวไม่แพ้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เผยสถิติไม่กี่ปีที่ผ่านมาระบบนิเวศทั่วโลกถูกทำลายลงอย่างน่าตกใจ เชื่อไทยโดนผลกระทบมากเพราะมีทั้งส่วนที่เป็นแผ่นดินและทะเล แนะต้องเก็บข้อมูลต่อเนื่องนับสิบๆ ปีเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหา

"ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศหรือสภาพภูมิอากาศ อย่างไหนที่เราควรกังวลมากกว่ากัน?" หลายคนอาจมีคำถามนี้อยู่ในใจ แต่ยังหาคำตอบไม่ได้ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญทั้งคู่จนยากจะฟันธงได้

อย่างไรก็ดี การบรรยายพิเศษของ ศ.โจ เบเกอร์ (Joe Baker) ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เมื่อวันที่ 14 ม.ค.51 โดยมีอาจารย์จากโรงเรียนต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงข้าราชการจากหน่วยงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมรับฟังราว 50 คน

ก่อนการบรรยาย ศ.เบเกอร์ วัย 76 ปี ได้ทักทายกับผู้ร่วมฟังอย่างเป็นกันเอง พร้อมหยอดมุกสร้างบรรยากาศความสนุกสนานเล็กน้อยว่า ต้องขออภัยที่มือขวาของเขาจะมีอาการสั่นตลอดเวลาเพราะเขาเป็นโรคพาร์กินสัน แต่ในเวลาเดียวกันมันก็อาจจะสั่นมากขึ้นเพราะความตื่นเต้นที่ได้มีโอกาสมาบรรยายครั้งนี้ก็เป็นได้

เมื่อเริ่มการบรรยาย ศ.เบเกอร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษาพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ จากทบวงการอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานและการประมง มลรัฐควีนส์แลนด์ แนะนำตัวเองว่า เขาเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์กว่า 2,000 คนจากทั่วโลกที่ร่วมกันในกลุ่ม "เอ็มเอ" (The Millennium Ecosystem Assessment: MA) ที่มุ่งศึกษาความเชื่อมโยงกันของระบบนิเวศและการดำรงชีวิตที่ดีของมนุษย์

เขามองว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องศึกษาและเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องนับสิบๆ ปี เพราะความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งหมดอยู่ภายใต้เงื่อนไขของสภาพแวดล้อมรอบตัว


ส่วนประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่หลายคนให้ความสนใจนั้น ศ.เบเกอร์ มองว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติเลย แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นวัฏจักรตามธรรมชาติอยู่แล้ว โดยการคาดการณ์ต่างๆ ของนักวิทยาศาสตร์เองก็เกิดมาจากการเก็บข้อมูลเชิงสถิติเพื่อสร้างแบบจำลองสถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องแม่นยำได้ 100%

ขณะที่การศึกษาของกลุ่มเอ็มเอที่เขาทำงานอยู่นั้น พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่น่าเป็นห่วงในระบบนิเวศทั่วโลกที่น่าตื่นตกใจมากกว่า

ตัวอย่างเช่น ระบบนิเวศทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วง 50 ปีหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงมากกว่าช่วงใดๆ ในอดีตที่ผ่านมา โดยพื้นที่ราบทั่วโลกกว่า 1 ใน 3 ถูกเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกแล้ว และน้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติก็ถูกดึงมากักเก็บไว้ในเขื่อนต่างๆ มากมาย ในจำนวนนั้นกว่า 70% ถูกผันเพื่อสนองความต้องการในการเพาะปลูก

ขณะเดียวกันการเกษตรยังมีการใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัสและไนโตรเจนจำนวนมาก จนเลยขีดขั้นของความพอดีไปสู่การใช้มากเกินจำเป็น

"ผลกระทบชัดๆ ที่เอ็มเอพบคือ 60% ของระบบนิเวศส่วนใหญ่เสื่อมโทรมหรือถูกใช้งานอย่างไม่ยั่งยืน ส่งผลถึงปริมาณน้ำสะอาด การจับปลา อากาศและน้ำบริสุทธิ์ รวมไปถึงการเกิดภัยธรรมชาติ โดยการเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น เช่น การเกิดโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน คุณภาพน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงของโซนภูมิอากาศที่เริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้น"

"ทั้งหมดนี้จะเกิดผลกระทบต่อคนยากจนมากกว่าคนร่ำรวย เพราะคนร่ำรวยจะสามารถหาสิ่งอื่นมาทดแทนได้มากกว่าคนยากจนที่มักจะอยู่ในที่ที่ได้รับผลกระทบง่ายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว" ศ.เบเกอร์ กล่าว

ศ.เบเกอร์ ตั้งคำถามด้วยว่า จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าต่อไปเราจะมีการวิจัยพัฒนาไปในทิศทางใด โดยใคร และเพื่อใคร ซึ่งเราจะนำเทคโนโลยีต่างๆ เช่น พันธุวิศวกรรม นาโนเทคโนโลยี หรือแม้แต่ระบบการควบคุมทางไกล มาแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้าง

ส่วนผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับนั้น ศ.เบเกอร์ เชื่อว่า จะมีมากอย่างแน่นอน เพราะประเทศไทยมีพื้นที่จำนวนมากติดชายฝั่งทะเลและส่วนที่เป็นผืนแผ่นดิน แต่ผลกระทบจะเป็นไปในรูปใดนั้น เป็นเรื่องที่ไม่อาจลงรายละเอียดได้ แต่ควรที่นักวิจัยในพื้นที่จะศึกษาและเก็บข้อมูล ซึ่งจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง

ภายหลังการบรรยาย ดร.อภิญาณ์ หทัยธรรม ผอ.พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. แสดงความคิดเห็นว่า ใจความสำคัญของการบรรยายของ ศ.เบเกอร์ ไม่ได้มุ่งจะชี้ไปว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศอย่างไหนจะมีความร้ายแรงกว่ากัน

แต่การบรรยายนี้มีจุดประสงค์เพื่อเตือนให้เราตระหนักด้วยว่า ไม่เพียงแต่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเท่านั้นที่เราควรใส่ใจ แต่เราควรจะใส่ใจการเปลี่ยนแปลงครอบคลุมทั้งระบบนิเวศ ซึ่งหากระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงแล้ว สภาพภูมิอากาศก็ย่อมจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย

ด้าน น.ส.นวลละออ วงศ์พินิจวโรดม นักวิชาการจากกรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งรู้สึกชื่นชอบการบรรยายพิเศษครั้งนี้ของ ศ.เบเกอร์ มาก กล่าวว่า เรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยมาก แม้การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่างเป็นเรื่องสำคัญทั้งคู่ แต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศดูจะเป็นเรื่องที่น่ากลัวกว่าเพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานมากแล้วแต่ไม่มีใครเห็น

อ.ประไพ ฉิมหิรัญ อาจารย์สอนภาษาไทย ซึ่งออกตัวว่าสนใจวิทยาศาสตร์ จาก ร.ร.ปัญญาวิทยา กรุงเทพฯ บอกว่า จะนำความรู้ที่ได้จากการบรรยายไปเล่าต่อให้แก่นักเรียนได้ฟัง โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศที่มีความใกล้ตัว และกำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าอันตราย โดยเชื่อว่าเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยากกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเสียอีก

ส่วน อ.ศิธัญญา บุญเสริม ครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ชั้น ป.4 ร.ร.วัดด่านสำโรง จ.สมุทรปราการ แสดงความคิดเห็นด้วยว่า การฟังบรรยายครั้งนี้เป็นการร่วมฟังบรรยายจากนักวิชาการระดับสูงที่จะมีโอกาสเข้ารับฟังน้อย
 
อย่างไรก็ตาม เนื้อหายังค่อนข้างยากที่จะนำไปถ่ายทอดสู่นักเรียนที่โรงเรียนได้ คงต้องสื่อสารกันในหมู่เพื่อนครูก่อน จากนั้นจึงหาทางสื่อสารให้แก่นักเรียนได้ฟังด้วยเนื้อหาที่ง่ายขึ้น และจะแนะนำให้นักเรียนรักษาสภาพแวดล้อมเพื่อรักษาระบบนิเวศ พร้อมๆ ไปกับการประหยัดน้ำและไฟฟ้าเพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อนด้วย 
ศ.เบเกอร์ วัย 76 ปี หัวหน้าคณะที่ปรึกษาพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ จากทบวงการอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานและการประมง มลรัฐควีนส์แลนด์


ดร.อภิญาณ์ หทัยธรรม ผอ.พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ



กำลังโหลดความคิดเห็น