xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวแผนฉีดวัคซีน HPV 1 ล้านโดส สาวไทย 11-20 ปี ใน 100 วัน พ่วงแผนวัคซีนโควิดปี 67

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คกก.โรคติดต่อฯ เห็นชอบแผนเร่งรัดฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก สาวไทย 11-20 ปี ทั้งใน-นอกระบบศึกษา กลุ่มแรงงาน 1 ล้านโดส รับ Quick Win 100 วัน เตรียมคิกออฟใน ต.ค.นี้เขตละ 1 จังหวัด ก่อนเริ่มฉีดจริง พ.ย. เน้นลงทะเบียนทั้งเข็มแรกเข็มสอง กลุ่มตกหล่น อายุ 18-20 ปีที่ยังไม่เคยฉีด พร้อมไฟเขียวแผนวัคซีนโควิดปี 67 ปรับสัญญาวัคซีนแอสตร้าฯ 19 ล้านโดส เป็น LAAB 3.6 หมื่นโดส

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงภายหลังประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2566 ซึ่งเป็นครั้งแรกหลังจขากรับตำแหน่ง ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ 2 เรื่อง คือ 1.เร่งรัดการฉีดวัคซีนเอชพีวี ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ในกลุ่มเป้าหมายผู้หญิงอายุ 11 - 20 ปี ทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบ รวมถึงกลุ่มแรงงาน ตาม Quick Win ของนโยบายมะเร็งครบวงจร ที่กำหนดเป้าหมายการฉีด 1 ล้านโดส ในระยะ 100 วัน เนื่องจากโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบในผู้หญิงไทยสูงเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 6,500 รายต่อปี และมีผู้เสียชีวิต 2,000 รายต่อปี สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV หรือ Human Papilloma Virus ผ่านการสัมผัสโดยตรง หรือการมีเพศสัมพันธ์ สายพันธุ์ที่พบบ่อย คือ สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ที่เป็นต้นเหตุของมะเร็งปากมดลูกมากถึง 70% ซึ่งวัคซีน HPV สามารถป้องกันได้ดี โดยเฉพาะหากฉีดตั้งแต่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์จะมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 90% ส่งผลให้ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกใน 10-20 ปีข้างหน้าได้

"ประเทศไทยจึงฉีดวัคซีน HPV ให้กับเด็กหญิงชั้น ป.5 หรืออายุ 11 ปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 ปัจจุบันจะอยู่ชั้น ม.5 หรืออายุ 17 ปี อย่างไรก็ตาม การฉีดในช่วงอายุหลังจากนั้นก็ยังสามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ ดังนั้น การขยายกลุ่มเป้าหมายไปถึงอายุ 20 ปี จึงเหลือเพียงกลุ่มอายุ 18-20 ปี หรือช่วง ม.6 ถึงอุดมศึกษาปีที่ 2 รวมถึงจะเร่งฉีดเก็บตกในกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบด้วย" นพ.ชลน่านกล่าว


นพ.ชลน่านกล่าวว่า สำหรับแผนการฉีดวัคซีน HPV ในระยะ 100 วันแรก หลังจากสื่อสารนโยบายไปถึงผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศในวันที่ 22 ก.ย.นี้ ช่วง ต.ค. จะจัดทำแนวทางการให้บริการ สำรวจจำนวนกลุ่มเป้าหมายเพื่อจัดเตรียมวัคซีน พัฒนาระบบฐานข้อมูล MOPH IC ประสานและลงนามความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงแรงงาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ กทม. เพื่อเตรียมความพร้อม จัดแคมเปญรณรงค์คิกออฟ จัดบริการฉีดนำร่องเขตละ 1 จังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศ จากนั้นช่วง พ.ย. - ธ.ค. 2566 จะเร่งรัดให้บริการฉีดวัคซีนโดย รพ.รัฐ รพ.เอกชนคู่สัญญา และหน่วยบริการที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ กทม.กำหนด แบ่งการฉีดเป็น 2 รูปแบบ คือ กลุ่มนักเรียนฉีดที่สถานศึกษาหลังเปิดเทอม ส่วนกลุ่มที่อยู่นอกระบบการศึกษา รวมถึงอายุ 18-20 ปี จะฉีดที่หน่วยบริการใกล้บ้าน

"การฉีดต้องฉีด 2 เข็มระยะห่าง 6-12 เดือน ซึ่งเป้าหมายขณะนี้ยังมีผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดเข็มแรกอยู่พอสมควร โดยจะจัดให้มีการลงทะเบียนแจ้งความประสงค์รับบริการ ทั้งเข็มแรกและเข็มสองจนครบ 1 ล้านโดส ที่เหลือมีแผนดำเนินการปี 2567 รูปแบบบริการจะให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด เช่นการฉีดในสถานศึกษาและรถโมบาย" นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่านกล่าวว่า และ 2.แผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 ในปี 2567 จากเดิมที่ได้ทำสัญญากับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 35.4 ล้านโดส วงเงิน 60 ล้านบาท กรมควบคุมโรคได้เจรจาปรับลด เหลือ 19 ล้านโดส วงเงิน 6.4 หมื่นล้านบาท ล่าสุดสามารถเจรจาได้ข้อตกลงปรับสัญญาเปลี่ยนจากวัคซีน 19 ล้านโดสมาเป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long Acting Antibody : LAAB) จำนวน 36,000 โดส มูลค่า 2 พันล้านบาท ทำให้ประหยัดงบประมาณไปถึง 4 พันล้านบาท ทั้งนี้ ปี 2567 วัคซีนที่มีอยู่และที่รับบริจาคมีเพียงพอรองรับทั้งในภาวะปกติและหากมีการระบาดโดยไม่จำเป็นต้องซื้อเพิ่ม ส่วนจะต้องฉีดเป็นเข็มกระตุ้นอย่างไรอยู่ที่คณะกรรมการวิชาการจะพิจารณาโดยคำถึงถึงสถานการณ์และคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก


นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญ คือ โรคไข้หวัดใหญ่ ได้แจ้งมาตรการป้องกันโดยเฉพาะในโรงเรียน เตรียมพร้อมทีม CDCU ในการสอบสวนควบคุมโรค และเร่งฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง และ อสม. และโรคฝีดาษวานร ซึ่งไทยมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นชาวไทย มีความเสี่ยงจากการมีคู่เพศสัมพันธ์หลายคนหรือกับคนแปลกหน้า ซึ่ง สธ.ได้ให้ความสำคัญในการเฝ้าระวัง คัดกรอง แยกกักรักษาผู้ป่วย และสื่อสารประชาชน เน้นกลุ่มเสี่ยงเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่วนโรคติดต่อที่สถานการณ์ดีขึ้น คือ โควิด แต่ยังคงติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์ และรณรงค์ฉีดวัคซีนประจำปีในกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ประชุมเห็นว่าในช่วงฤดูฝนขณะนี้ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจมากขึ้น จึงมีข้อเสนอให้สธ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้ความเข้าใจในวิธีปฎิบัติการดูแลสุขอนามัยป้องกันโรค เช่น การสวมใส่หน้ากากอนามัยในเวลาอยู่ในกลุ่มคนจำนวนมาก หรือในโรงเรียน ไม่ได้บังคับแต่เป็นการดูแลป้องกันตนเอง และโรคไข้มาลาเรีย ยังคงมาตรการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่ชายแดน ตรวจวินิจฉัยและรักษาทันที เร่งรัดควบคุมยุงพาหะในพื้นที่ระบาดโดยเร็ว

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีนป้องกันฝีดาษ องค์การอนามัยโลกได้ประสานจัดหามาประเทศไทยระยะแรกประมาณ 1 พันโดส อยู่ระหว่างการนำเข้า เนื่องจากมีจำกัด จะฉีดเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลการทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ กลุ่มพิเศษที่ใช้ยากดภูมิ เช่น HIV ส่วนยารักษาขณะนี้มีสำรองไว้ 200 ราย ใช้ไปเพียง 10 % ใช้เฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง โรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัส หากไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงไม่ต้องกังวล


กำลังโหลดความคิดเห็น