xs
xsm
sm
md
lg

"ชลน่าน" ถก สธ.นัดแรก ชี้แจง 12 นโยบาย "30 บาทพลัส" ลุยวัคซีนเอชพีวี 1 ล้านโดส ใน 100 วัน ชวนคนปั๊มลูกต้องดันวาระชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ชลน่าน-สันติ" ประชุมผู้บริหารระดับสุง สธ.นัดแรกเป็นวาระพิเศษ พร้อมชี้แจง 12 ประเด็น ยกระดับ 30 บาทพลัส ลุยมะเร็งครบวงจร เชื่อปูพรมวัคซีนเอชพีวี ด.ญ. 9-15 ปี 1 ล้านโดส เป็น Quick Win ได้ใน 100 วันแรก ส่วนบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่อาจเลือกจาก 1-2 เขตที่พร้อมและดีที่สุด ส่วนส่งเสริมมีบุตรทำ Quick Win ยาก ต้องชง ครม.ประกาศวาระแห่งชาติ ช่วยแก้มิติอื่นเอื้อคนอยากปั๊มลูก

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ร่วมกันแถลงภายหลังประชุมผู้บริหาร ระดับสูง สธ. วาระพิเศษ ซึ่งถือเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงนโยบายและแนวทางการบริหารงานกระทรวงสาธารณสุข

นพ.ชลน่านกล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้กลับมาทำหน้าที่ รมว.สธ. หลังจากเคยทำหน้าที่ รมช.สธ.เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทั้งนี้ ฝ่ายการเมืองและคณะผู้บริหาร สธ. ได้มีการพูดคุยกัน เราพร้อมขับเคลื่อนงาน เพราะถือว่าฝ่ายการเมืองเป็นรัฐบาลของประชาชน และ สธ.เป็นกระทรวงของประชาชน โดยจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เรื่องสำคัญที่สุด คือ การขับเคลื่อนงานตามแนวพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ส่วนนโยบายของ สธ.ก็มีความชัดเจนออกมารองรับนโยบายรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีทั้งมิติร่างกาย จิตใจ สติปัญหา และสังคม สุขภาวะดีทั้ง 4 ด้าน โครงการสำคัญคือการยกระดับการดูแลที่เรียกว่า 30 บาทพลัส ยกระดับทุกมิติ โดยเฉพาะส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การดูแลรักษาโรค และฟื้นฟู เรากำหนดนโยบายรองรับไว้ทั้งหมด 12 ด้าน คือ 1.การดูแลสาธารณสุขเขตเมือง โดยเฉพาะ กทม. ตามนโยบาย 50 เขต 50 รพ.

2.สุขภาพจิต/ยาเสพติด เนื่องจากการดำรงชีวิตในสังคมพบเจอปัญหาหลายด้าน มีความรุนแรงเกิดขึ้น การใช้ความรุนแรงและอารมณ์ การต่อต้านสังคม ครอบครัวเดียวกันก็มีการทะเลาะ เป็นปัญหาทางสุขภาพจิตที่เราจะให้ความสำคัญลงไปถึงฐานราก ส่วนยาเสพติดจะเข้าไปมีส่วนในการบำบัดดูแลรักษา เป็นนโยบายหลักที่นายกฯ ให้แนวทางมา สธ.มั่นใจว่าจะมีผลงานตัวเลขที่จะทำร่วมกับกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และทำให้ผู้เสพที่ถือว่าเป็นผู้ป่วยสามารถกลับเข้าสู่สังคมและใช้ชีวิตอย่างปกติไม่มีการแยกส่วน 3.มะเร็งครบวงจร เป้นโรคไม่ติดเชื้อที่ทำลายชีวิตประชาชนอย่างมาก จะทำโครงการมะเร็งครบวงจร นโยบายเด่นที่ประกาศไว้ คือ มะเร็งปากมดลูก ที่เราจะให้วัคซีนเอชพีวีป้องกันในเด็กหญิงอายุ 9-15 ปี เป็น Quick Win ที่ประกาศ 100 วันที่จะดำเนินการ


4.สร้างขวัญกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เราจะทำให้คนที่ดูแลสุขภาพ มีสุขภาพที่ดี ทำงานด้วยความสุข มีความก้าวหน้าและมั่นคง อยู่ในสังคมอย่างมีเกียติยศและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับจนถึง อสม.เป็นต้นแบบของคนสุขภาพดี 5.การแพทย์ปฐมภูมิ เป็นนโยบายที่จำเป็นต้องทำ เพราะมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เราจะใช้จุดนี้ขยายเครือข่ายเชื่อมโยงกับการบริการปฐมภูมิ 6.พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย ซึ่งจะทำควบคู่กันไปกับการพัฒนาปฐมภูมิ 7.สาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ 8.สถานชีวาภิบาล สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในระยะสุดท้าย ผู้ป่วยติดเตียงที่มีเยอะมาก จะต้องทำให้เป็นเรื่องเด่น

"สธ.นอกจากเป็นกระทรวงที่ดูแลมิติสุขภาพ เราประกาศเป็นกระทรวงที่จะสร้างเศรษฐกิจและรายได้ให้แก่ประเทศ ดังนั้น 9.ดิจิทัลสุขภาพ โดยปรับโครงสร้างกระทรวง นำเรื่อง Digital Health เข้ามา มีการเชื่อมโยงข้อมูลมีศูนย์ข้อมูลกลางวางไว้บนคลาวด์ เพื่อใช้บริการดูแลประชาชน บัตรประชาชมบเดียวเรามั่นใจว่าจะให้ประชาชนเข้าถึงบริการรวดเร็ว สะดวก ตามความจำเป็นอย่างมีคุณภาพ" นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่านกล่าวว่า 10.ส่งเสริมการมีบุตร อย่างมีคุณภาพเด็กเกิดใหม่มีคุณภาพ มีปริมาณที่สอดคล้องเหมาะสม อาจต้องใช้เวลา เพาะสภาพเศรษฐกิจสังคมสิ่งแวดล้อมตอนนี้ไม่เอื้อ เป็นหน้าที่เราผลักดันเรื่องนี้ให้มีความพร้อมทุกมิติ ปัจจัยแวดล้อมพร้อม บุคคลพร้อม รัฐบาลพร้อมสนับสนุน เชื่อว่าถ้าวางรากฐานเริ่มทำตั้งแต่นี้เป้นต้นไป โครงสร้างประชากรที่แปรปรวน ซึ่งเรามีอัตราตายมากกว่าอัตราเกิดในปี 2565 ตัวเลขอยู่ที่ 5 แสนคนใกล้เคียงกัน แต่ตายมากกว่าเกิด ซึ่งตัวเลขที่เหมาะที่สุดคือไม่น้อยกว่า 2.1 ต่อแสนประชากร ตอนนี้อยู่ที่ 1.5-1.6 ต่อแสนประชากร ทำให้วัยแรงงานลดน้อยลง ผู้สูงอายุมีมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากร 11.เศรษฐกิจสุขภาพ และ 12.นักท่องเที่ยวปลอดภัย ให้มั่นใจว่าท่องเทีย่วบนพื้นฐานการดูแลสุขภาพเราดูแลอย่างเต็มที่ ให้สธ.มีโอกาสเป็นกระทรวงสร้างงานสร้างรายได้แก่ประเทศ

"จากนี้ สธ.พร้อมยกระดับ 30 บาทพลัสครอบคลุมทุกมิติ และเป็นองค์กรหลักด้านสุขภาพเป็นหลังบ้านให้ประเทศไทย เฝ้าระวังความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้ประชาชนทุกคนบนผ่นดิน เพื่อความมั่นคงทางด้านสุขภาพ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้แก่ประเทศควบคู่กันไป" นพ.ชลน่านกล่าว


ถามว่ามะเร็งครบวงจรจะมีการดำเนินการอย่างไร นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรามีระบบเข้าไปดูแล การดูแลโรคในหลักระบาดวิทยา การดูแลรักษาไม่ต่างกัน เราเอาหลักการมาวางไว้แต่มุ่งเน้นไปที่มะเร็ง การเฝ้าระวัง การตรวจค้น การเข้าถึง การเสาะหามะเร็ง ยกตัวอย่าง มะเร็งในผู้ชายภาคเหนือและอีสานคือ มะเร็งท่อน้ำดี เรามีระบบการเฝ้าระวังตรวจค้น เช่น เทคโนโลยีที่ได้มาขณะนี้ สามารถตรวจปัสสาวะแล้วเจอแอนติเจนของพยาธิใบไม้ตับได้ ก็จะเป็นตัวอย่าง เมื่อเฝ้าระวังตรวจค้นได้ พบให้เร็ว ก็เข้าสู่การรักษาเร็ว ถ้ารักษาในระยะเริ่มต้นสามารถหายขาดได้ หรือมีค่าเฉลี่ยอายุขัย 5 ปีใกล้เคียงคนปกติ รวมถึงการให้ความรู้พฤติกรรมสุขภาพที่เสี่ยงต่อการก่อมะเร็ง ดูแลฟื้นฟูสภาพ จะครบวงจรหมด เรื่องวัคซีนบางตัวที่มี เช่น วัคซีนเอชพีวีถือเป็นมาตรการป้องกัน

ถามว่าตอนนี้มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ หลายพื้นที่บอกยังได้วัคซีนไม่ครบ จะมีการขยายวัคซีนไปยังกลุ่มเสี่ยงอื่นด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรามีวัคซีนประจำปี การจัดหาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้รับแจ้งจาก สปสช.จัดหามา 4.3 ล้านโดส กระจายไปหมดแล้ว เหลือที่องค์การเภสัชกรรมประมาณ 1 แสนโดส เราเน้นกลุ่มเสี่ยงก่อนคือ 608 อย่างอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มอายุมากกว่า 6 เดือนถึง 23 เดือน เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ต้องได้รับวัคซีน

ถามถึงกลยุทธ์การส่งเสริมการมีบุตรอยู่ใน Quick Win ด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ใน Quick Win แต่อยู่ในนโยบายหลักที่ต้องดำเนินการ ทำ Quick Win ไม่ได้ อาจารย์แพทย์บอกว่าการส่งเสริมมีลูกไม่ยาก เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ยากกว่าคือทำอย่างไรให้หาคู่สมรส โดยเฉพาะสุภาพสตรีที่หาคนมาแต่งงานได้ก่อน ยากกว่าการมีลูก ก็ต้องทำทุกมิติควบคู่กันไป สภาวะเศรษฐกิจสังคมแบบนี้ ทำให้คนตัดสินใจจะมีคู่ครองก็ลำบาก มีคู่ครองก็ตัดสินใจมีลูกลำบาก เพราะคำนึงถึงโอกาสของลูก แต่เราจะต้องรับผิดชอบสร้างภาวะแวดล้อม โอกาส ความเป็นไปได้ ขจัดปัจจัยให้ลดน้อยที่สุด เพื่อให้ตัดสินใจเข้ามามีหน้าที่ดำรงเผ่าพันธุ์ โดยเด็กแรกเกิดต่อปีตัวเลขที่เหมาะสม 2.1 ต่อแสนประชากร ก็อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านคน


"ส่วนการทำให้คนอยากมีลูก เราจะทำหน้าที่ในส่วนของอนามัยเจริญพันธุ์ ส่งเสริมคนมีลูกให้มีความพร้อม ส่วนจะผลักดันเสนอความพร้อมด้านอื่นๆ จำเป็นต้องกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ จะเสนอนายกฯ เข้า ครม. มิติที่น่ากงัวที่สุดคือเศรษบกิจและสังคม ก็ต้องวมาช่วยขจัดเหตุตรงนั้น เช่น รัฐบาลช่วยดูแลบุตรคนที่ 2-3 ดูแลจนจบปริญญาตรีได้หรือไม่ การดูแลเด็กแรกเกิดทุกคนช่วยเหลือหรือไม่ อย่างทุกวันนี้ไคนละ 600 บาท ควรจะช่วยคนละ 3 พันบาทหรือไม่ก็ต้องไปพิจารณาเพื่อสนับสนุนให้มั่นใจว่ามีลูกได้อยู่ในสังคมที่ดี" นพ.ชลน่านกล่าว

ถามว่าทุกเรื่องมี Quick Win ใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ทำ Quick Win ทุกเรื่อง ในแต่ละด้านจะมี Quick Win หรืออาจมีมากกว่า 1 เรื่อง การประกาศ Quick Win คือผลสำเร็จที่แสดงให้ประชาชนเห้ร เช่น ประกาศที่จะดำเนินการ บางเรื่องทำให้เสร็จใน 100 วันได้ 3 เดือนได้ เป็นQuick Win ขั้นสุดยอด อย่างวัคซีนเอชพีวี 1 ล้านโดสใน 3 เดือน บางเรื่องเป้นจุดเริ่มชนะในการเริ่มก่อนแล้วติดตามผล

ถามว่า บัตรประชาชนใบเดียวจะเห็น Quick Win พื้นที่ไหนก่อนหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตนและผู้บริหารระดับสูง สธ.กำลังพิจารณาพื้นที่ มีหลายเขตพื้นที่ที่มีความพร้อม เราจะดูพร้อมและดีที่สุดอาจเลือกมาเขต 2 เขต ถามย้ำว่าเขต 8 พอได้หรือไม่ นพ.ชลน่านตอบว่า ขออภัย ยังไม่ได้ดูข้อมูล


นายสันติกล่าวว่า จากการทำงานในพื้นที่มานานทำให้ทราบถึงปัญหาในการเข้ารับบริการสุขภาพของประชาชน ทั้งเรื่องภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การรอรับบริการนาน ดังนั้น จะช่วยขับเคลื่อน สธ.ให้เป็นที่พึ่งของประชาชนที่เจ็บป่วย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ให้ได้เข้าถึงบริการสุขภาพที่สะดวก รวดเร็ว สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชน รวมถึงส่งเสริมการดูแลสุขอนามัยแม่และเด็ก เพื่อเพิ่มบุคลากรที่มีคุณภาพมาพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ รองรับการเป็นสังคมสูงวัย ทำให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคงแข็งแรง สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

ด้าน นพ.โอภาสกล่าวว่า สธ.พร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบาย โดยทุกหน่วยงานในกำกับของ สธ.จะร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายไปพร้อมกับฝ่ายการเมืองอย่างสอดประสานและไร้รอยต่อ เพื่อให้การดำเนินงานด้านสาธารณสุขจากนี้ไป บรรลุตามเป้าหมายที่จะมุ่งสู่การสร้างสุขภาพคนไทย เพื่อสุขภาพประเทศไทยอย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น