ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผงะ! รอบ 8 สัปดาห์โคราชพบป่วยไข้หวัดใหญ่กว่า 3,000 ราย เพิ่มขึ้นกว่า 6.4 เท่าตัว มากที่สุดใน 4 จังหวัดอีสานใต้ ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก สคร.9 เร่งรณรงค์ ปชช.และกลุ่มเสี่ยงป้องกันตนเองและฉีดวัคซีน หากมีอาการรีบเข้ารับการรักษา ก่อนอาการแทรกซ้อนรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
วันนี้ (22 ก.ย.) นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566-11 กันยายน 2566 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว 154,829 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 0-4 ขวบ รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี และกลุ่มอายุ 7-9 ขวบ ตามลำดับ
ในขณะที่เขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งดูแล 4 จังหวัดอีสานล่าง ได้แก่ จ.นครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-9 กันยายน 2566 มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 14,975 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย โดยสถานการณ์การระบาดของโรค ในช่วง 8 สัปดาห์ที่ผ่านมา คือสัปดาห์ที่ 29-36 ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2566-9 กันยายน 2566 พบผู้ป่วย 7,891 ราย เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่าจังหวัดนครราชสีมามีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มากสุด 3,099 ราย มากกว่าปี 2565 ถึง 6.4 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งปี 2565 พบผู้ป่วยแค่ 478 รายเท่านั้น รองลงมาคือ จ.สุรินทร์ พบผู้ป่วย 2,463 ราย ขณะที่ปี 2565 พบแค่ 83 ราย ส่วน จ.ชัยภูมิ พบผู้ป่วย 1,681 ราย ขณะที่ปี 2565 พบ 9 ราย และ จ.บุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 648 ราย ขณะที่ปี 2565 พบ 153 ราย
โดยกลุ่มอายุที่ป่วยมากสุดคือ กลุ่มเด็กเล็กอายุ 5-9 ขวบ รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี และกลุ่มอายุ 0-4 ขวบ ตามลำดับ ซึ่งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ไม่ถึง 2 เดือนก็จะหมดฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ทำให้เอื้อต่อการแพร่ระบาดได้ง่ายของโรคติดต่อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส อย่างเช่น โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัด และโรคโควิด-19 ทำให้จำนวนผู้ป่วยมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม โรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันไม่ให้ติดเชื้อได้ โดยใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ได้แก่
1. ปิด คือปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ต้องใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง หากเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ควรใส่หน้ากากอนามัย 2. ล้าง คือล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันได ราวบนรถโดยสาร ปุ่มกดลิฟต์ 3. เลี่ยง คือหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย และ 4. หยุด คือเมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด แม้ผู้ป่วยจะมีอาการไม่มาก ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ
โดยกลุ่มเสี่ยงที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป รวมถึงเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ขวบ, กลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด โรคเบาหวาน และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป รวมทั้งผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้, โรคธาลัสซีเมีย, ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ที่มีโรคอ้วน หากป่วยมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คาดว่าอาจจะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว เพราะอาจเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรง จนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
ส่วนประชาชนทั่วไป ขอให้ดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดใหญ่ ด้วยการไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่เนิ่นๆ ที่โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการสาธารณสุขต่างๆ ซึ่งหากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422