"หมอชลน่าน" ห่วง "ไข้หวัดใหญ่" อัตราป่วยเพิ่มขึ้น 3 เท่า ในโรงเรียนระบาดสูงกว่าที่อื่น สั่งกรมควบคุมโรคปูพรมรับมือ ขอบุคลากรสาธารณสุขถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องเตรียมพร้อม 24 ชั่วโมง ด้านกรมควบคุมโรค เตือนยังต้องเฝ้าระวัง RSV พบป่วยในเด็กมาก
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ว่า ล่าสุดได้รับรายงานมีจำนวนผู้ป่วยมากถึง 138,766 ราย อัตราป่วยเพิ่มสูงถึงกว่า 200 รายต่อแสนประชากร หรือเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัด สธ.เตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของไข้หวัดใหญ่ แม้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะมีเพียงแค่ 2 ราย ในสงขลาและนครราชสีมาก็ตาม ทั้งนี้ การระบาดรอบนี้เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A/H1N1 ซึ่งประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ มีการระบาดในโรงเรียน ซึ่งเป็นสถานที่มีเด็กนักเรียนอยู่รวมกัน อาจมีการไอ จาม หรือสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ร่วมกันได้ง่าย โดยข้อมูลของกรมควบคุมโรคพบว่า ในสัปดาห์ที่ 35 วันที่ 27 ส.ค. – 2 ก.ย. มีรายงานนักเรียนป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ 101 ราย ในโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ลําพูน จากการเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อ 5 ราย พบเชื้อไข้หวัดใหญ่ ชนิด A 4 ราย (ร้อยละ 80) จึงได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคเตรียมพร้อมส่งทีมสอบสวนโรคปูพรมทุกโรงเรียนในชุมชน โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดสูงกว่าพื้นที่อื่น รวมถึงให้ทุก รพ.เตรียมพรร้อมให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ด้วย โดยขอให้บุคลากรสาธารณสุขทุกคนถือว่าเรื่องนี้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องเตรียมพร้อม 24 ชั่วโมง
ขณะที่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงปลายฝนต้นหนาวมีโอกาสพบโรคติดต่อได้หลายโรค หนึ่งในนั้นคือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัส RSV ในผู้ป่วยกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และกลุ่มอาการปอดบวมจาก รพ.เครือข่ายของกรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 ส.ค. 2566 ตรวจตัวอย่างทั้งหมด 5,411 ตัวอย่าง พบเป็น RSV 732 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 13.53 พบมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ร้อยละ 52.23 กลุ่มอายุ 3-5 ปี ร้อยละ 34.92 และกลุ่มอายุ 6-15 ปี ร้อยละ 8.38 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 1.96 สามารถติดต่อได้จากการไอจาม สัมผัสน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย เชื้อเข้าผ่านทางจมูก ปาก และเยื่อบุตา หรือสัมผัสสิ่งของ เช่น ของเล่น ภาชนะ ที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ระยะฟักตัว อยู่ที่ 4-6 วัน ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 3-8 วัน
สำหรับการติดเชื้อในกลุ่มเด็กเล็ก เชื้อมีโอกาสลุกลามไปยังระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หลอดลม เนื้อปอด เกิดอาการหลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ และปอดอักเสบตามมา มักพบเด็กรับเชื้อจากการสัมผัสผู้ป่วยขณะที่ไปโรงเรียน ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก และยังสามารถแพร่เชื้อต่อให้กับคนในบ้านได้ ระยะแรกจะมีอาการเพียงเล็กน้อยคล้ายไข้หวัด เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หากมีอาการรุนแรงจะมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย เสียงหายใจดังวีด รับประทานอาหารได้น้อย ซึมลง และอาจเสียชีวิตได้ ใน รพ.ใหญ่จะมี Monoclonal antibody ใช้รักษา การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ โรคนี้สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ แต่กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการรุนแรง คือ เด็กเล็ก เด็กที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เด็กที่คลอดก่อนกำหนด ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
นพ.โสภณ เอี่ยมสิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แนะนำผู้ปกครองและครูในสถานศึกษาหมั่นสังเกตอาการติดเชื้อทางเดินหายใจ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี อย่างใกล้ชิดทุกวัน โดยโรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการล้างมืออย่างถูกวิธีด้วยสบู่และน้ำสะอาดบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนมื้ออาหารและหลังเข้าห้องน้ำ ดูแลสุขอนามัย หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น หากจำเป็นควรสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ทำความสะอาดบ้านรวมทั้งของเล่นเด็กเป็นประจำ รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำมากๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ หากพบเด็กมีอาการป่วย ควรแยกออกจากเด็กปกติเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ และพาไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป