xs
xsm
sm
md
lg

นักรังสีฯ โอดด้วย "คนน้อย-งานมาก" ร่าย 7 สาเหตุปัญหา แนะเปิดโต๊ะเจรจา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักรังสีฯ โอดด้วย เปิด 7 ปัญหา ทำบุคลากรขาดแคลน ภาระงานล้น แผนกเปิด 24 ชม. แต่มีคนทำงานคนเดียว หวั่นทำงานจนตาย ยิ่ง รพ.ชุมชนยิ่งมีปัญหา ค่าตอบแทนต่ำ ไม่จูงใจคนทำงาน แม้มีตำแหน่งว่าง เด็กจบใหม่เข้าสู่ระบบ 50-60% บางส่วนไปอยู่เอกชนให้ค่าตอบแทน สวัสดิการสูง แนะเปิดโต๊ะเจรจาแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ผศ.ดร.สุชาติ เกียรติวัฒนเจริญ หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ ม.เชียงใหม่ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ ชมรมรังสีการแพทย์ชุมชนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นหมอลาออก ว่า เรื่องนี้กำลังเป็นที่สนใจของสังคม สะท้อนปัญหาที่สะสมมานานของบุคลากร รพ. วิชาชีพรังสีเทคนิคก็มีปัญหาความขาดแคลน ปัญหาระบบงานในภาครัฐ ความไม่เป็นธรรม ทั้ง รพ.ขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ โดยเฉพาะ รพ.ชุมชน ส่วนใหญ่ไม่ได้ออกมาเรียกร้องอะไร หลายแห่งยังคงทำงานอย่างหนักในการอยู่เวรนอกเวลา เนื่องจากแผนกเอกซเรย์ต้องเปิดทำการ 24 ชั่วโมง แต่มีคนปฏิบัติงานเพียงคนเดียว

"ทางรอดของการทำงาน คือ ให้ผู้ช่วยปฏิบัติงานแทน ทั้งที่เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เอาเปรียบผู้ป่วยที่ควรได้รับการบริการในมาตรฐานวิชาชีพนักรังสีฯ มาตรฐานการรักษา แต่ไม่มีทางเลี่ยง เพราะนักรังสีฯ อยู่คนเดียวตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีคนสับเปลี่ยน ก็คงต้องทำงานจนตาย แล้วห่อธงชาติแน่ๆ" ผศ.ดร.สุชาติกล่าว

ผศ.ดร.สุชาติกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในวิชาชีพรังสี กับอีกหลายๆวิชาชีพใน รพ. เกิดจากหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรอย่างหนัก คือ 1. กรอบอัตรากำลังที่จัดสรรในปัจจุบันน้อยเกินภาระงาน แม้ว่าจะสะท้อนจาก FTE และการจัดเวรนอกเวลาราชการไม่สามารถนำมาคิดเป็นภาระงานได้ เนื่องจากรับค่าตอบแทนเวรประมาณ 600-700บาท จนนักรังสีฯ บางคนเปรยกับตนว่า เรื่องเงินไม่เท่าไร แต่ต้องการใช้ชีวิตที่ได้อยู่กับครอบครัว ได้เวลานอนพักที่เต็มอิ่มมากกว่าการวนเวียนนอน รพ.อยู่เวรเกือบค่อนเดือนทุกเดือนเป็นสิบๆปี
2.การถูกเอาเปรียบจาก รพ. โดยเฉพาะ รพ.ชุมชน จัดเวรนอกเวลาราชการแบบ Oncall แก่นักรังสีฯ ที่ให้ค่าตอบแทนต่ำ ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ จนไม่มีแรงจูงใจเข้ารับราชการของน้องๆ ที่จบใหม่ที่จะสมัครเข้าทำงานใน รพ.ชุมชน แม้ว่าจะมีกรอบอัตราว่าง หรือแม้แต่คนในระบบรอที่จะหาจังหวะย้ายออก เพราะไม่ไหว กับภาระงานที่หนัก ค่าเวร และความก้าวหน้าไม่มี
3. รพ.หลายแห่งมีรูปแบบการจ้างงานที่ไม่จูงใจให้น้องที่จบใหม่เข้าสู่ภาครัฐ ได้แก่ การจ้างงานในตำแหน่งลูกจ้างรายคาบ ลูกจ้างชั่วคราว การจ้างงานรายวัน เป็นต้น ซึ่งไม่มีสวัสดิการหรือแรงจูงใจที่จะดึงคนเข้าสู่ระบบ ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนเป็นพนักงานกระทรวงหรือพนักงานราชการ เป็นได้แค่ลูกจ้างรายวัน
4. เงินเดือนในระบบจ้างงานของภาครัฐต่ำกว่าเมื่อเทียบกับภาคเอกชน ซึ่งเอกชนหลายแห่งมีค่าตอบแทน สวัสดิการ โบนัส รวมทั้งให้ทุนการศึกษาเป็นเงินก้อนแก่นักรังสีฯ ที่จบใหม่จูงใจมากกว่าภาครัฐ น้องๆจึงไม่สนใจเข้ารับราชการ
5. ภาระงาน รพ.ที่มากขึ้น ผู้รับบริการมากขึ้น แต่อัตรากำลัง กรอบเท่าเดิม นักรังสีฯ หลายคนในระบบที่ทนไม่ไหวกับระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาระงานที่มากเกิน เวลาพักผ่อนไม่เพียงพอ ค่าตอบแทนที่ได้ไม่จูงใจ หากอายุยังน้อยก็หาทางออกไปอยู่ภาคเอกชนหรือเปลี่ยนอาชีพไปเลย แต่หากอายุมากขึ้นมีครอบครัวแล้วไม่อยากไปไหนก็ทนทำงานกันไป
6. อัตราการผลิตนักรังสีฯ แต่ละปีประมาณ 400-500คน เป็นจำนวนที่น่าจะเพียงพอในการเติมเข้าสู่ระบบ แต่เข้าสู่ระบบภาครัฐ 35-40% หรือเต็มที่ 200-300 คน คิดเป็น 50-60% ของกำลังผลิต ขณะที่ความต้องการภาครัฐ ขณะนี้มีอัตราเกษียณปีละ 60-80 คน ส่วนที่ขาดสะสมในภาครัฐประมาณ 1,200 คนทั่วประเทศ ที่ไม่มีนักรังสีฯเลยอีกประมาณ 100 กว่าแห่ง จากรพ.รัฐประมาณ 900 แห่ง ขณะที่ รพ.เอกชนและศููนย์บริการเอกชนต้องการประมาณปีละเกือบๆ 300 คน หากไม่มีการตั้งโต๊ะเจรจาปัญหาความขาดแคลนนักรังสีฯ ยังคงจะเกิดขึ้นอีกนาน ปัจจุบันแม้จะแก้ปัญหาด้วยการจัดสรรทุนนักศึกษารังสีฯ แต่ปัญหาไม่ได้ลดน้อยลง

7.ปัญหาอื่นๆ สารพัดไม่ว่าเรื่องความก้าวหน้า ค่า พตส. ที่ต่ำเตี้ย ไม่มีการปรับมานาน การลาศึกษาต่อยากเพราะไม่มีคนทำงาน ปัญหาการทำงานในหน่วยงาน ฯลฯ ทำให้น้องๆ เลือกเดินในทางสายใหม่มากกว่าอดทนในระบบของรัฐ ฯลฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น