xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ชงผลิตหมอ 7 ปี ตัดปัญหาแพทย์ Intern เร่งศึกษาออก ก.พ.คุมคนเบ็ดเสร็จ พบ รพ.สต.ถ่ายโอน มีส่วนเพิ่มภาระงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.หารือ 4 ชมรมแพทย์-สาธารณสุข แจง "ภาระงาน" เพิ่มขึ้นจากหลายส่วน พบ รพ.สต.ถ่ายโอนหยุดบริการหลายอย่าง จนผู้ป่วยไหลกลับ รพ. จ่อหารือกองทุน เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้สมดุลบุคลากรป้องกันเพิ่มงาน เล็งศึกษาข้อดีข้อเสียหากออก ก.พ. บริหารคุมคนเองเบ็ดเสร็จ ชงตัดปัญหาแพทย์ Intern ให้มหาวิทยาลัย-แพทยสภา ผลิตเรียน 7 ปีแล้วค่อยมาทำงาน

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หารือร่วมกับ 4 ชมรมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน และชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ถึงความร่วมมือการบกระดับบริการสาธารณสุข

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัด สธ. แถลงข่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีการหารือคือ 1.การยกระดับบริการและหน่วยบริการ ครอบคลุมตั้งแต่ปฐมภูมิ รพ.ชุมชน รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป และ Excellence Center โดยการปรับบทบาทเชิงระบบของสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ที่มีเรื่อง รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปและภารกิจใหม่ที่จะดำเนินการ ส่วน รพ.ชุมชนก็ต้องพัฒนาขยายศักยภาพมากกว่ากรอบเดิมที่มี รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไปพัฒนาเป็น Excellence Center รับส่งต่อ โดยจะบูรณาการบริหารจัดการในภาพรวมจังหวัด โดยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) จะหารือกับทั้งหมด เพื่อให้เกิดภาพของ 1 จังหวัด 1 รพ. 2.การดูแลขวัญกำลังใจบุคลากร ภาระงาน และข้อจำกัดต่างๆ อย่างเรื่องสวัสดิการให้แต่ละ รพ.กำหนดแผนเงินบำรุงปรับปรุงสวัสดิการบุคลากร เช่น การจัดสร้างบ้านพัก ปรับปรุงภูมิทัศน์ภายใน สธ.ดำเนินการมาแล้วใช้เงินประมาณ 1,500 ล้านบาท ใน รพ. 43 แห่ง , การปรับปรุงค่าตอบแทนมีการดำเนินการเมื่อ ม.ค.ที่ผ่านมา อยู่ในช่วงการปรับค่าตอบแทนในแต่ละหน่วยบริการ ก็จะแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง

สำหรับภาระงานใน รพ.แต่ละระดับมีมากขึ้นด้วยหลายปัจจัย ทั้งวิถีชีวิตประชาชนและความคาดหวัง คนเข้าใช้บริการมากขึ้น ขณะนี้มีการถ่ายโอน รพ.สต.ไป 3 พันกว่าแห่ง จะพบว่ามีช่องว่างการจัดระบบบริการหลายอย่างที่เคยดำเนินการก็หยุดไป ผู้รับบริการไหลกลับเข้า รพ.ชุมชน หรือ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ดังนั้น สสอ.ก็ต้องพยายามดูช่องว่างตรงนี้ ปรับบุคลากรที่ไม่ได้ถ่ายโอน และหารือหน่วยงานถ่ายโอนอาจต้องยกระดับบริการจำนวนและคุณภาพเช่นกัน อีกส่วนที่ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การเพิ่มสิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุนสุขภาพ อาจไม่ได้หารือเรื่องความสมดุลของบุคลากรและภาระงาน ทำให้เพิ่มภาระงานเข้ามาส่วนหนึ่ง สธ.พยายามดูสมดุลกับภาระงานบุคลากรและสิทธิที่ประชาชนพึงมี

"ส่วนเรื่องวิถีชีวิตไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนในแต่ละเจนก็มีความแตกต่าง ขณะนี้ก็จะพบเรื่องการลาออกและหมดไฟในการทำงานบ้าง ก็ต้องทำความเข้าใจกับน้องๆ เหล่านี้ ทีมงานหารือกันว่าในจังหวัด นพ.สสจ. ผอ.รพ. ก็ต้องสื่อสารลงไปในการดูแลกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิดและให้มีระบบพี่เลี้ยงในการสนับสนุน ส่วนจุดที่เป็น Pain Point ไม่สบายใจทั้งหลายก็จะนำมาหารือกัน สื่อสาร นพ.สสจ.และผู้ตรวจฯ ให้ช่วยดูแล" นพ.ณรงค์กล่าว


นพ.ณรงค์กล่าวว่า 3.การบริหารจัดการบุคลากร ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้ดำเนินการอย่างเบ็ดเสร็จทั้งจำนวน ตำแหน่ง เรามีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ดูแลอยู่ หากเราสามารถดำเนินการได้เบ็ดเสร็จเอง เรามีแนวคิดปรับเหมือนกับครูหรือตำรวจ สธ.สามารถจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จหรือไม่ โดยมีคณะกรรมการกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ก็เป็นแนวคิดหารือเบื้องต้น และ 4.ประเด็นแพทย์ใช้ทุน โดยเฉพาะแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (Intern) ต้องขอเรียนว่ากลไกการจบของแพทย์ในแต่ละปีมี 3 ส่วน คือ การผลิต การจัดสรร และการจัดสภาพแวดล้อมหรือสวัสดิการให้เกิดการคงอยู่ ในส่วนของการผลิตจะอยู่ในมหาวิทยาลัย สธ.มีส่วนร่วมผลิต 1 ใน 3 จากทั้งหมด 3 พันกว่าคนต่อปี ขณะนี้มีการผลิตเรียกว่า 6+1 คือ เรียน 6 ปี และมาเพิ่มพูนทักษะอีก 1 ปี

"หากเรามองว่าประเด็นตรงนี้เป็นประเด็นปัญหา เป็นหนึ่งมุมมองว่า จะเปลี่ยนเป็น 7 เลยหรือไม่ ต้องหารือกันอีกพอสมควร เพราะขณะนี้ภาระงานมาอยู่ในส่วนของเพิ่มพูนทักษะ ที่ประชุมมีการหารือว่า จะลองหารือกับแพทยสภาและมหาวิทยาลัยว่า สธ.จะรับบุคลากรที่พร้อมในการปฏิบัติงานเลย นำเรื่องการเพิ่มพูนทักษะกลับไปสู่กระบวนการทบทวนหลักสูตรการเรียนหรือไม่ ให้เป็นที่ 7 ปีหรือไม่ ก้ต้องกลับไปหารือกันในเชิงระบบ ส่วนเรื่องการจัดสรร ถ้าดูตัวเลขจบมา 3 พันคน สธ.ได้รับตำแหน่งประมาณ 1,800-1,900 คน ก็ไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนเชิงระบบและภาระงาน ส่วนการจัดสวัสดิภาพในการคงอยู่ สธ.ก็สื่อสารลงไปทุกหน่วยให้ช่วยดูแลสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ ตรงไหนเป็น Pain Point ก็ขอให้รับฟังน้องๆ และลงไปบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มการคงอยู่ไปได้ ยืนยันว่า สธ.พยายามขับเคลื่อนยกระดับบริการ มาดูเรื่องภาระงาน การจัดการเชิงระบบ และยังใส่ใจดูแลบุคลากรทุกระดับเท่าที่สามารถทำได้" นพ.ณรงค์กล่าว

ถามว่า แพทย์ Intern ที่ไม่เพียงพอ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้มีการเกลี่ยกันเอง นพ.ณรงค์กล่าวว่า เดิมเราสามารถมาฝึกเพิ่มพูน รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไปในเขตสุขภาพหนึ่ง แล้วไป รพ.ชุมชนในอีกเขตสุขภาพได้ แต่ปีนี้เราเอาหลักการตรงนี้ ความยืดหยุ่นการบริหารจัดการก็หายไปส่วนหนึ่ง ส่วนการเกลี่ยในเขตสุขภาพทำได้รัดับหนึ่ง ส่วนข้ามเขตต้องมาหารือกัน ที่ย้ำคือให้ นพ.สสจ.พูดคุยกับ ผอ.รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รพ.ชุมชน ลองปรับบุคลากรในจังหวัดหมุนกันดู จุดไหนเป็น Pain Point ซึ่งอาจแตกต่างกัน บางจังหวัดมีปัญหาที่รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไปมีเยอะ บางจังหวัดอาจเป็นที่ รพ.ชุมชน ก็ขึ้นกับข้อมูล ความขาดแคลนในแต่ละส่วน ซึ่งแต่ละที่อาจจะปรับการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน อย่างน้อยปัญหาน่าจะลดลง แต่ยังไม่ได้ไปแก้ปัญหาที่เป็นสาเหตุหลัก เช่น ความเบ็ดเสร็จการบริหารบุคคล งบประมาณที่มีจำกัด สิทธิประโยชน์ที่มีเพิ่มขึ้นของแต่ละกองทุน การผลิต ยังไม่ได้แก้ตรงนั้น แต่ใช้กลไกระดับพื้นที่แก้ปัญหาเบื้องต้น


ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ประชุมหารือกันหรือไม่ว่า ปัญหาภาระงานเป็นการสะสมมาตั้งแต่การมีบัตรทอง นพ.ณรงค์กล่าวว่า เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง การมีกองทุนเหล่านี้ทำให้การเข้าถึงบริการมากขึ้น ซึ่งมองการเข้าถึงการจัดสิทธิประโยชน์ แต่บางทีไม่ได้หารือถึงความสมดุลของบุคลากรที่มีอยู่ แต่ถ้าดูตามสถิติอัตราการเข้าสู่บริการคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมากกว่าค่าเฉลี่ยของหลายประเทศ หากเทียบระยะเวลารอคอยผ่าตัด พบแพทย์กับหลายประเทศ ประเทศไทยระยะเวลาสั้นกว่าหลายประเทศ แต่จำนวนประชากรการเข้าสู่บริการเยอะกว่าหลายประเทศ กองทุนทำให้การเข้าถึงบริการมากขึ้น แต่ก็เป็นภาระงานหรือผลงานที่เพิ่มขึ้น วันนี้เราส่งสัญญาณไปว่าการกำหนดสิทธิประโยชน์ให้มาหารือผู้ให้บริการว่าเราดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ากำหนดค่าเป้าหมายไปด้วยกัน ความไม่สมดุลก็จะลดลง

ถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ประเทศไทยควรต้องมีระบบร่วมจ่าย หรือโควเพย์เมนท์ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ขออนุญาตเรื่องนี้ละเอียดอ่อน แต่การบริหารงบประมาณที่ผ่านมาก็มีปัญหา อย่างก่อนโควิด รพ.หลายแห่งมีรายรับน้อยกว่ารายจ่าย แต่โควิดมาก็พบว่าหลายแห่งรายรับมากกว่ารายจ่าย จึงเอาเงินส่วนนี้มาพัฒนาสวัสดิการ มาพัฒนาระบบต่างๆ บ้านพัก เป็นต้น ซึ่งงบประมาณภาพรวมอาจต้องมีการปรับ แต่เรื่องร่วมจ่ายขอยังไม่ตอบกรณีนี้

เมื่อถามว่ามีคำถามว่าควรแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากเงินหลักประกันสุขภาพฯ เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณไปรพ.มากพอ และทำให้ค่าตอบแทนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าจะสามารถตอบตรงนี้ได้หรือไม่ ต้องมาดูว่า หากหักเงินเดือนมาแล้ว งบเมื่อแบ่งรายละเอียดออกมาจะเป็นอย่างไร งบประมาณต้องสมดุลในหลายๆประเด็น ต้องอยู่ที่ตัวเลข

ถามถึงการบริหารบุคลากรเบ็ดเสร็จ คือเป็นการออกจาก ก.พ.เลยหรือไม่ นพ.ณรงค์กล่าวว่า นัยยะเป็นเช่นนั้น เราต้องกลับมาดูข้อจำกัดในการบริหารจัดการทั้งจำนวน ตำแหน่ง และงบประมาณที่เกี่ยวข้อง ถ้าติดข้อจำกัดตรงนี้ก็ต้องดูว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายถ้าจะมีอีกหนึ่งทางเลือกบริหารจัดการเบ็ดเสร็จในมือ สธ.เอง เป็นหนึ่งทางเลือกและหนึ่งข้อเสนอที่ประชุมให้ลองพิจาณณาและศึกษาอย่างจริงจัง ถ้ามีข้อดีเรื่องค่าจ้าง ค่าตอบแทน ความก้าวหน้า ถ้ามีข้อดีมากกว่าข้อเสียก็ดำเนินการต่อ

ถามว่าต้องสื่อสารประชาชนเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะตอนนี้เจ็บป่วยไป รพ.อย่างเดียว ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระงาน นพ.ณรงค์กล่าวว่า การไม่ป่วยดีที่สุด รองลงมาคือมี Health literacy ดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วยได้ รู้ว่าจัดการอย่างไร เลือกใช้บริการที่เหมาะสม อาจจะไม่ต้อง รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป อาจใช้บริการที่ใกล้บ้านใกล้ใจ หรือเทเลเมดิซีน จะลดเข้าสู่บริการและความแออัดไปได้


กำลังโหลดความคิดเห็น