xs
xsm
sm
md
lg

สธ.แจงปม "แพทย์ลาออก" เหตุรับภาระงานหนัก เผยได้โควตาแค่ปีละ 1,800 จากที่ต้องการ 2,000 คน ลาออกเฉลี่ยปีละ 455 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.แจงแพทย์ Intern ลาออก ยอมรับปัญหามีมานาน เผยผลิตแพทย์ปีละ 3 พันคน สธ.ได้รับจัดสรรโควตาปีละ 1,800-1,900 คน ทั้งที่ต้องการ 2 พันกว่าคน ขณะนี้มีแพทย์ 2 หมื่นกว่าคน ดูแลสิทธิหลักประกันฯ 70-80% ของประชากร ระบบแตกต่างจากต่างประเทศที่ต้องนัดหมอ ส่งผลภาระงานมาก ย้ำลดภาระงานดูแลประชาชนไม่ได้ ต้องเร่งผลิตแพทย์เพิ่ม แต่ต้องใช้เวลา ตั้งเป้าปี 69 เพิ่มกรอบอัตรากำลังเป็น 35,000 คน ส่วนจำนวนลาออกอยู่ที่ปีละ 455 คน เดินหน้าดูแลค่าตอบแทน สวัสดิการ ความก้าวหน้า และภาระงานให้เหมาะสม

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย พญ.พิมพ์เพชร สุขุมาลไพบูลย์ ผอ.สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท แถลงข่าวปัญหาขาดแคลนแพทย์ในระบบสาธารณสุข หลังจากมีกรณีกระแสแพทย์ใช้ทุนปีหนึ่งหรือ Intern ลาออก เนื่องจากภาระงานมาก คุณภาพชีวิตไม่ดี ว่า ตนได้รับมอบหมายจากปลัด สธ. ในฐานะรองปลัดที่ดูแลด้านกำลังคน ซึ่งจริงๆ ปัญหาเรื่องกำลังคนไม่เฉพาะวิชาชีพแพทย์ แต่มีวิชาชีพอื่นด้วย ทั้งพยาบาล ทันตแพทย์ นักรังสีการแพทย์ ฯลฯ ที่ สธ.มีความขาดแคลนอยู่ สำหรับสถานการณ์จำนวนแพทย์ในระบบที่ขึ้นทะเบียนแพทยสภาและแพทยสมาคมฯ ดูแล ทั้งประเทศมีแพทย์ราว 5-6 หมื่นคน อยู่ในระบบของ สธ. 24,649 คน คิดเป็น 48% ส่วนภาระงานพบว่ามี 45 ล้านคนอยู่ในระบบของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คิดเป็น 75-80% ประชากรทั้งหทด อัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1: 2,000 คน ซึ่งมาตรฐานควรอยู่ที่ประมาณ 3:1,000 คน ถือว่ายังขาดอยู่เยอะ นอกจากนี้ การกระจายตัวของแพทย์ พบว่าอยู่ในเขตสุขภาพที่ 13 กทม.มากสุด 10,595 คน ส่วนเขตสุขภาพอื่นๆ มีประชากรเขตละ 3-5 ล้านคน สัดส่วนแพทย์แตกต่างกัน ซึ่งเขตสุขภาพที่ 7-10 ภาคอีสาน ถือว่าค่อนข้างน้อยกว่าที่อื่น ทำให้แต่ละพื้นที่ก้จะมีอัตราส่วนต่อประชากรแตกต่างกัน

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับแผนการผลิตแพทย์ภาพรวมปี 2561-2570 หรือระยะเวลา 10 ปี แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ การผลิตปกติของ กสพท และโครงการผลิตแพทย์เพิ่มในส่วนของกระทรวงอุดมศึกษาฯ และส่วนของ สธ. ซึ่งรวมทั้งหมดแล้วผลิตได้เพิ่มปีละ 3 พันกว่าคน รวม 10 ปีก็จะได้ประมษณ 3.3 หมื่นกว่าคน โดยจำนวนนี้เป็นการผลิตโดย สธ.ประมาณ 1 ใน 3 ซึ่งต้องให้บริการรักษาด้วยและผลิตเองด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อผลิตแพทย์เสร็จแล้วยังมีเรื่องของการจัดสรรแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ไปยังหน่วยบริการต่างๆ ซึ่งจะมีคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรฯ (Consortium) ซึ่ง สธ.ไม่ได้เป็นหน่วยบริการปลายทางแห่งเดียว ยังมีทั้งสังกัดกระทรวงกลาโหม กทม. และมหาวิทยาลัย 20 แห่ง ที่ต้องมาแชร์ไปด้วย ซึ่งจะมีการประชุมทุกปี อย่างปี 2566 มีผู้สำเร็จการศึกษา 2,759 คน ก็แบ่งไปให้อาจารย์แพทย์ในสาขาปรีคลินิก 87 คน อาจารย์แพทย์ที่เป็นโรงเรียนแพทย์เปิดใหม่ทางคลินิก 86 คน หลังจากนั้นจึงแบ่งที่เหลือ 80% ให้ สธ.และกลาโหม ส่วนอีก 20% ให้คณะแพทยศาสตร์ต่างๆ 6 แห่งในภูมิภาคและส่วนราชการหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเราจะหารือให้ได้รับการจัดสรรเพิ่ม


"ในปี 2566 สธ.ได้รับการจัดสรรแพทย์มา 1,960 คน ซึ่ง สธ.เราขอรับการจัดสรรประมาณ 2,061 คน ซึ่งเราเคยทำสูตรวิจัยว่า ปีหนึ่งๆ สธ.ควรได้แพทย์เท่าไร ก็คือประมาณ 2,055 คน แต่เราได้มาประมาณ 1,800-1,900 คน อย่างปี 2565 เราได้จัดสรรเพียง 1,849 คน ถือว่าคนน้อย แต่ภาระงานไม่ได้น้อยลงกลับยังเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งต้องขอบคุณทุกวิชาชีพที่ทำงานกันอย่างหนัก" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับกรณีแพทย์อินเทิร์น คือ แพทย์ที่เรียนจบ 6 ปีแล้วปีที่ 7 ต้องมาเพิ่มพูนทักษะ ตามที่แพทยสภากำหนดให้เพิ่มพูนทักษะอย่างน้อย 1 ปี เนื่องจากการเรียนเพียง 6 ปีไม่เพียงพอ ซึ่งจะมีการมาเพิ่มพูนทักษะใน รพ. 117 แห่ง ซึ่งศักยภาพในการรับแพทย์อินเทิร์นอยู่ 3,128 คน แต่ได้รับจัดสรร 2,150 คน คิดเป็น 68.7% ดังนั้นการจัดสรรจึงยังไม่เพียงพอ แม้เราจะรับการฝึกอบรมทั้งโครงการ CPIRD และ ODOT ทั้งนอกสังกัด เรียนเอกชน และเรียนต่างประเทศ แต่จำนวนก็ยังไม่ถึง เมื่อจำนวนแพทย์ที่ได้รับมาน้อย ขณะที่ภาระงานในหลักประกันสุขภาพ (UC) ซึ่งเราจัดบริการแตกต่างจากต่างประเทศ ที่เรามีความทั่วถึงเข้ามาได้ตลอด ก็ทำให้เกิดเวิร์กโหลด ซึ่งจากข้อมูลผลสำรวจช่วงวันที่ 15-30 พ.ย. 2565 โรงพยาบาลที่ปฏิบัติงานมากกว่า 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ มีจำนวน 65 แห่ง แบ่งเป็น มากกว่า 64 ชั่วโมง/สัปดาห์ จำนวน 9 แห่ง มีแผนแก้ไข 3 เดือน , มากกว่า 59 ชั่วโมง/สัปดาห์ จำนวน 4 แห่ง แผนแก้ไข 6 เดือน , มากกว่า 52 ชั่วโมง/สัปดาห์ จำนวน 11 แห่ง แผนแก้ไข 9 เดือน , มากกว่า 46 ชั่วโมง/สัปดาห์ จำนวน 18 แห่ง แผนแก้ไข 1 ปี และมากกว่า 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ จำนวน 23 แห่ง

"มาตรฐานโลกบอกว่าต้องต่ำกว่า 40 ชั่วโมง ป็นข้อมูลจากประเทศพัฒนาแล้ว แต่เขามีแพทย์เป็นแสนคน ซึ่งเราก็พยายามเติมแพทย์เข้าไป จริงๆ ตัวเลขชั่วโมงทำงานก็ลดลง อย่างทำงานมากกว่า 64 ชั่วโมง/สัปดาห์ จาก 9 แห่ง ก็ลดลง 4 แห่ง แต่เมื่อต้นน้ำคือรับจัดสรรแพทย์มาน้อยก็ยังเป็นปัญหา" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า หลังจากแพทย์อินเทิร์นเพิ่มพูนทักษะครบ 1 ปี ได้รับใบเพิ่มพูนทักษะ แพทยสภาให้โอกาสลาเรียนได้ ก็ออกจากระบบบริการประชาชนของ สธ.ปีละประมาณ 4 พันคน อย่างปีนี้เรามี 24,000 คน ไปเรียนต่อเฉพาะทาง ก็เหลือประมาณ 20,228 คน ซึ่งการเรียนต่อเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเราก็มีความต้องการแพทย์เฉพาะทาง สำหรับข้อมูลการลาออกของแพทย์ช่วง 10 ปี คือ ปี 2556-2565 เราบรรจุแพทย์รวม 19,355 คน พบแพทย์ใช้ทุนปีแรกลาออก 226 คน คิดเป็น 1.2% เฉลี่ยปีละ 23 คน , แพทย์ใช้ทุนปี 2 ลาออก 1,875 คน คิดเป็น 9.69% ซึ่งสามารถไปเรียนต่อได้แล้วจึงค่อนข้างเยอะ เฉลี่ย 188 คนต่อปี , แพทย์ใช้ปี 3 ลาออก 858 คน คิดเป็น 4.4% เฉลี่ย 86 คนต่อปี , หลังใช้ทุนลาออก 1,578 คน คิดเป็น 8.1% เฉลี่ยปีละ 158 คน รวมลาออกปีละ 455 คน เมื่อรวมกับเกษียณ 150-200 คน ก็เฉลี่ยปีละ 655 คน จึงไม่ใช้ลาออกปีละ 900 กว่าคนอย่างที่เข้าใจคลาดเคลื่อน สำหรับการรักษาคนในระบบนั้น เราพบว่าช่วงปี 2003-2004 มีการออกไปเยอะ ก็เพิ่มการผลิตแพทย์ ซึ่งพบว่าการผลิตแพทย์เพิ่มโครงการ CPIRD เรารักษาคนในระบบได้ดีกว่าอยู่ที่ 80-90% มากกว่าที่มาจากการรับส่วนกลาง กสพท ที่อยู่ในระบบกว่า 70%


นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับแนวทางการดูแลบุคลากรในสังกัด 4 เรื่อง ซึ่งดำเนินการมาตลอด คือ 1.การเพิ่มค่าตอบแทน มีการขึ้นค่าโอทีต่างๆ 2.สวัสดิการ อย่างเรื่องที่พัก สภาพแวดล้อม ช่วงโควิดทำให้มีเงินบำรุงเหลือมาก ปลัด สธ.ก็ให้นโยบายทุกแห่งไปปรับปรุงให้บ้านพัก เพราะหากขอเป็นงบประมาณก็จะถูกตัด 3.ความก้าวหน้า เรื่องตำแหน่งต่างๆ ที่สูงขึ้น ก็มีการหารือกับ ก.พ. การศึกษาก็ให้ลาเรียน และ 4.เรื่องภาระงาน เรามีแพทย์ 2 หมื่นคนกับภาระงานจำนวนมาก จึงต้องผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อมาเติมในระบบ ล่าสุดปรับกรอบอัตรากำลังใหม่ประกาศใช้ปี 2565-2569 โดยในปี 2569 จะวางกรอบแพทย์ไว้ 35,000 คน หรือเพิ่มขึ้นมากกว่าปัจจุบันประมาณ 11,000 คน

"หากเทียบกับอังกฤษที่ประชากรพอๆ กัน มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เขามีแพทย์ 3 ต่อพันประชากร เนื่องจากมีแพทย์เป็นแสนคน แต่เรายังไม่ถึงก็ต้องผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งการผลิตก็ต้องใช้เวลานาน แต่หากจะลดภาระงาน ที่เป็นการทำงานดูแลประชาชน ของเราไม่เหมือนประเทศที่พัฒนาเวลาจะพบแพทย์ต้องรอเป็นขั้นตอน ต้องมีนัด แต่การจัดบริการของเราแตกต่างที่สามารถเข้าถึงได้ ภาระงานจึงมาก วิชาชีพอื่นก็มากเช่นกัน" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

เมื่อถามว่าการเตรียมขยายกรอบอัตรากำลังต้องหารือ ก.พ. ในการขอบรรจุข้าราชการ ขณะที่สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบิตังานขอให้กำหนดชั่วโมงการทำงาน นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า อัตรากำลังต้องคุยกับ ก.พ. ที่บริหารอัตรากำลังภาครัฐ สธ.ต้องขอความเห็นชอบถึงจะได้ ส่วนข้อเรียกร้องก็รับทราบ เราไม่นิ่งนอนใจ เอาข้อมูลต่างๆ มาพยายามช่วยกันเต็มที่ออกมาเป็นแผนดำเนินการ พี่ๆ ที่จบมาหลายปีก็ลงมาช่วย อย่างในบางแห่งก็ต้องเฉพาะเจาะจงที่หนักจริงๆ อย่างทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็ยังเกินอยู่ จึงได้มีการหารือกับสำนักงาน ก.พ. มีเครื่องมือหลายๆอย่าง เช่น การทำแซนด์บ็อกซ์ อย่างการจ้างแพทย์หลากหลายแบบ อย่างแพทย์จบเอกชนมาเป็นลูกจ้าง หากมาบรรจุข้าราชการจะได้หรือไม่ ซึ่งเราจะเน้นเพิ่มจำนวนคน แต่ไม่ลดการบริการ เพราะจะกระทบประชาชน

เมื่อถามว่าแนวทางแก้ปัญหาเร่งด่วนกรณีแพทย์ทำงานนอกเวลา 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ให้แก้ปัญหาภายใน 3 เดือน ความคืบหน้าเป็นอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มีการติดตามข้อมูล ขณะนี้ข้อมูลถึง 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งรวบรวมข้อมูลน้องทำงานครบปี กำลังรวบรวมและจะอัปเดตข้อมูล ขณะนี้ปลัด สธ.ได้ให้ผู้ตรวจราชการทุกเขต ที่รับผิดชอบ รพ.เพิ่มพูนทักษะ 117 แห่งให้ไปดูแลตรงนี้ และน้องๆ รุ่นใหม่กำลังไปเติมอยู่ในระบบตั้งแต่ปลายเดือนที่ผ่านมาจนถึงเดือนนี้ โดยผู้ตรวจฯทุกท่านลงไปกำกับดูแลเอง

เมื่อถามว่าการผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นจะเป็นคำตอบแก้ปัญหา หรือเพราะค่าตอบแทนไม่เพียงพอ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เราเคยสำรวจว่าแพทย์ต้องการอะไร พบว่า เขาต้องการลดภาระงานมากที่สุด ต้องการเรือ่ง WorkLife Balance ส่วนค่าตอบแทนจะอยู่หลังๆ อย่างไรก็ตาม แพทย์ 24,000 กว่าคน แบกภาระการให้บริการประชาชนกว่า 45 ล้านคน ซึ่งเราจะลดบริการไม่ได้ ก็ต้องเพิ่มจำนวนคนมาให้บริการ แต่เราก็ต้องขออัตรากำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องงบประมาณก็จะมีกฎเกณฑ์ส่วนกลางด้วย จะเท่าเอกชนก็ไม่ได้

ถามว่าข้อมูล รพ.ที่ทำงานมากกว่า 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มี 9 แห่ง มีการแก้ไขอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน แพทย์จำนวนน้อยก็ทำให้ภาระงานมากขึ้น ส่วนเรื่องปัญหาอินเทิร์นกับสตาฟฟ์ ก็ต้องยอมรับว่าทำงานด้วยกันก็ย่อมมีปัญหา แต่เรามีการประเมินโดยแพทยสภา ร่วมกับ 36 ศูนย์แพทย์ของ สธ. ส่วนการแก้ปัญหาก็จะมีการดำเนินการต่างๆ อย่างการโยกแพทย์ใน รพ.ใกล้เคียงมาช่วยก็เป็นแนวทางหนึ่ง ซึ่งให้ผู้ตรวจราชการฯ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ดำเนินการ

เมื่อถามถึงกรณีการเพิ่มจำนวนแพทย์ติดปัญหาอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การเรียนแพทย์ต้องใช้ความรู้ความสามารถ บางคนต้องใช้เวลา 8-9 ปี แต่บางครั้งก็หลุดระหว่างทางก็มี เพราะเราต้องการคนที่มีคุณภาพ

ถามถึงการนำแพทย์ภาคเอกชนมาแบ่งเบา นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เป็นไปตามสิทธิการรักษา หลักประกันสุขภาพส่วนใหญ่อยู่ภาครัฐ สปสช.เป็นเจ้าของกองทุน ถ้าหากจะเป็นหลักคือเปิดภาคเอกชนมากๆ ด้วยจะแบ่งภาระเราไปได้ ส่วนใหญ่จะมาอยู่ในสังกัด สธ. ทำให้เรารับภาระนี้ ถ้าทำงานร่วมกัน สธ. สปสช. ภาคเอกชนมีบางโรงก็รับตรงนี้เห็นว่าก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น คงต้องช่วยกัน

ถามว่า สธ. และแพทยสภาออกประกาศได้เลยหรือไม่ว่าทำงานไม่เกิน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ตอบไม่ได้ ณ ตอนนี้เราต้องดูแลน้องเพิ่มพูนทักษะ ดูสตาฟฟ์ที่หนักอยู่แล้ว การกำหนดตรงนี้ทุกอย่างจะฟิกซ์แน่นตัวเกินไป ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกัน เราต้องค่อยๆ รับฟัง ปัญหาแต่ละพื้นที่ก็ต่างกัน การกำหนด One Fix For All อาจจะเพิ่มปัญหาด้วยซ้ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น