xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 4 โมเดล "ทันตกรรม PPP" ระบบบัตรทอง ดึงเอกชนร่วม เพิ่มเข้าถึงบริการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดข้อเสนอ 4 โมเดล PPP บริการทันตกรรมร่วมรัฐ-เอกชน ในระบบบัตรทอง เพิ่มการเข้าถึงการรักษา หลังพบคนไทยเข้าถึงแค่ 9.6% รพ.รัฐมีข้อจำกัด ขณะที่ตลาดทันตกรรมเอกชนโตต่อเนื่อง แต่ต้องปรับระบบเบิกจ่าย ชดเชยรวดเร็ว คุมคุณภาพบริการ

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ผลสำรวจการเข้าถึงบริการทันตกรรมของคนไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 9.6 จำนวนนี้ 65-70% ใช้สิทธิเบิกจ่ายกองทุนสุขภาพ เป็นสวัสดิการข้าราชการมากที่สุด 14.8% ประกันสังคม 12.3% บัตรทอง 8.5% ปัญหาการจัดบริการทันตกรรมภาครัฐ คือ ตำแหน่งทันตแพทย์และผู้ช่วยฯ มีจำกัดแล้ว ตอบสนองส่วนกลางมากกว่าปัญหาในพื้นที่ การเหมาจ่ายรายหัวไม่เอื้อให้เกิดบริการและเข้าถึง เนื่องจากหากทันตแพทย์ให้บริการมากเท่าไรก็ยิ่งเพิ่มต้นทุน รพ.มากขึ้น มีปัญหารอคิวนาน ต้นทุนบริการสูงกว่าเอกชน


ส่วนสถานพยาบาลเอกชน วิธีเบิกจ่ายแต่ละสิทธิที่หลากหลาย ไม่มีมาตรฐานกลาง ทำให้เกิดภาระงานเพิ่มจนคลินิกขนาดเล็กอาจทำไม่ไหว ปัญหาเบิกจ่ายล่าช้า อัตราเบิกจ่ายที่ต่ำอาจทำให้เกิดการเบิกค่าบริการเกินจริง หรือผู้ป่วยถูกเก็บเงินเพิ่ม หรือถูกลดคุณภาพบริการหรือวัสดุอุปกรณ์ ต้องมีการปรับระบบเพื่อให้มีการเบิกจ่ายที่ง่าย รวดเร็ว ป้องกันทุจริต กำหนดอัตราจ่ายที่เหมาะสม หรือแนวทางลดต้นทุนจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น

ทพ.อรรถพรกล่าวว่า คณะทำงานฯ ประชุมเมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมา ได้นำเสนอรูปแบบบริการทันตกรรมแนวใหม่ /Business model เป็นบริการทันตกรรมร่วมของภาครัฐ-เอกชน (PPP) เพราะหากดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมจัดบริการ จะทำให้เกิดการเข้าถึงบริการทันตกรรมเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีคลินิกทันตกรรมเอกชนจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วประเทศ ขณะที่ทิศทางตลาดแรงงานทันตกรรมภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตขึ้นต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนทันตแพทย์ปัจจุบันของไทยมีกว่า 20,000 คน อยู่ในภาครัฐและเอกชนใกล้เคียงกัน ราว 50% ทันตแพทย์ภาครัฐก็ให้บริการภาคเอกชนนอกเวลาราชการ ขณะที่สถานพยาบาลรัฐมีราว 1,000 แห่ง แต่คลินิกทันตกรรมมี 6,447 แห่ง คลินิกเฉพาะทางทันตกรรมอีก 143 คลินิก


ทั้งนี้ ข้อเสนอรูปแบบการให้บริการทันตกรรมร่วมรัฐ-เอกชน ตามชุดสิทธิประโยชน์ สำหรับผู้มีสิทธิบัตรทอง มี 4 รูปแบบ ซค่งคณะทำงานฯจะนำมาวิเคราะห์แนวทางเป็นไปได้และผลักดันให้เกิดการดำเนินการต่อไป ดังนี้ 1.เปิดหน่วยบริการทันตกรรมภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย โดยจูงใจทันตแพทย์จบใหม่มาร่วมให้บริการในรูปแบบการฝึกหัดที่มีค่าตอบแทน ภายใต้การกำกับดูแลโดยอาจารย์แพทย์ ซึ่งความเป็นไปได้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของมหาวิทยาลัย

2.เพิ่มหน่วยบริการทันตกรรมที่ รพ.สต. เนื่องจาก รพ.สต.ที่ถ่ายโอนจะมีเจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขรุ่น 2 ปี ให้บริการกลุ่มเป้าหมายได้ และจัดจ้างทันตแพทย์กำกับการบริการ มีจุดเด่น คือเป็นการใช้บุคลากรที่มีอยู่เพิ่มการให้บริการในพื้นที่ ซึ่งท้องถิ่นที่ต้องการให้บริการประชาชนอยู่แล้วจะรีบจัดตั้งโดยเร็ว


3.ร่วมมือ รพ.รัฐในพื้นที่ที่การเข้าถึงบริการตํ่าและพื้นที่คิวบริการเต็ม โดยสนับสนุนคลินิกทันตกรรมเอกชนในพื้นที่ร่วมเป็นเครือข่ายหน่วยบริการทันตกรรมของ รพ. ในการรับการส่งต่อผู้ป่วยที่รอคิวนาน โดย รพ.จะทำหน้าที่ควบคุมกำกับบริการ

4.ในพื้นที่เมืองที่มีการเข้าถึงบริการทันตกรรมตํ่า ให้ สปสช. ทำสัญญากับคลินิกทันตกรรมเอกชนเพื่อให้บริการ โดยมี สสจ. ร่วมดูแลระบบบริการ เป็นวิธีกระจายเพิ่มหน่วยบริการให้เกิดการเข้าถึง แต่ต้องระวังกรณีการเก็บเงินร่วมจ่ายกับผู้ป่วย และมีระบบยืนยันตัวตนผู้รับริการ การถ่ายภาพช่องปากก่อนและหลังรับบริการเพื่อควบคุมการเบิกจ่าย มีการควบคุมคุณภาพการบริการ


กำลังโหลดความคิดเห็น