xs
xsm
sm
md
lg

"อนุทิน" พร้อมชง ครม. หลังแก้ไขร่างฯ ยาบ้าเกิน 1 เม็ดเป็นผู้ค้าเสร็จ เผยผลศึกษาช่วยลดใช้ยา ลดช่องโหว่ กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"อนุทิน" พร้อมชง ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงครอบครองยาบ้าเกิน 1 เม็ดเท่ากับผู้ค้า หากปรับปรุงและเสนอขึ้นมา ชี้ช่วยลดช่องโหว่ กม. ใช้เด็กเดินยา 5 เม็ด เผยผลศึกษาต่างประเทศ กำหนดปริมาณครอบครองยาเสพติดลดลง ช่วยมีการใช้ยาลดลง ดำเนินคดีลดลง อย่ากังวลเรื่องยัดยา หรือคนทำผิดมากขึ้น ย้ำในร่างระบุเรื่อง "สันนิษฐาน" เชื่อมาตรฐานผู้บังคับใช้กฎหมาย

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดครั้งที่ 1/2566 ว่า ที่ประชุมมีการรายงานความคืบหน้าการจัดทำอนุบัญญัติภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด 9 ฉบับ บังคับใช้แล้ว 6 ฉบับ อยู่ระหว่างพิจารณาของกฤษฎีกาและนำเข้าที่ประชุม ครม. 3 ฉบับ คือ ร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. ... ซึ่งมีการปรับปรุงว่า ยาเสพติดให้โทษประเภท 1 คือ แอมเฟตามีนมีปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 0.1 กรัม และเมทแอมเฟตามีนมีปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึง 0.1 กรัมหรือคำนวณน้ำหนักเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึง 25 มิลลิกรัม พูดง่ายๆ คือ ถือครองยาบ้ามากกว่า 1 เม็ดขึ้นไปให้เป็นผู้ค้า ส่วนอีก 2 ฉบับ คือ ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตโฆษณาเกี่ยวกับการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ติดยาเสพติด (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการฟื้นฟูสภาพทางสังคม พ.ศ. ...

นายอนุทินกล่าวว่า ผลกระทบต่างๆ เมื่อมีการแก้ไขร่างกฎกระทรวงจำนวนยาเสพติด กรมการแพทย์ศึกษาผลกระทบมาแล้ว ซึ่งไม่ว่าจะเสพกี่เม็ดก็ตาม การเสพเพียง 1 เม็ดก็มีผลกระตุ้นทางสมองแล้ว ในต่างประเทศ ถ้าประเทศไหนประกาศจำนวนครอบครองยาน้อยลง ก็จะทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินคดีน้อยลง ผลต่อการทำให้ใช้ยาเสพติดน้อยลง สังคมปลอดภัยมากขึ้น ผู้ใช้เข้าสู่การรักษาง่ายขึ้น การเปลี่ยนจำนวนกำหนดปริมาณยาเสพติดอย่าไปตกใจว่ามีเรื่องของการทำผิดมากขึ้น การยัดยาบ้า หรือการไม่พอของสถานที่คุมขังหรือสถานบำบัดต่างๆ ขอเรียนว่า ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่ได้ตั้งใจจะดำเนินคดีกับผู้เสพในทุกกรณี ในร่างกฎกระทรวงมีคำว่า "สันนิษฐาน" เพราะฉะนั้น เจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายปกครอง ก็ต้องดูพฤติกรรมของผู้เสพผู้ครองครองว่า มีพฤติกรรมอย่างไร ถูกหลอกใช้มาหรือไม่

"อย่างเด็กถูกหลอกใช้มาเดินยาครั้งละ 5 เม็ด ตรวจกี่ทีก็มี 5 เม็ดในตัวตลอด ก็ดำเนินคดีไม่ได้เพราะไม่เกินขอบเขตกฎหมาย แต่เอายามาหมุนขายทีละ 5 เม็ดไปไม่รู้กี่รอบแล้วในวันนั้น แล้วเป็นเด็กด้วยดำเนินคดีก็ลำบาก นี่คือการอุดช่องโหว่ การทำให้ลดลงมาเหลือ 1 เม็ด ถึงจะเป็นผู้ป่วย แต่ถ้าเกิน 1 เม็ดถึงจะเป็นผู้เสพและผู้ค้า ก็จะทำให้ซัพพลายและช่องทางลดลง ไม่ได้บอกว่าจะเป็น 0 แต่ทำให้คนเลี่ยงบาลีใช้ช่องว่างช่องโหว่ของกฎหมายไปทำความผิดได้น้อยลง นี่คือเจตนารมณ์ของการแก้ไขร่างกฎกระทรวง" นายอนุทินกล่าว


นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนการเตรียมพร้อมบำบัดดูแลรักษาพยาบาลเป็นภารกิจของ สธ.อยู่แล้ว จะแก้หรือไม่แก้ร่างกฎกระทรวง ทุกวันนี้ก็มีคนเสพเท่านี้ ไม่ว่าจะ 1 เม็ด 5 เม็ด 15 เม็ด คนจะเสพก็เสพ เราก็พยายามจะให้มีสถานบำบัด มี รพ.ดูแล และเพิ่มจิตแพทย์บุคลากรที่สามารถปรับปรุงพฤติกรรมของผู้เสพยาเสพติดให้รับทราบถึงโทษของการเป็นผู้ติดยาว่าเป็นอย่างไร เรามองเรื่องระยะยาวมากกว่าการมารักษาแบบผู้ป่วยเท่านั้น เพราะผู้ป่วยรักษาหายก็ไปเสพต่อ จึงต้องมีการให้ความรู้ เข้าใจถึงโทษที่ได้รับ โอกาสในชีวิตที่จะสูญเสียไป อันตรายต่อสุขภาพหากเป็นผู้ติดยาเสพติด สำหรับร่างกฎกระทรวงเรื่องปริมาณการครอบครองจะมีการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับกฎหมายมากที่สุด ถ้าพร้อมก็ผ่านมาทางปลัด สธ. เสนอมาเมื่อไร ตนก็พร้อมเสนอบรรจุให้ ครม.พิจารณา ซึ่งในร่างไม่ได้มีกำหนดในบทลงโทษ แต่หากทำผิดกฎหมายนี้ก็จะต้องไปดูประมวลกฎหมายอาญาเรื่องยาเสพติด

"จากการหารือกับรองเลขาธิการ ป.ป.ส.และตำรวจ ท่านก็ไม่ได้มีความกังวลอะไร เพราะอย่างไรก็ต้องใช้คำว่าสันนิษฐาน ซึ่งดูจากพฤติกรรม หากมีพฤติกรรมติดยาเฉยๆ ไม่ได้ค้าก็ต้องไปบำบัด ถ้าไม่ถือครองเกินจะเน้นเรื่องการบำบัดรักษา และดูพฤติกรรมที่ผ่านมา ซึ่งในหลักของทางตำรวจและ ป.ป.ส.ก็จะมีหลักการในการไต่สวนสอบสวนอยู่แล้ว ส่วนนี้ สธ.ก็ต้องเชื่อในมาตรฐานของผู้บังคับใช้กฎหมาย" นายอนุทินกล่าว

นายอนุทินกล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ขับเคลื่อนป้องกัน ปราบปราม บำบัด รักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และกรมราชทัณฑ์ขอสนับสนุนบุคลากรช่วยบำบัดผู้ป่วยที่ต้องขัง ซึ่ง 80% ของผู้ต้องขังมีประวัติผู้ใช้ผู้เสพยา ถ้า สธ.จะสนับสนุนบุคลากรบำบัดผู้ป่วยในที่คุมขังจะช่วยแบ่งเบาภารกิจมากขึ้น จึงให้กรมสุขภาพจิตที่ได้รับอนุมัติงบกลาง มีโครงการผลิตจิตแพทย์มากขึ้น จะดำเนินการให้สอดคล้องกับการร้องขอของกรมราชทัณฑ์


กำลังโหลดความคิดเห็น