ปลัด สธ. แจงข้อดีกำหนดยาบ้าเกิน 1 เม็ด เป็นผู้ค้า ป้องกันไม่ให้คนเข้าถึงยาเสพติด เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ สธ.พรุ่งนี้ ชี้ ให้อำนาจตำรวจฟันว่าเป็นผู้ค้า หรือผู้เสพ ดูที่การครอบครองและพฤติการณ์
วันนี้ (1 ก.พ.) นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคณะกรรมการป้องกับและปราบปรามยาเสพติด ป.ป.ส. ครั้งที่ 1/2566 โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในที่ประชุมวันนี้ ไม่ได้มีการหารือประเด็นที่กำหนดให้การครอบครองยาบ้าเกิน 1 เม็ด เป็นผู้ค้า แต่นายวิษณุได้มอบหมายให้ตนมาชี้แจงกับสื่อมวลชน เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจอยู่ ว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว เป็นอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 107 ของประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ให้อำนาจ รมว.สาธารณสุข ในการออกร่างกฎกระทรวง หลักการก็คือว่า มีอยู่ 2 ส่วน คือ เวลาที่พบผู้มียาเสพติดในครอบครองก็ต้องแยกว่า เป็นผู้เสพ ผู้ใช้ หรือผู้ติด หรือเป็นผู้ที่ค้า ซึ่งผู้ที่ค้าเป็นที่ทราบกันว่า จะมีโทษรุนแรง ตรงนี้กฎหมายกำหนดวิธีการไว้ 2 ส่วน คือ 1. ให้ดูตามจำนวนเม็ด ซึ่งตรงนี้เป็นอำนาจของรมว.สาธารณสุขในการกำหนด 2. คือ ต้องดูพฤติกรรมประกอบด้วย ซึ่งตรงพฤติกรรมนี้จะเป็นแนวทางที่รมว.ยุติธรรมเป็นคนกำหนด
สำหรับจำนวนเม็ด กฎหมายหลายฉบับเขียนไว้ไม่เป็นตัวเลขเดียวกัน บางกฏหมายเขียน 5 เม็ด บางกฎหมายเขียน 15 เม็ด ซึ่งเมื่อมีร่างประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่ต้องมาทบทวนอีกทีว่าเป็นอย่างไร โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้ประชุมคณะกรรมการบำบัดและรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ตั้งแต่เดือน ต.ค. และมีคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ประชุมตั้งแต่เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา และมีประชุมคณะกรรมการด้านการแพทย์ ร่วมกันระหว่างกรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ มีข้อสรุปที่เห็นตรงกัน ว่า การมียาเสพติด เดิมที่กำหนดไว้ว่ากี่เม็ด ก็เลยทำให้ผู้ค้านำไปเป็นจุดอ่อน บางคนเป็นผู้ค้า พกไป 4 เม็ด ก็อ้างไปว่าเป็นผู้เสพ อย่างนี้เป็นต้น ก็เลยเกิดปัญหา ว่าเราจะกำหนดกี่เม็ด เราก็ไม่สามารถป้องกันหรือควบคุมให้กับประชาชนปลอดภัยในยาเสพติดได้ ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่า น่าจะกำหนดปริมาณที่ค่อนข้างต่ำ คือ ตอนนี้จะกำหนดไว้เป็น 1 เม็ด อย่างไรก็ตาม จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการของกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งในวันพรุ่งนี้
ทั้งนี้ ข้อดีของการกำหนดไว้ไม่เกิน 1 เม็ด คือ ทำให้ประชาชนเกิดความระมัดระวัง และเห็นว่า ยาเสพติดนั้นอันตราย ยาเสพติดอันตรายและไม่เสพ และอีกข้อคือ ทำให้เราสามารถมีผู้ที่ติดยาเสพติดเข้าสู่การบำบัดรักษาได้ง่ายขึ้น ซึ่งการบำบัดรักษาแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ สีแดง ผู้ที่ติดรุนแรง จะต้องดูแลโดยสถานพยาบาลเฉพาะทาง กลุ่มสีเหลือง เป็นผู้เสพที่มีอาการปานกลาง ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้เปิดครบทุกจังหวัดแล้ว และกลุ่มผู้เสพที่มีอาการน้อย ที่เรียกว่า ผู้ใช้ จะได้รับการดูแลในศูนย์บำบัดระดับชุมชน เพราะฉะนั้นการกำหนดยาเสพติดที่เป็นจำนวนน้อย จะทำให้ คนเข้าถึงบริการในเรื่องการดูแลรักษาได้ง่ายขึ้น และทำให้สังคมตะหนักว่า ไม่ควรมียาเสพติดเลย
ทั้งนี้ เมื่อไปกำหนดว่า มีจำนวนกี่เม็ดทำให้บางคนเข้าใจว่า มีกี่เม็ดก็ได้ตำรวจไม่จับ อยู่ในชุมชน อันนี้ก็เป็นการสื่อความหมายถึงสังคมให้ระมัดระวัง และป้องกันไม่ให้เข้าถึงยาเสพติด
ส่วนเรื่องบำบัดรักษา ยืนยันว่า ไม่มีปัญหา ไม่มีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล เพราะจะกระจายการรักษาผู้ป่วยอาการน้อยไประดับชุมชน
ทั้งนี้ นพ.โอภาส กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้พิจารณาว่า จะเป็นผู้เสพและผู้ค้า ซึ่งต้องดูทั้งสองส่วน ว่า ทั้งจำนวนการครอบครองและพฤติการณ์ ส่วนที่สังคมกังวลว่า จะมีการยัดยาเสพติดนั้น ก็ต้องช่วยกันสอดส่อง และเชื่อว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีวิธีปฏิบัติที่ระมัดระวังอยู่แล้ว
ส่วนความกังวลว่าลดจำนวนเม็ดลง จะทำให้ห้องขังเพียงพอหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในส่วนกระทรวงสาธารณสุข คำนึงว่า มีจำนวนครอบครองยาเสพติดเท่าไร ถึงจะกระทบกับกับประชาชนและสังคม ส่วนเมื่อประชุมคณะกรรมการของกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบแล้วนั้น จะเสนอเข้าสู่ประชุม ครม.เลยหรือไม่นั้น ขอให้ถาม รมว.สาธารณสุข และดูการประชุมในวันพรุ่งนี้ก่อน