"อนุทิน" ยันชงแก้กฎกระทรวงถือครองยาบ้าเกิน 1 เม็ดเป็นผู้ค้า มาจากมติ คกก.บำบัดฯ ไม่ใช่นโยบายคนใดคนหนึ่ง จ่อลงนามหลังประชุมสรุปร่างในวันพรุ่งนี้ ย้ำช่วยลดเลี่ยงบาลีฉวยอ้างผู้ค้าเป็นผู้เสพ ลดจำนวนผู้ค้า อย่าอ้างคุก-เตียงไม่พอแล้วไม่ปราม ย้ำต้องปรามมากที่สุด เพิ่มบังคับใช้กฎหมายให้รุนแรง
เมื่อวันที่ 1 ก.พ. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขกฎกระทรวงการถือครองยาบ้า ว่า วันนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. ได้เตรียมข้อมูลเป็นตัวแทนตนในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (บอร์ด ป.ป.ส.) เพื่อหารือชี้แจงเรื่องการถือครองยาเสพติดหรือย้าบ้าเกิน 1 เม็ดเป็นตันไป ถือเป็นผู้จำหน่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ สธ.ประชุมร่วมกับคณะกรรมการบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดที่ สธ.ได้ประชุมมา 2-3 เดือนแล้ว มีการรวบรวมข้อมูลและเหตุผลต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการบำบัดฯ มีมติเห็นชอบให้มีการแก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องการถือครองยาเสพติดหรือยาบ้า ไม่ใช่นโยบายของคนใดคนหนึ่ง และจะประชุมคณะกรรมการบำบัดฯ อีกครั้งวันที่ 2 ก.พ.นี้ เพื่อสรุปร่างกฎกระทรวงที่จะให้ รมว.สธ.ลงนาม เพื่อเสนอสู่การพิจารณาของ ครม.ต่อไป
เมื่อถามถึงเหตุของการปรับแก้ไขกฎกระทรวง และการที่กำหนดตัวเลข 1 เม็ด จะส่งผลต่อคุณภาพการบำบัดรักษาหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า คณะกรรมการบำบัดฯ ห่วงใย ไม่ต้องการให้มีการเลี่ยงบาลีในการดำเนินคดีกับผู้ครอบครองผู้ค้ายาบ้า ซึ่งที่ผ่านมาเราลดจาก 15 เม็ดเหลือ 5 เม็ดเป็นผู้ค้า ก็ยังมีการใช้วิธีหมุนเวียน แต่พอมาเหลือ 1 เม็ดคนก็มองว่าไม่คุ้ม น่าจะเป็นการลดจำนวนผู้จะฉวยโอกาสไปค้ายาบ้า โดยหลอกใช้เยาวชน ส่วนเรื่องกฎหมายไม่ต้องกังวลอะไร เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงไว้ซึ่งดุลยพินิจในการดูเจตนารมณ์ ดูพฤติกรรม และสามารถสันนิษฐานได้ว่าคนนี้ค้า คนนี้เสพ
"ถ้าพฤติกรรมไม่มีการค้า เป็นการเสพแต่ต้องไม่เกิน 1 เม็ด ก็นำตัวไปบำบัด ถ้ามีพฤติกรรมค้าต่อให้มี 1 เม็ด ไม่จำเป้นต้องมี 15 เม็ดหรือ 5 เม็ด ก็จะใช้กฎหมายในการดำเนินคดีต่อไป ต้องแยกให้ถูก เราต้องไม่อ้างว่าเดี๋ยวคุกไม่พอขัง เดี๋ยวเตียงพยาบาลไม่พอบำบัด เลยไม่ป้องปราม เราต้องปรามไม่ให้มีโอกาสในการค้ายาเสพติดยาบ้าให้มากที่สุด ให้คนไม่เข้าถึง ให้คนหลีกไกลยาเสพติด เพิ่มการบังคับใช้ทางกฎหมายให้มีความรุนแรง ด้วยความหวังว่าการกระจายของยาบ้าจะลดลง ส่วนการบังคับใช้กฎหมาย ผู้ที่เป็นเจ้าพนักงานก็ต้องใช้กฎหมายอย่างเต็มที่อยู่แล้ว" นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนแผนการเตรียมรองรับบำบัดผู้ติดยาเสพติด สธ.มีแผนและเตรียมความพร้อม โดยมอบกรมการแพทย์ดูแลเรื่องสถานที่บำบัด รวมถึงกรมสุขภาพจิตก็จะเข้ามาร่วมด้วยโดยเฉพาะเรื่องการบำบัดในชุมชน ซึ่งการอนุมัติงบประมาณ 5 ปีผลิตจิตแพทย์เพิ่มก็จะนำมารองรับแผนบำบัดยาเสพติดด้วย
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระบวนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด 1 คน ใช้ระยะเวลา 3 เดือน ยอมรับว่าการบำบัดรักษามีบางคนไม่ได้หายขาดแบบ 100% บางคนก็วนเวียน กลับเข้าสู่วังวนยาเสพติดอีก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชน เพราะสภาพแวดล้อมเดิมๆ ทำให้เกิดการใช้ยาอีกครั้ง โดยพบว่า เยาวชนที่มีการเข้าบำบัดรักษาอายุเฉลี่ย 18-24 ปี และกลุ่มวัยแรงงาน ซึ่งการบำบัดที่ผ่านมา ก่อนช่วงโควิดมี 4-5 แสนคน แต่ในสถานการณ์โควิด เหลือคนเข้าบำบัดรักษา 1.75 แสนคน หลังจากมีแนวนโยบายปรับแก้การยึดครองยาเสพติด เพื่อเข้าบำบัดรักษา จะทำให้ รพ.ระดับจังหวัดเปิดวอร์ดรักษาทางจิตเวชและยาเสพติด ให้กระบวนการบำบัดรักษาไม่ได้มีแค่สถาบันบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี และศูนย์บำบัดรักษาของกรมการแพทย์อีก 7 แห่งเท่านั้น