รองนายกฯ รายงาน ได้เขตเลือกตั้งเสร็จหลัง 28 ก.พ. ตั้งแต่ 1 มี.ค.ยุบสภาได้ ด้าน เลขาฯ ครม. แจ้ง “ประธานชวน” ขอพรรคร่วม แบ่งเวรอภิปรายกันสภาล่ม จะได้รับผิดชอบถูกตัว
วันนี้ (31 ม.ค.) รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการ ครม.ได้รายงานวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ที่ประชุมรับทราบว่า จะมีการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 ระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ. ระยะเวลา 32 ชั่วโมง แบ่งเป็นของพรรคร่วมรัฐบาลและ ครม. 8 ชั่วโมง และฝ่ายค้าน 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ เลขาธิการ ครม.ยังรายงานอีกว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ได้ประสานมาว่า อยากให้ขอความร่วมมือให้เข้าประชุม เพื่อให้องค์ประชุมสภาครบ ขอให้ช่วยกัน อาจจะมีการแบ่งเวรให้แต่ละพรรครับผิดชอบช่วงเวลา หากพรรคไหนไม่มาแล้วทำสภาล่ม พรรคนั้นจะได้รับผิดชอบไป
ขณะเดียวกัน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ยังได้แจ้งให้ที่ประชุม ครม.ทราบว่า จะมีญัตติของฝ่ายค้านเกี่ยวกับกรณี น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงศ์ หรือ แบม ผู้ต้องคดีมาตรา 112 ที่อดอาหาร พร้อมกับเล่าให้ที่ประชุมฟังว่า 2 คนนี้ อดอาหารแบบมีโอกาสเสียชีวิตจริงๆ ไม่รับประทานอาหารเลย ไม่ใช่อดอาหารแต่เพียงหน้าสื่อเท่านั้น เกรงว่าจะเสียชีวิต จึงส่งไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ขณะที่เรื่องเงื่อนไขการประกันตัวนั้น เป็นเรื่องของศาล ไม่ได้อยู่ที่หน้าที่เรา
นอกจากนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานไทม์ไลน์การเลือกตั้งให้ที่ประชุม ครม.ทราบว่า ในสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ. จะมีประกาศออกมา 4 ฉบับ ได้แก่ เรื่องจำนวน ส.ส. วิธีแบ่งเขตเลือกตั้ง การทำไพรมารีโหวต และการตั้งสาขาหรือตัวแทนประจำจังหวัด
นายวิษณุ ยังระบุอีกว่า กกต.ได้แจ้งว่า ถ้าเรายุบสภาช่วงนี้ คงทำไม่ได้ เพราะ ส.ส.ไม่ทราบว่าตัวเองจะต้องลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตไหน เนื่องจากยังไม่มีการแบ่งเขตเลือกตั้ง กกต.เลยขอว่า อย่าเพิ่งยุบสภาในช่วงนี้ กว่าจะได้เขตเลือกตั้งต้องหลังวันที่ 28 ก.พ. เพราะมันต้องใช้ระยะเวลา มีขั้นตอนของจังหวัด
แต่ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. จะเป็นเรื่องของรัฐบาลว่าจะยุบสภาเมื่อไหร่ เพียงแต่ต้องคำนึงถึงสิ่งที่ กกต.ระบุมาด้วย นอกจากนี้ กกต.ยังแจ้งว่าจะรวบรวมกฎหมายวิธีการหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้รถหลวง ผู้ติดตาม ประมวลให้อยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกันมาให้ทั้งหมด